ดับเพิ่ม4โคม่า223! ติดเชื้อยังหลักพันเตือนตลาดพื้นที่เสี่ยง‘บิ๊กตู่’บี้เร่งฉีดวัคซีน


เพิ่มเพื่อน    

  ศบค.เปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังหลักพัน อยู่ที่ 1,441 ราย รวมสะสมแล้ว 45,185 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 ราย น่าห่วงมีผู้ป่วยอาการหนัก 223 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 55 ราย “หมอทวีศิลป์” เผยคลัสเตอร์สถานบันเทิงลามแล้ว 71 จังหวัด กทม.หนักสุด เตือน “ตลาด” ยังเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยง “ประยุทธ์” ขอโทษพูดเร็วไปบ้าง แต่ทำทุกอย่างเพื่อชาติ-ประชาชน พร้อมแจงยิบเรื่องวัคซีน-ยาฟาวิพิราเวียร์ ย้ำให้รักษาตัวที่บ้านเป็นทางเลือกสุดท้าย “สธ.” ฟุ้งเร่งฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ ภาพรวมเกิน 1 ล้านโดสในสัปดาห์นี้

    เมื่อวันอังคารที่ 20 เมษายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,443 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,441 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,328 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 113 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 45,185 ราย หายป่วยสะสม 28,958 ราย อยู่ระหว่างรักษา 16,119 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 223 ราย จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 55 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 4 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 108 ราย
สำหรับรายที่ 1 เป็นหญิงไทย อายุ 78 ปี อยู่ กทม. เป็นผู้ป่วยติดเตียง มีโรคความดันโลหิตสูง ไทรอยด์ พบติดเชื้อเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ไม่มีอาการ และเริ่มมีอาการวันที่ 12 เม.ย. กระทั่งเสียชีวิตวันที่ 17 เม.ย., รายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 78 ปี อยู่ กทม. มีอาชีพค้าขาย มีโรคประจำตัวเบาหวานและความดันโลหิตสูง มีอาการเมื่อวันที่ 11 เม.ย. จากนั้นผลตรวจยืนยันเป็นโควิด-19 ในวันที่ 15 เม.ย. และเสียชีวิตวันที่ 19 เม.ย., รายที่ 3 เป็นหญิงอินเดีย อายุ 86 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง มีโรคประจำตัวไทรอยด์ พบเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 18 เม.ย. และเสียชีวิตในวันเดียวกัน, รายที่ 4 เป็นชายไทย อายุ 30 ปี พักอาศัยใน กทม. มีโรคประจำตัวโรคอ้วน มีประวัติไปสถานบันเทิงย่านทองหล่อ มีอาการวันที่ 4 เม.ย. ผลตรวจยืนยันเป็นโควิด-19 ในวันที่ 9 เม.ย. มีอาการปอดอักเสบรุนแรง และอาการแย่ลง กระทั่งเสียชีวิตวันที่ 19 เม.ย.
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รายงานการแพร่ระบาดในระลอกใหม่นี้ พบข้อมูลผู้ป่วยยืนยันที่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง 71 จังหวัดแล้ว และถ้าดูข้อมูลผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 1-19 เม.ย. พบว่าผู้ติดเชื้อใน กทม.ที่เชื่อมโยงสถานบันเทิงมีถึง 1,583 ราย หรือคิดเป็น 40% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดใน กทม. ขณะที่จังหวัดอื่นๆ มี 3,104 ราย หรือคิดเป็น 25% ทั้งนี้ มีเพียง 6 จังหวัดที่ผู้ติดเชื้อไม่เชื่อมโยงสถานบันเทิง ได้แก่ ชัยนาท, ปัตตานี, นราธิวาส, ยะลา, สตูล และระนอง โดยจากการสอบสวนโรคผู้มีประวัติเชื่อมโยงกับสถานบันเทิงมีผู้ที่ให้ข้อมูล 73% และไม่ให้ข้อมูล 27% และหากจำแนกผู้ที่ติดเชื้อในกลุ้มก้อนนี้พบว่ามากที่สุดคือ นักเที่ยว รองลงมาคือ พนักงานในร้าน และยังพบอีกว่าผู้ติดเชื้อในกลุ่มก้อนนี้ 59.56% มีอาการ และไม่มีอาการ 40.44%
