ยอดลดแต่วางใจไม่ได้ ติดเชื้อใหม่1,390ดับเพิ่ม3สธ.ปัดให้รักษาเองที่บ้าน


เพิ่มเพื่อน    

 ศบค.พบติดเชื้อใหม่ 1,390 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย ชี้ยอดลดเพราะมาตรการ แต่ยังวางใจไม่ได้ สธ.รับโควิดรอบ 3 พุ่งขึ้น 3 เท่ากว่ารอบแรก เผยบุคลากรทางการแพทย์ติดแล้ว 146 ราย เร่งหาเตียง-เพิ่มรถรองรับ ยังไม่มีนโยบายให้รักษาเองที่บ้าน ยันการฉีดวัคซีนของไทยเป็นไปตามแผนไม่ได้ล่าช้า “เอนก” มั่นใจไทยเอาอยู่โควิดรอบ 3 คาดอีก 3-4 สัปดาห์ต่ำกว่าพันแน่ เผยรัฐบาลเจรจาซื้อวัคซีนจากรัสเซีย ลุยฉีดเดือน พ.ค.

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 เมษายน เวลา 11.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,390 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,384 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,058 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 326 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 6 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 43,742 ราย หายป่วยสะสม 28,787 ราย อยู่ระหว่างรักษา 14,851 ราย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1-18 เม.ย. มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อแล้ว 146 ราย ในจำนวนนี้มีถึง 33 คนติดเชื้อระหว่างปฏิบัติงานเพราะไปสัมผัสผู้ป่วยที่ไม่เปิดเผยไทม์ไลน์ ส่วนที่เหลือติดจากคนใกล้ชิดและครอบครัว
    ทั้งนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 3 ราย รายที่ 1 เป็นชายไทย อายุ 56 ปี อาชีพพนักงานเสิร์ฟในสถานบันเทิง กทม. มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองตีบ มีประวัติเดินทางกลับบ้านที่ จ.บุรีรัมย์ วันที่ 7 เม.ย. จากนั้นวันที่ 13 เม.ย. มีอาการไอ วันที่ 17 เม.ย. มีอาการเหนื่อยมากขึ้น หายใจติดขัด ติดต่อรถพยาบาลมารับเข้าโรงพยาบาล แต่อาการแย่ลง เจ้าหน้าที่ทำการฟื้นคืนชีพ ไม่ดีขึ้น ผลตรวจยืนยันพบเชื้อโควิด-19 กระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 18 เม.ย.
    รายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 84 ปี อยู่ใน กทม. มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้าซึ่งเป็นหลายชายที่ทำงานในสถานบันเทิงย่านรัชดาภิเษกเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ต่อมาเมื่อหลานชายทราบว่าติดเชื้อโควิด-19 จึงแจ้งให้ทราบ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ผู้ป่วยรายดังกล่าวมีอาการ โดยวันที่ 8 เม.ย. มีอาการไข้ ไอ เหนื่อยหอย ปอดอักเสบรุนแรง แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ วันที่ 10 เม.ย. ยืนยันติดเชื้อโควิด-19 จากนั้นวันที่ 16 เม.ย. ความดันโลหิตตกและเสียชีวิต
    และรายที่ 3 เป็นหญิงไทย อายุ 61 ปี อยู่ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อาชีพค้าขาย มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไทรอยด์ วันที่ 6 เม.ย. รับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้าจากสถานบันเทิงใน อ.หัวหิน จากนั้นวันที่ 8 เม.ย. ไปตรวจหาเชื้อเนื่องจากได้รับแจ้งว่าเพื่อนติดเชื้อ วันที่ 10 เม.ย. ผลตรวจยืนยันพบเชื้อโควิด-19 ต่อมาวันที่ 11 เม.ย. เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล กระทั่งวันที่ 18 เม.ย. มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิต ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 104 ราย  
ยอดลดแต่ยังวางใจไม่ได้
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า หลายวันที่ผ่านมากราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงลักษณะเป็นยอดแหลม แต่วันนี้ทิ่มลงมา มาจากมาตรการของ ศบค.ที่ลดการเคลื่อนย้าย ลดการเดินทาง และปิดกิจการและกิจกรรมบางประเภทเป็นการชั่วคราว รวมถึงได้รับความร่วมมือจากประชาชน แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ยอดแหลมอาจกลับมาถ้าไม่ได้รับความร่วมมือ ส่วนมาตรการเชิงรุกเรายังทำต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยอดผู้ติดเชื้อที่ลดลงมาเหลือ 1,390 ราย ทำให้หลายคนคาดหวัง แต่เรายังวางใจไม่ได้ ส่วนที่มีการกล่าวโทษตำหนิผู้ติดเชื้อนั้น อยากบอกว่าการตำหนิไม่ได้ทำให้การติดเชื้อน้อยลง ตอนนี้เราจำเป็นต้องลดความขัดแย้ง ขอให้ร่วมด้วยช่วยกัน เริ่มตั้งแต่มาตรการระวังตัวส่วนบุคคล  
