ไม่ระเบิด! ‘แบตเตอรี่สังกะสีไอออน’ นวัตกรรมปลอดภัย ลดโลหะหนักรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม


เพิ่มเพื่อน    

แบตเตอรี่สังกะสีไอออน

 

 

 

       วันที่ 21 เม.ย. ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดสัมมนาช่องทางออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac ในหัวข้อนวัตกรรมแบตเตอรี่ปลอดภัยทางเลือกใหม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อพัฒนา แบตเตอรี่สังกะสีไอออนแบตเตอรี่ทางเลือกใหม่ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

 ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ และ ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม

 

     ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สวทช. กล่าวว่า ทุกวันนี้แบตเตอรี่ที่นิยมใช้เชิงพาณิชย์ คือ แบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออน เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บพลังงานสูงที่สุดเมื่อเทียบต่อน้ำหนักของแบตเตอรี่ เหมาะต่อการใช้งานกับอุปกรณ์ที่ต้องเคลื่อนย้ายพกพาได้สะดวก แต่ยังมีข้อจำกัดคือปัญหาด้านความปลอดภัย เนื่องจากการผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้ใช้อิเล็กโทรไลต์อินทรีย์ ซึ่งเป็นพิษและไวไฟ สามารถระเบิดได้ นอกจากนี้ แบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออนยังมีส่วนผสมของโลหะหนัก ปัจจุบันใช้วิธีกำจัดด้วยการฝังกลบ แต่หากมีการใช้จำนวนมาก ย่อมมีโอกาสเกิดการรั่วไหลของสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมได้

      “ ไม่เพียงปัญหาด้านความปลอดภัย การพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบลิเทียมในประเทศไทยยังต้องอาศัยการพึ่งพาต่างประเทศเป็นหลัก เพราะประเทศไทยไม่มีแหล่งผลิตแร่ลิเทียม ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ขณะเดียวกันทรัพยากรแร่ลิเทียมยังเป็นแร่หายาก หากมีความต้องการใช้ในปริมาณมากเพื่อสร้างระบบกักเก็บไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รวมถึงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า อาจจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลน และเกิดการขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากรในอนาคต”ดร.ศิวรักษ์ กล่าว 

 

 

    ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยศูนย์ NSD สวทช. กล่าวว่า แบตเตอรี่สังกะสีไอออนที่ทีมวิจัยศูนย์ NSD ร่วมกันพัฒนานั้น ได้นำเทคโนโลยีกราฟีนเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บประจุของแบตเตอรี่ มีค่าการเก็บประจุสูงถึง 180-200 mAh/g และมีค่าความหนาแน่นพลังงานอยู่ในช่วง 180-200 Wh/kg ให้ค่าแรงดันได้ 1.2–1.4 โวลต์ สามารถใช้งานได้ยาวนานกว่า 1,000 รอบ มีประสิทธิภาพด้านความหนาแน่นพลังงานสูงกว่าแบตเตอรี่ตะกั่วกรด และสามารถเทียบเคียงกับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนบางชนิดได้

      " แบตเตอรี่สังกะสีไอออนยังมีจุดเด่นในหลายด้าน เช่น ด้านราคา ด้านความปลอดภัย และด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากวัตถุดิบสังกะสีมีราคาถูกและมีปริมาณมากในธรรมชาติ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยสูง คือไม่ติดไฟและไม่ระเบิดแม้ถูกเจาะ ทั้งยังให้สมรรถนะที่ดี ที่สำคัญไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถนำมารีไซเคิลได้ สำหรับแนวทางการนำไปใช้งาน เช่น ระบบกักเก็บพลังงานแบบอยู่กับที่แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย สถานีวิทยุสื่อสารทหาร รถไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า หรือสถานที่ที่ต้องการความปลอดภัยสูง อาทิ แท่นขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น " นักวิจัยศูนย์ NSD สวทช.กล่าว 

      ดร.ศิวรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยศักยภาพของแบตเตอรี่สังกะสีไอออนทั้งประสิทธิภาพ ราคา และความปลอดภัย ทำให้มีการตั้งเป้าพัฒนาสู่แบตเตอรี่สมรรถนะสูงจึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่่ให้แก่ประเทศ โดยแบตเตอรี่สังกะสีไอออนที่ศูนย์ NSD วิจัยพัฒนาขึ้นมามีประสิทธิภาพที่ไม่ได้ด้อยกว่าแบตเตอรี่แบบลิเทียมที่ใช้กันอยู่ปัจจุบัน อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญประเทศไทยมีแหล่งสำรองแร่สังกะสี จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ทางด้านการผลิตแบตเตอรี่สังกะสีแบบปลอดภัยได้เองในประเทศ ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมของประเทศด้วย

      “ ขณะนี้ สวทช. ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม จัดตั้งและดำเนินการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ล้ำสมัย ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคง เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการวิจัย และเป็นศูนย์กลางในเครือข่ายงานวิจัยนวัตกรรมแบตเตอรี่ ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศ อีกทั้งยังมีการจัดทำ โครงการศึกษาความเป็นไปได้การลงทุนจัดตั้งโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่สังกะสีไอออนในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากแหล่งทุน กฟผ.-สวทช. เพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาและผลักดันเทคโนโลยีแบตเตอรี่สังกะสีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และมีแผนจัดสร้างโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่สังกะสีไอออน ที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi (Eastern Economic Corridor of Innovation) ซึ่งตั้งอยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยองในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่จะสร้างทั้งรายได้ ความมั่นคงทางพลังงาน รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศ” ดร.ศิวรักษ์ กล่าว

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"