การปรับลดการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไทยโดยธนาคารโลกในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คาดว่า ปี 2564 จะขยายตัว 3.4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ขยายตัว 4% โดยระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะกลับมาฟื้นฟูไปถึงระดับก่อนช่วงโควิด-19 ระบาดได้ในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งการคาดการณ์นี้มีขึ้นก่อนที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือนมีนาคมและยังต่อเนื่องมาในเดือนเมษายน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องไป จนถึงวันนี้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละวันยังอยู่ที่ระดับมากกว่า 1,000 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยสะสมสูงถึงระดับมากกว่า 40,000 ราย และแนวโน้มสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย โดยยังไม่มีความแน่นอนว่า การควบคุมการระบาดระลอกใหม่นี้จะใช้ระยะเวลานานเท่าใด กอปรกับความท้าทายสำคัญของไทยประการหนึ่งที่ยังไม่มีความชัดเจนนัก คือ การจัดหาวัคซีนและการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง เพื่อให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” (Herd Immunity) และยับยั้งการแพร่ระบาดได้ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลายและกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับกลุ่มคนต่าง ๆ ไม่เท่ากัน โดยกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมาก คือ คนยากจน กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระและธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) เนื่องจากเข้าถึงบริการทางเศรษฐกิจและสังคมไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการและแรงงานในภาคบริการซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้หญิงจะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะอุตสาหกรรมบริการได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ แม้ว่าจะมีการใช้มาตรการช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน หรือ การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อประคองสถานะทางการเงินและเสริมสภาพคล่อง แต่ผลการดำเนินการเบิกจ่ายเงินกู้ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากสถานการณ์ที่อุปสงค์ลดลงอย่างมาก ทำให้ธุรกิจชาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ต้องหยุดกิจการ แม้ว่าจะมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นมาตรการรองรับก็จะไม่สามารถช่วยประคองและนำเงินทุนไปต่อยอดการดำเนินกิจการได้ ตราบใดที่อุปสงค์จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่กลับมาที่ระดับเดิมที่เคยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยถึงกว่า 40 ล้านคนในปี 2562 และสร้างรายได้เป็นสัดส่วนกว่า 13-15% ของ GDP
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในวงกว้างเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นมาตรการที่รัฐบาลยังพิจารณาดำเนินการต่อ และต้องคำนึงถึงประสิทธิผลของมาตรการอย่างรอบคอบ แต่ต้องให้ความสำคัญกับการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเฉพาะเจาะจงสำหรับกลุ่มคนหรืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบและมีความสามารถในการฟื้นตัวไม่เท่ากัน เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือให้แก่กลุ่มประชาชนที่มีความจำเป็น อาทิ แรงงานตกงาน กลุ่มผู้สูงวัย และผู้ด้อยโอกาส แต่อย่างไรก็ดี การฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว ก็ต้องมีมาตรการที่เร่งดำเนินการเพื่อรองรับการฟื้นตัวและขยายตัวในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ คือ ทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นปัจจัยหลักในการฟื้นฟูและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนากำลังคนในการขับเคลื่อนประเทศไทยได้ดีนัก
ปัญหาหนึ่งของการพัฒนากำลังคนของไทยในช่วงที่ผ่านมา คือ ความไม่สอดคล้องของทักษะที่แรงงานมีและที่ตลาดแรงงานต้องการ ซึ่งเป็นปัญหาที่ชัดเจนมาตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่การปรับเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดยิ่งเร่งให้การเปลี่ยนแปลงเร็วยิ่งขึ้น จนทำให้ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว มีแรงงานที่ได้รับผลกระทบต้องตกงานหรือถูกลดชั่วโมงทำงาน อาจส่งผลให้ทักษะการทำงานบางอย่างหายไป หรือไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การพัฒนากำลังคนของประเทศจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว และต้องยกระดับทักษะแรงงานให้สูงขึ้น โดยเน้นทักษะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และมีความยึดหยุ่นและปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อสามารถปรับเปลี่ยนสู่ธุรกิจใหม่ หรือรูปแบบการทำงานในยุคใหม่ได้
