เร่งกดผู้ติดเชื้อเฟส 3 ยิ่งยืดเยื้อยิ่งยุ่งยาก


เพิ่มเพื่อน    

 

      เหมือนการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มจะทรงตัว หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่หลายวันมานี้อยู่ที่หลักพันเศษๆ ยังไม่แตะเพดานไปถึง 2,000 ราย

            ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เชื่อว่าที่ตัวเลขเริ่มหัวทิ่มลงหลังจากพุ่งแหลมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการของ ศบค.ที่ให้ลดการเคลื่อนย้ายประชาชน ลดการเดินทางข้ามจังหวัด ปิดกิจการ/กิจกรรมบางประเภทชั่วคราว และการทำงานที่บ้าน  หรือเวิร์กฟรอมโฮม

            แต่ยังเน้นย้ำประชาชนให้ตั้งการ์ดสูงเอาไว้ เพราะเมื่อไหร่ที่ไม่ได้รับความร่วมมือตัวเลขมีโอกาสทะยานขึ้นสูงได้อีก เพราะสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ

            แต่อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เริ่มทรงตัวและลดลงนิดหน่อย ที่ ศบค.ระบุว่าเป็นผลมาจากมาตรการเข้มนั้น ยังชี้วัดไม่ได้เสียทีเดียวว่าเกิดจากมาตรการเที่ยวล่าสุด  เพราะเพิ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 เมษายน หรือเพิ่งบังคับใช้ได้ไม่กี่วันเท่านั้น 

            ได้ผลหรือไม่ได้ผลน่าจะอยู่ที่ 14 วันหลังบังคับใช้มาตรการแล้ว เพราะผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มีการรายงานจาก ศบค.ในช่วงนี้ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อเมื่อ 14 วันก่อนหน้า

            ส่วนมาตรการของ ศบค.เริ่มต้นหลังสงกรานต์ ที่ประชาชนทยอยกลับจากภูมิลำเนาเพื่อเข้ามาทำงาน ดังนั้น  14 วันหลังจากนี้คือของจริง ที่เป็นตัวบ่งชี้ว่ามาตรการของ  ศบค.เข้มขลังหรือไม่

            ซึ่งแนวโน้มมีโอกาสที่ตัวเลขจะลดลง เพราะนอกจากมาตรการของรัฐแล้ว ต้องยอมรับว่าประชาชนเองค่อนข้างให้ความร่วมมือดี ส่วนหนึ่งเพราะเริ่มหวั่นวิตกกับการแพร่ระบาดที่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ อีกทั้งได้ฟังข่าวคราวเกี่ยวกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานหนัก เพราะหลายคนติดเชื้อโควิด-19 และต้องกักตัว 14 วัน ตลอดจนเรื่องการบริหารจัดการเตียงและสภาพความเป็นอยู่ของโรงพยาบาลสนาม ทำให้ทุกคนพากันยกการ์ดสูงไม่ต้องการติดเชื้อ

            ประกอบกับกิจการ/กิจกรรม ที่ถือเป็นจุดแพร่เชื้ออย่างสถานบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นผับ บาร์ คาราโอเกะ ถูกสั่งปิดชั่วคราว ช่วยลดการแพร่เชื้อแบบกลุ่มก้อนลงไป อย่างน้อยก็ทำให้เหลือแค่คลัสเตอร์เก่า ไม่เพิ่มคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมา 

            ความร่วมมือของประชาชนขณะนี้ถือว่าดีมาก แต่ขณะเดียวกันบทเรียนการใช้มาตรการเข้มที่ผ่านมาหลายๆ ครั้ง พิสูจน์ให้เห็นว่าช่วงแรกๆ ของมาตรการจะเป็นในลักษณะนี้  แต่เมื่อผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่งมักจะมีปัญหาใหม่ๆ ตามมา

            เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการของรัฐบาลที่ออกมา แม้จะไม่ได้มีการประกาศเคอร์ฟิวหรือล็อกดาวน์ เหมือนกับการแพร่ระบาดในรอบแรกเมื่อต้นปี 2563 แต่การปิดกิจการ/กิจกรรมบางประเภทเป็นการชั่วคราว มันส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง ดังนั้นยิ่งกินระยะเวลานาน คนเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ

            โดยเฉพาะบรรดาลูกจ้างของกิจการ/กิจกรรมต่างๆ ที่ถูกปิดเป็นการชั่วคราว จะขาดรายได้อย่างน้อย 14 วัน หากช่วงระยะเวลา 14 วัน หรือจนถึงสิ้นเดือนเมษายน สถานการณ์ไม่ได้เบาบางหรือยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อทรงๆ อยู่ที่หลักพัน และ ศบค.ต้องยืดมาตรการคุมเข้มออกไป ซึ่งอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านบางอย่างจากผู้ได้รับผลกระทบ

            นอกจากนี้ ศบค.ยังมีโจทย์ใหญ่ให้คิดล่วงหน้าคือ การเยียวยาบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดกิจการ/กิจกรรมเป็นการชั่วคราว ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการเยียวยาในทุกๆ รอบแตกต่างกันไป หากรอบนี้ไม่มีการเยียวยาย่อมต้องมีการเคลื่อนไหวจากผู้ได้รับผลกระทบแน่นอน

            โจทย์ที่ซับซ้อนกว่าคือ หากเยียวยาเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดกิจการ/กิจกรรม จะมีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบเป็นทางอ้อมจากการปิดกิจการ/กิจกรรมเหล่านี้เช่นกัน 

            อีกจุดคือเรื่องระบบการเยียวยา ที่ทุกๆ รอบจะเกิดปัญหาเดิมๆ ทุกครั้ง คือการคัดกรองคุณสมบัติ การลงทะเบียน ที่มักมีปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ ไม่สามารถเข้าหรืออยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับ ตรงนี้ก็จะเป็นบทพิสูจน์เช่นกันว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ถอดบทเรียนเอาไว้หรือไม่ 

            การที่ปัญหาเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยปกติรัฐย่อมเรียนรู้และแก้ไข หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในปัญหาเดิมๆ อีก รัฐย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะถูกโจมตีได้เพราะมีฐานข้อมูลประชาชนอยู่ในมือ

            การระบาดในระลอกปัจจุบัน หรือก่อนหน้านี้ที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง ถูกมองว่าเป็นความหละหลวมและปล่อยปละของรัฐบาล อารมณ์ผู้คนพลุ่งพล่านในเรื่องของการรับมือ อย่างน้อยการเยียวยาโดยรวดเร็วและตรงเป้าหมาย น่าจะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ลงไปได้

            ไม่เช่นนั้นนอกจากเรื่องความบกพร่องในการป้องกันการแพร่ระบาด หรือข้อสังเกตเรื่องการจัดหาวัคซีนล่าสุดที่ฝ่ายค้านหยิบมาโจมตีแล้ว รัฐบาลอาจจะต้องเจออีกปมให้รับมือคือ การเยียวยา.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"