“การระบาดระลอกนี้แม้ส่วนใหญ่มาจากสถานบันเทิง แต่ที่ลืมไม่ได้คือการติดเชื้อในตลาดที่เป็นปัจจัยหลักก่อนหน้านี้ ล่าสุดทีมตระหนักรู้สถานการณ์ของกรมควบคุมโรคได้รับแจ้งว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 เป็นญาติของพนักงานร้านอาหารแห่งหนึ่งในตลาดกลางเพื่อการเกษตร จ.พระนครศรีอยุธยา เดินทางมาพื้นที่เสี่ยงใน กทม.ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. ทำให้ญาติรับเชื้อและพนักงานของร้านรับเชื้อรวมทั้งสิ้น 17 ราย และก่อนหน้านี้มีการตรวจหาเชื้อเชิงรุกในตลาดดังกล่าวไปแล้ว 742 ราย พบว่าติดเชื้อ 6 ราย ล่าสุดวันที่ 19 เม.ย. มีการตรวจ 594 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผล โดยกรมอนามัยได้ให้ผู้ประกอบการต่างๆ ทั่วประเทศทำใบประเมินตัวเองเพื่อประเมินความเสี่ยง ซึ่งจะรายงานผลให้ทราบต่อไป”
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก สธ.ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงการจัดการสถานที่รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.ว่าจะบูรณาการโรงพยาบาลในสังกัดของ สธ., กทม. และมหาวิทยาลัย เพื่อบริหารจัดการผู้ติดเชื้อ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ สีเขียว เป็นผู้ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย จะให้อยู่โรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทล สีเหลืองเป็นผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง แต่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีโรคประจำตัวคือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคเลือดสมอง เบาหวาน อ้วนเกิน 90 กิโลกรัม ตับแข็ง และภูมิคุ้มกันต่ำ รวมถึงผู้มีอายุเกิน 60 ปี สีแดง เป็นผู้ที่มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก ปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม การอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96% ความอิ่มตัวของเลือดลดลง 3% หลังจากออกแรง โดยสีเหลืองและสีแดงจะให้พักที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพรักษา โดยอธิบดีกรมการแพทย์ยืนยันว่าถ้ามีผู้ป่วยที่พบมาก่อนหน้านี้จะได้รับเตียง และหากมีเพิ่มขึ้นถึงวันละพันรายก็จะประสานหาเตียงให้ได้ต่อไป
     ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าวันนี้รัฐบาลได้มีการยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ เราจะพิจารณา 2 สัปดาห์นี้ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วว่ากราฟขึ้นหรือลงอย่างไร มันตกหรือไม่ตก จะกระเตื้องขึ้นหรือไม่ ก็เพียงแต่ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เรามีทั้งจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด และพื้นที่ควบคุมอีก 59 จังหวัด ซึ่งเรายกระดับมาตรการในวันที่ 18 เม.ย. ก็ได้มีการทำงานร่วมกันบูรณาการทุกหน่วยงาน ขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่มีส่วนในเรื่องของความร่วมมือด้วยความเข้าใจ ตอบสนองนโยบายภาครัฐที่ออกมาตามมาตรการต่างๆ  
    ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสโซเชียลโจมตีรัฐบาลกรณีอยากให้เปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตอบสนองท่านแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่ได้ทำมาตลอด ได้ให้ สธ.พิจารณาดำเนินการมาตลอด แต่ต้องการให้เกิดความชัดเจนเกิดขึ้น จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกคณะหนึ่งที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษา ศบค. เป็นประธาน ก็ได้หารือสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้รู้ทั้งหลายมาให้ข้อมูลตรงนี้ ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างไรให้ได้วัคซีนทางเลือกเข้ามา
“วันนี้ผมเร่งรัดใน ครม.ไปแล้ว ให้ทุกจังหวัด ให้ กทม. เร่งฉีดวัคซีนที่ได้รับไปให้เร็วที่สุด จำนวนมากที่สุดที่ได้ไปจนครบ และรัฐบาลก็เตรียมวัคซีนสำรองตรงนี้ไว้อีกด้วยในระยะต่อๆ ไปเพื่อให้ทั่วถึง เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้” นายกฯ กล่าว และว่า ที่ถามว่ารัฐบาลไม่เปิดทางให้เอกชน เป็นเรื่องการผูกขาดนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย คิดแต่เพียงว่าทำอย่างไรจะปลอดภัย ทำอย่างไรจัดหาได้ และในส่วนของการดำเนินการเราไม่สามารถไปซื้อเหมือนซื้อยาปกติทั่วไปได้ เพราะเป็นวัคซีนที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินในปัจจุบัน และบริษัทผู้ผลิตเอกชนนั้นไม่รับผิดชอบในกรณีที่เกิดผลกระทบหรือผลข้างเคียง
แจงยิบตัวเลขวัคซีน
 นายกฯ ยังกล่าวถึงการนำเข้าวัคซีนว่า ย้อนไปเดือน ก.พ. รวมเข้ามา 317,000 โดส แบ่งเป็นซิโนแวค 200,000 โดส และแอสตราเซเนกา 117,000 โดส เดือน มี.ค. ซิโนแวคเข้ามาอีก 800,000 แสนโดส เดือน เม.ย.ซิโนแวคเข้ามาอีก 1,000,000 โดส รวมเข้ามาแล้ว 2,117,000 โดส ตอนนี้ได้จัดแผนในการแจกจ่ายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพิ่มเติมมากขึ้นแล้ว และให้เร่งรัดการฉีดให้มากยิ่งขึ้น และในวันที่ 24 เม.ย. ซิโนแวคจะเข้ามาอีก 5 แสนโดส เดือน พ.ค.ซิโนแวคเข้ามาอีก 1 ล้านโดส แต่ในส่วนของ 1 ล้านโดสตรงนี้ต้องรอนโยบายของรัฐบาลจีนด้วย เพราะการนำออกจากประเทศจีน ต้องขออนุมัติรัฐบาลจีนก่อน ซึ่งเราหารือกันเป็นประจำอยู่แล้ว  ส่วนของแอสตราเซเนกาที่ผลิตในไทย จะเริ่มทยอยส่งตั้งแต่ในเดือน มิ.ย.ประมาณ 4-6 ล้านโดส และเพิ่มจำนวนตั้งแต่เดือน ก.ค.ไปจนถึงสิ้นปี 64 จนครบ 61 ล้านโดส เพราะฉะนั้นบวกกับที่เราจะจัดหาเพิ่มเติมเป็นวัคซีนทางเลือกก็คิดว่าน่าจะเพียงพอ และขณะนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติกำลังเจรจากับไฟเซอร์ประเทศอังกฤษ มีความเป็นไปได้ส่งให้ได้ช่วงเดือน ก.ค.ถึงสิ้นปี 2564 ประมาณ 5-10 ล้านโดส ขณะนี้กำลังรอใบเสนอราคาและเงื่อนไขอยู่ ซึ่งเรามีวัคซีนอีกหลายยี่ห้อด้วยกัน แต่ไม่อยากพูดไปล่วงหน้า เพราะอยู่ในขั้นตอนการติดต่ออยู่ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ
        พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงยาฟาวิพิราเวียร์ว่า หลายคนเข้าใจว่าเราขาดแคลน แต่รัฐบาลได้เตรียมแผนสำรองจัดหาไว้แล้ว ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ใช่ยาที่กินแล้วป้องกันโควิด-19 ส่วนวัคซีนก็เป็นวัคซีนที่สร้างภูมิต้านทานในตัวเราให้เข้มแข็งขึ้นและไม่ไปแพร่เชื้อให้คนอื่น แต่ก็ต้องใช้มาตรการเดิมที่มีอยู่คือการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือ โดยแผนจัดหายาฟาวิพิราเวียร์นั้น เดือน เม.ย.-พ.ค.จำนวน 2 ล้านเม็ด เดือน พ.ค.-มิ.ย.จำนวน 1 ล้านเม็ด เดือน มิ.ย.-ก.ค.จำนวน 5 แสนเม็ด ฉะนั้นเราจะสั่งซื้อยาฟาวิพิราเวียร์สำรองในสต๊อกจำนวน 3.5 ล้านเม็ดให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งวันนี้ยังมีพอสำหรับในขั้นต้นที่จะใช้ในการรักษาสต๊อกต่างๆ ที่เตรียมไว้ หากสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นก็ต้องเพิ่มไปอีก ฉะนั้นก็ต้องมีแผนเป็นขั้นตอน