ความท้าทายในการพัฒนากำลังคนของประเทศประการหนึ่ง คือ ระบบการศึกษาที่มุ่งพัฒนาหลักสูตรที่ใช้เวลาในการเรียนรู้นานและไม่เชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดแรงงานหรือผู้ใช้งานจริง ซึ่งความรู้อาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เมื่อจบการศึกษามาแล้วจึงอาจล้าสมัยและไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่แค่การให้ความรู้ แต่ต้องเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นควบคู่ไปด้วยเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนของภาคอุตสาหกรรมในโลกยุคปกติใหม่ ได้แก่ 1) การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้รู้จักการขวนขวายหาความรู้ใหม่และพร้อมเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และสามารถปรับตัวได้ทันเมื่อต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลง 2) การตั้งมั่นในเป้าหมาย เป็นทักษะที่เน้นให้การทำงานมุ่งผลสัมฤทธิ ควบคู่ไปกับการบริหารเวลาและทรัพยากรเพื่อการบรรลุเป้าหมาย 3) ทักษะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อช่วยยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพ แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพร้อมเรียนรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาทักษะด้านนี้ 4) ความคิดเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม การคิดเชิงออกแบบเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือออกแบบทางเลือกใหม่ 5) ความคิดเชิงวิพากษ์ การคิดในเชิงวิเคราะห์หลากหลายแง่มุม ควบคู่กับการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และพร้อมรับการวิพากษ์จากผู้อื่นเมื่อต้องทำงานร่วมกัน 6) การบริหารการเปลี่ยนแปลง มีความยึดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้เมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน และ 7) ความคิดเชิงบวก การทำความเข้าใจผู้อื่นก่อนจะคาดหวังให้ผู้อื่นเข้าใจเรา เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ยากลำบาก หรือต้องพบปะผู้คนที่มีความแตกต่างกัน จะทำให้สามารถจัดการกับสถานการณ์ได้ดีมากขึ้น นอกจากทักษะเพื่อการพัฒนากำลังแรงงานดังกล่าวแล้ว ยังมีทักษะพื้นฐานในการดำเนินชีวิตที่จำเป็นที่ควรจะต้องเร่งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น อาทิ ความรู้ทางการเงิน การรู้ทันภัยไซเบอร์ รู้ทันสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น
การพัฒนากำลังคนให้ทันต่อการพัฒนาประเทศในยุคที่ต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้าและความผันผวนที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น 1) ภาครัฐที่ต้องมีทิศทางของการพัฒนาที่ชัดเจนเพื่อการกำหนดเป้าหมายการพัฒนากำลังคนได้อย่างตรงกับความต้องการ ร่วมกับการมีนโยบายที่ชัดเจนในการที่จะขับเคลื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการดำเนินแผนงาน/โครงการที่สอดรับกับนโยบายการพัฒนากำลังคนอย่างเป็นรูปธรรม 2) การบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลด้านแรงงานและสถานศึกษาเพื่อจับคู่ตำแหน่งงานและทักษะระหว่างแรงงานกับความต้องการของตลาด และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแพลตฟอร์มเพื่อขยายผลในวงกว้าง ซึ่งในปัจจุบันมีการดำเนินการอยู่บ้าง แต่ยังต้องพัฒนาให้มีความครบถ้วนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลักสูตรที่พัฒนาในลักษณะตามความต้องการ (demand-driven) ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างมากจากภาคเอกชน 3) สถาบันการศึกษาทุกระดับต้องพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน พัฒนาครูผู้สอน จัดหาเครื่องมือ/เครื่องจักรที่ตรงตามความต้องการในการใช้งานจริงของภาคอุตสาหกรรม และเชื่อมโยงกับภาคเอกชนและอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรได้ตอบสนองกับความต้องการได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการมีบทบาทในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนทุกช่วงวัย ไม่ใช่แค่การเรียนรู้เพื่อปริญญา แต่ต้องเน้นให้คนทุกกลุ่มได้มีโอกาสในการพัฒนาผ่านหลักสูตรระยะสั้นที่สอดรับความต้องการเพิ่มมากขึ้น และ 4) กลุ่มคนในวัยทำงานและบุคคลที่จะเข้าสู่วัยทำงาน รวมถึงผู้สูงวัยที่ยังมีความต้องการทำงาน ต้องเล็งเห็นความสำคัญและยอมรับการพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นอยู่เสมอ เพื่อให้เป็นผู้ที่มีความพร้อมในการปรับเปลี่ยน และสามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้
ความท้าทายในการพัฒนากำลังคนเพื่อช่วยในการพัฒนาประเทศไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต เป็นเรื่องที่ใช้เวลา และต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยทุกภาคส่วนทั้งนายจ้าง แรงงาน ผู้ให้บริการพัฒนาทักษะ และหน่วยงานดำเนินนโยบาย ต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้.
คอลัมน์เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณดา จันทร์สม
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
[email protected]
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |