อาเซียนเชิญ มิน อ่อง หล่าย เท่ากับทิ้ง อองซาน ซูจี?


เพิ่มเพื่อน    

      ผู้นำอาเซียนนัดประชุมนัดพิเศษกันในวันที่ 24  เมษายนนี้เพื่อถกประเด็น “วิกฤติเมียนมา”

            แรกๆ ที่มีข่าวนี้ กระทรวงการต่างประเทศไทยบอกว่า นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทยจะไปร่วมหรือไม่ยังไม่แน่

            แต่ต่อมาก็มีข่าวว่านายกฯ จะส่งคุณดอน ปรมัตถ์วินัย  รองนายกฯ และรัฐมนตรีการต่างประเทศไปแทน

            ที่แน่นอนคือ มิน อ่อง หล่าย ผู้นำทหารเมียนมาที่ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จนกลายเป็นวิกฤติของเมียนมาและเป็นเรื่องเป็นราวไปทั่วภูมิภาคและประชาคมโลกยืนยันว่าจะไปร่วม

            พอข่าวนี้ออกมา ฝ่ายของ “รัฐบาลแห่งชาติ” หรือ  National Unity Government (NUG) ที่อยู่คนละข้างกับฝ่ายกองทัพ ก็ประกาศเลยว่าทำไมอาเซียนจึงเชิญแต่มิน อ่อง หล่าย แต่ไม่เชิญตัวแทนจากฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร

            ที่ยืนยันจะไปประชุมที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียอีกคนหนึ่ง คือนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา

            น่าสังเกตว่า แหล่งข่าวที่ยืนยันว่าพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ของเมียนมาจะไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนั้น ไม่ได้มาจากกรุงเนปยีดอของเมียนมา

            แต่เป็นคำยืนยันจากกระทรวงการต่างประเทศไทยเอง

            และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทยกลับบอกไม่ได้ว่า นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทยจะไปร่วมหรือไม่

            "กำลังรอผลการพิจารณา" คือคำตอบที่รอคำถามที่ว่านายกฯ ไทยจะไปร่วมหรือไม่อยู่หลายวัน ถ้าผู้นำอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, กัมพูชาไปร่วมการปรึกษาหารือรอบสำคัญนี้ ผู้นำไทยคงไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่แสดงความกระตือรือร้น ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหาทางออกให้ “สมาชิกครอบครัวอาเซียน” อย่างเมียนมาแน่นอน

            นายกฯ ฮุน เซน บอกกับสื่อกัมพูชาว่า เขาไปร่วมวงแน่...และจะไปจาการ์ตาด้วยตนเอง

            ผู้นำเขมรจึงประกาศว่า เพราะเขาต้องไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ซึ่งเดิมจะฉีดวันที่ 29 เดือนนี้ แต่จะเลื่อนให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 20 นี้ เข็มแรกฉีดเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา

            ผู้นำเขมรฉีดวัคซีนที่ทำจากโรงงานของ Serum  Institute of India ของอินเดีย มีชื่อท้องถิ่นว่า Covishield

            หรือนายกฯ ประยุทธ์กำลังเตรียมฉีดวัคซีนเข็มที่สองเพื่อบินไปอินโดนีเซียเหมือนกัน?

            ฮุน เซน บอกด้วยว่า เขาจะบินไปเช้า เย็นกลับ

            นักข่าวถามคุณธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย ว่าตกลงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนจะทำกันในรูปแบบไหน ออนไลน์หรือออฟไลน์

            คำตอบคือยังบอกไม่ได้แน่ชัด ยังตรวจสอบอยู่

            ทำไมนายกฯ ไทยจึงดูลังเลเรื่องจะไปหรือไม่ไปร่วมประชุมครั้งสำคัญนี้ เป็นประเด็นที่ควรแก่การแสวงหาคำตอบอย่างยิ่ง

            เพราะวิกฤติเมียนมาท้าทายความสามารถของไทยและอาเซียนทั้งมวล ในการที่จะแสดงถึงศักยภาพที่จะหาทางออกจากสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง

            อีกทั้งยังท้าทายว่าอาเซียนมี "น้ำยา" เพียงใดในฐานะองค์กรภูมิภาคนี้ที่ยืนยาวมากว่า 50 ปี

            การที่ประธานอาเซียนปีนี้คือบรูไนเชิญมิน อ่อง หล่ายไปร่วมประชุม

            ขณะที่ อองซาน ซูจี ซึ่งเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา และพรรคของเธอได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดอย่างท่วมท้น ก่อนที่จะถูกมิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจ ด้วยการก่อรัฐประหารยังถูกคุมขังอยู่ สะท้อนว่าผู้นำอาเซียนอื่นๆ ยอมรับความชอบธรรมของรัฐประหารครั้งนี้ใช่หรือไม่

             การประชุมนัดพิเศษครั้งนี้จะสามารถเห็นพ้องไปทางใดทางหนึ่งเพื่อแก้ไขวิกฤติเมียนมาได้หรือไม่

            การประชุมครั้งนี้จะยิ่งสะท้อนถึงความแตกแยกของสมาชิกอาเซียนที่มีจุดยืนในประเด็นนี้ไปหลายทางมากขึ้นหรือไม่

            ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่รอคำตอบ...และคำตอบจะเป็นข้อพิสูจน์ที่ว่า อาเซียนจะรอดจากวิกฤติเมียนมาโดยที่ยังดำรงไว้ซึ่ง "ความเป็นครอบครัวเดียวกัน" และหลักการ  Centrality, Connectivity, Unity in Diversity ได้อย่างไร

            ที่แน่ๆ คือฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารของเมียนมา ได้ลุกขึ้นมาคัดค้านการที่อาเซียนเชิญมิน อ่อง หล่าย ไปร่วมประชุมครั้งนี้

            แต่ไม่มี อองซาน ซูจี

            เท่ากับอาเซียน “รับรองความชอบธรรม” ของการยึดอำนาจครั้งนี้

            จึงเกิด #ASEANrejectSAC ในทวิตเตอร์ที่ขึ้นเทรนดิงลำดับต้นๆ เพราะมีคนแชร์กันอย่างกว้างขวางขึ้นทันที

            SAC ก็คือ State Administration Council หรือสภาบริหารแห่งรัฐของฝ่ายกองทัพเมียนมา

            ขณะที่ CRPH (Committee Representing  Pyidaungsu Hluttaw) คือคณะกรรมการตัวแทนแห่งรัฐสภาเมียนมาของฝ่ายพรรค NLD

            และล่าสุดมี NUG (National Unity Government) หรือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติที่ตั้งเป็นรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติของฝ่ายตรงกันข้ามกับทหารในลักษณะ “รัฐบาลคู่ขนาน” ท้าทายความชอบธรรมของ SAC อย่างชัดเจน.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"