    “เราต้องชนะไปด้วยกัน ชนะโควิด-19 ให้ได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคน หลายครั้งที่ผมพูดอาจพูดเร็วไปนิด เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องคิดก็ต้องขอโทษด้วย แต่งานในหน้าที่ของนายกฯ ผมก็จะทำให้ดีที่สุดด้วยความเข้าใจด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน อะไรที่ไม่ดีก็ต้องขอโทษ อะไรที่ดีก็ขอให้ร่วมมือนายกฯ นายกฯ ไม่เคยเป็นอื่น ยังคงยึดมั่นในหลักการของนายกฯ มาตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศของเราดีขึ้น ดีที่สุดในอนาคต” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าว พล.อ.ประยุทธ์ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ให้ความร่วมมือกับแพทย์ โดยเลือกสถานที่เข้ารับการรักษาไม่ขอไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนามว่า “ก็ขอความร่วมมือผู้ป่วยทุกคนด้วย”
รักษาที่บ้านทางเลือกสุดท้าย
    รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุม ครม.ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ประชุมได้หารือกันถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งให้จัดหาเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เรียบร้อย พร้อมให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรายงานมาทุกวันว่ามีการจัดหาเตียงอย่างไรและได้จำนวนเท่าไหร่ ส่วนเรื่องแนวคิดการรักษาตัวอยู่ที่บ้านนั้น พล.อ.ประยุทธ์เห็นว่า ยังไม่ใช่ตัวเลือก เพราะไทยยังมีเตียงรองรับได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนาม หรือฮอสพิเทล ดังนั้น การรักษาตัวอยู่ที่บ้านจึงเป็นตัวเลือกสุดท้าย สอดคล้องกับนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ที่รายงานว่า ขณะนี้เรามีศักยภาพเพียงพอในการรองรับผู้ป่วย การรักษาตัวอยู่ที่บ้านจึงเป็นช่องทางสุดท้ายในกรณีที่เราไม่มีเตียงแล้ว นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังได้กำชับเรื่องการกระจายวัคซีน ขอให้มีการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ดีๆ และกระจายให้ทั่วถึง เพราะตอนนี้ยังน้อยเกินไป ขอให้ฝ่ายที่รับผิดชอบไปทำให้ดี ไม่อย่างนั้นจะลงโทษ โดยขอให้เร่งฉีดตามกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้อย่างด่วนที่สุด โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งจะดูรายงานทุกวันว่ามีการฉีดไปเท่าไหร่ และเป็นไปตามแผนหรือไม่ ขณะเดียวกันยังย้ำกับที่ประชุมว่าจะไม่มีการเคอร์ฟิวหรือล็อกดาวน์             
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ยืนยันถึงยาฟาวิพิราเวียร์ว่า มีเพียงพอ สามารถบริหารจัดการได้ แม้ระหว่างนี้จะมีผู้ติดเชื้อและมีความต้องการใช้ยาเพิ่มขึ้น อัตราการใช้อยู่ที่กว่า 1 หมื่นเม็ดต่อวัน ก็มีการจัดหาเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 5 แสนเม็ด เพื่อให้มีสำรองตลอดเวลา และให้เกิดการหมุนเวียน จึงได้สั่งให้องค์การเภสัชกรรมจัดหามาเพิ่มอีก 1 ล้านเม็ด คาดว่าจะส่งมอบในเดือน เม.ย.
         ขณะที่นายสาธิตชี้แจงถึงแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาลและฮอสพิเทลว่า ใน 2 วันที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องเตียงได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบและทันท่วงที ปัจจุบันมีคู่สายแก้ไขเรื่องเตียง 4 คู่สาย ได้แก่ สายด่วน สปสช. 1330, สายด่วนกรมการแพทย์ 1668, สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 และสบายดีบอต ขณะนี้ได้เพิ่มเติมสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในความร่วมมือของอาสากู้ภัย เพื่อมาดูแลรถส่งผู้ป่วย ขณะนี้เรายังมีความพร้อมจัดหาเตียงรองรับผู้ติดเชื้อทุกกรณี ทั้งนี้ มีผู้ที่ไม่ประสงค์เข้ารับการรักษา 74 ราย ซึ่งวันนี้ขอย้ำว่าหลักการของ สธ.ผู้ติดเชื้อทุกรายต้องแอดมิททุกกรณี เข้าสู่การรักษาใน รพ. ฮอสพิเทล รพ.สนาม ตามเกณฑ์ความรุนแรงสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เพราะไม่มีใครรับประกันความรุนแรงของโรคได้
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์มีการติดเชื้อไปทั่วประเทศ มากกว่าครึ่งสามารถรับมือและควบคุมได้ มีประมาณ 20 จังหวัดที่ระบาดมาก ขอให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่อดทนและเสียสละ ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ เดิมเรามีประมาณ 6-7 แสนเม็ด ถือว่าเยอะ เนื่องจากขณะนั้นมีผู้ติดเชื้อน้อย แต่ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีการใช้ยาเพิ่มมากขึ้นไปอีก จากการใช้วันละไม่กี่เม็ด เพิ่มเป็นวันละ 2 หมื่นเม็ด ขณะนี้ได้สั่งซื้อยามาอีก 2 ล้านเม็ด เพื่อรองรับสถานการณ์แล้ว และสั่งซื้อยาฉีดเรมดิซีเวียร์เพิ่มเช่นกัน
สัปดาห์นี้ฉีดครบ 1 ล้านโดส
“เรื่องวัคซีนจำเป็นต้องปรับแผนการฉีดตามสถานการณ์ ซึ่งช่วงการระบาดความสำคัญอยู่ที่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าต้องได้รับวัคซีน 100% โดยในวันที่ 21 เม.ย.นี้ จะกระจายวัคซีนซิโนแวคล็อต 1 ล้านโดส เพื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าประมาณเกือบ 6 แสนโดส หรือประมาณ 3 แสนคน และเร่งรัดการฉีดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 25 เม.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้การฉีดวัคซีนภาพรวมของไทยเกิน 1 ล้านโดสภายในสัปดาห์นี้ และให้เร่งการฉีดวัคซีนทั้งเข็มแรกและเข็มที่สองในกลุ่มเสี่ยงในทุกจังหวัดด้วยเช่นกัน” นพ.เกียรติภูมิระบุ
วันเดียวกัน ยังคงมีความเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหลากหลายวงการ โดยล่าสุด นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง กล่าวยอมรับว่า ทีมงานทีอยู่หน้าห้องติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จริง แต่ไม่ได้ใกล้ชิดมาก เพราะอยู่คนละห้อง แต่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง จึงขอกักตัว 14 วัน และให้ทีมงานทุกคนกักตัวถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้ และให้เวิร์กฟรอมโฮม หากใครมีอาการก็ขอให้รีบแจ้งให้ทราบ เพื่อตรวจสอบและทำการรักษาต่อไป
    นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวยอมรับว่า มีเจ้าหน้าที่เทคนิคของสถานีวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา ติดเชื้อโควิด-19 จริง และได้มีคำสั่งให้ปิดสตูดิโอ 1 ของสถานีที่ตั้งอยู่ภายในซอยอารีย์สัมพันธ์แล้ว พร้อมทั้งทำการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดสตูดิโอดังกล่าว
    ส่วนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ของบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 คน ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระบบไฟฟ้าและกล้องวงจรปิด ซึ่งนางพรพิศได้รายงานแล้ว ซึ่งพบว่าเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 คนส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ามาปฏิบัติภายในตัวอาคารรัฐสภา
    ส่วน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กล่าวว่า วันนี้มีตำรวจในสังกัดติดเพิ่มอีก 1 คน ทำให้มียอดสะสมรวม 140 คน  รักษาหาย 7 คน พ้นการกักตัว 1 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ระหว่างการกักตัว 489 คน แต่ยืนยันว่าตำรวจนครบาลสามารถบริหารจัดการดูแลประชาชนได้
    พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. ได้มีวิทยุในราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 17 เม.ย.ถึง ผบช. หรือตำแหน่งเทียบเท่า ผบก.ในสังกัด สง.ผบ.ตร. ออกข้อกำหนดเพื่อยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ ให้ทุกหน่วยศึกษาทำความเข้าใจข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, การออกตรวจพื้นที่ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจ เพื่อระงับยับยั้งการมั่วสุม หรือการจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด, ให้ชะลอการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์และจุดกวดขันวินัยการจราจร โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุด, ให้งดจัดกิจกรรมทางสังคมในลักษณะที่เป็นงานเลี้ยงสังสรรค์ และพิจารณาปรับรูปแบบการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจในสังกัด โดยอาจปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง การสลับวันทำงาน หรือวิธีอื่นใดที่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"