    "กระทรวงสาธารณสุขมีการบริหารจัดเตียงคนไข้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยใช้ระบบโควอร์ด เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะประเมินความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อและคัดแยกผู้ป่วยตามอาการ โดยใครที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยจะเป็นสีเขียว ถ้าเหนื่อยหอบ มีโรคประจำตัวจะเป็นสีเหลือง และใครที่มีอาการรุนแรงจะเป็นสีแดง โดยสีแดงเราจะให้รักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะที่โรงพยาบาลสนามจะตอบโจทย์ผู้ป่วยที่เป็นสีเขียว กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำว่าเราจะไม่ให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างการรอเตียง และขอให้ประชาชนติดตามข้อปฏิบัติระหว่างการรอเตียงที่กระทรวงสาธารณสุขจะออกมาว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าเวลา 08.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางเข้าปฏิบัติงานที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ พร้อมเชิญ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) เข้าพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อรายงานความคืบหน้าการตั้งโรงพยาบาลสนาม สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 และการดูแลความมั่นคงในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด หลัง ศบค.ยกระดับการควบคุมสถานการณ์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา รวมถึงรายถึงสถานการณ์ความมั่นคงตามแนวชายแดน โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกที่มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา และชายแดนฝั่งตะวันออกที่ติดกับประเทศกัมพูชา ซึ่งต้องควบคุมและตรวจเข้มการคัดกรองเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ฝั่งชายแดนกัมพูชา กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า พบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษระบาดในพื้นที่ดังกล่าว จึงต้องเพิ่มความเข้มงวดคัดกรองโรคเป็นพิเศษ
    พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า นายกฯ ในฐานะ รมว.กลาโหม ได้กำชับให้กองทัพประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เข้มงวดตามแนวชายแดนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในพื้นที่ได้มีการตั้งด่านคัดกรองขัดขวางขบวนการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่ง ศปม.ที่มีกองบัญชาการกองทัพไทยดูแลอยู่ ถือเป็นจุดประสานงานกลางกับกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก ในการบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามทั้งหมดของกองทัพ โดยขณะนี้โรงพยาบาลสนามทั้งหมดผ่านมาตรฐานของสาธารณสุขแล้ว และจะส่งมอบให้สาธารณสุขรับไปดูแลต่อ ในส่วนโรงพยาบาลสนามของกองทัพ เบื้องต้นมีทั้งหมด 3,000 เตียง และตั้งเป้าให้มีถึง 5,000 เตียง
ห่วงแห่กลับจากมาเลย์
    ด้าน พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า นายกฯ ได้สอบถามผลการปฏิบัติงานของ ศปม.และ รพ.สนามในภาพรวมว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ โดยขณะนี้ยังไม่มีปัญหาใดๆ เช่น การจัดจุดตรวจเพิ่มเติม เป็นต้น ซึ่งที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ได้มอบหมายให้ ศบค.ชุดเล็ก ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในการควบคุมการปฏิบัติและการเพิ่มมาตรการต่างๆ โดยที่ประชุม ศบค.ได้เน้นการขอความร่วมมือประชาชน โดยยังไม่อยากให้มีข้อบังคับใดๆ ขึ้นมา เพราะเกรงว่าจะเกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มต่างๆ ขึ้น ทั้งนี้ นายกฯ ห่วงใยพื้นที่แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย เพราะมีคนไทยเดินทางกลับมาเยอะในช่องทางต่างๆ
    พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก และโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทัพบกได้ใช้สถานที่ในหน่วยทหารและสิ่งอุปกรณ์ที่มีอยู่ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เตรียมรองรับผู้ติดเชื้ออาการไม่หนักแล้วในขั้นต้น จำนวน 16 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด รองรับผู้ติดเชื้อได้ 2,556 เตียง และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ที่อาจจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ผู้บัญชาการทหารบกได้สั่งการให้กองทัพภาคที่ 1-4 จัดเตรียมพื้นที่ในค่ายทหารอีก 19 แห่ง ในพื้นที่ 17 จังหวัด รองรับผู้ป่วยได้ 1,910 เตียง เพื่อสนับสนุนภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติมเมื่อได้รับการร้องขอ ซึ่งทำให้โรงพยาบาลสนามที่กองทัพบกจัดเตรียมไว้มีทั้งหมด 25 แห่ง สามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ ทั้งสิ้น 4,466 เตียง
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันการแพทย์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมแถลงความพร้อมในการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19
    โดย นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดคำถามถึงประเด็นการจัดหาเตียง รวมถึงมีหลายคนตรวจโควิดในแล็บเอกชน ผลเป็นบวก แต่แล็บไม่มี รพ.ส่งต่อ หรือแม้แต่ปัญหา รพ.เอกชนบางแห่งระบุว่าเตียงไม่มี ไม่ขยายเตียง ในเรื่องนี้ขอย้ำว่า แนวทางการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดทุกรายต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หากระหว่างรอ เราจะมีคนโทร.เยี่ยม โทร.สอบถาม นอกจากนี้ โรงพยาบาล แล็บเอกชนที่ตรวจพบโควิด ต้องประสานการ ดำเนินการในเครือข่าย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกราย ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เข้าดำเนินการแก้ไข
    ส่วนกรณีการตรวจเชิงรุกที่มีระดับความรุนแรงสีเขียว คือไม่มีอาการ อาการน้อย มอบหมายให้ กทม.รับเข้าไว้ใน รพ.สนาม เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีผลยืนยันจากแล็บหรือจากที่ไหนก็ตาม หากความรุนแรงสีเขียวจะรับไว้ใน รพ.สนามและ Hospitel แต่หากความรุนแรงระดับสีเหลือง หรือสีแดง ต้องรับไว้ใน รพ. อีกทั้งให้ รพ.ทุกสังกัดสำรองห้องไอซียูรองรับ ยืนยันว่าขณะนี้เรามีเตียงเพียงพอ จำนวน 9,317 เตียง จากเดิมที่เคยมี 6-7 พันเตียง มีการครองเตียง 6,294 เตียง และยังว่างอยู่ 3,023 เตียง
    นพ.สมศักดิ์กล่าวถึงกรณีมีการประสานเตียงได้แล้วจะพบปัญหาไม่มีรถรับผู้ติดเชื้อส่งโรงพยาบาลว่า ขณะนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ไปหาทางเพิ่มรถนำส่งที่สามารถแบ่งคนไข้เป็นตอนหน้าและตอนหลังได้มาช่วยจัดการ ขณะนี้ได้แล้ว 50 คันจาก 3 บริษัท ในระยะแรกพื้นที่ กทม. จากนั้นจะเพิ่มเป็น 100 คันทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการนำส่งผู้ป่วยเป็นเวร โดยกรณีนี้จะอยู่ในความดูแลของ 1669 ศูนย์เอราวัณ สำหรับกรณีให้ผู้ป่วยโควิดแยกตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) จะมีการเตรียมระบบต่างๆ ไว้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีการใช้แนวทางดังกล่าว
    "เรื่องที่จะให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวที่บ้านเป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า หากเกิดรอบ 4 ที่มีผู้ติดเชื้อเยอะกว่านี้ เราเตรียมการเผื่อไว้เฉยๆ ยังไม่ได้ใช้ และคาดว่าจะไม่ได้ใช้หากตัวเลขอยู่ที่หลักพัน มั่นใจว่ารอบนี้ผ่านวิกฤติไปได้" นพ.สมศักดิ์ระบุ
พุ่ง 3 เท่าจากรอบแรก
    นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลจะเห็นว่าการระบาดระลอกแรกเดือน ม.ค.-กลางเดือน ธ.ค.2563 รวม 11 เดือนครึ่ง มีผู้ติดเชื้อ 4,237 ราย ต่อมามีการระบาดใหม่ระลอกเดือน ธ.ค.2563 เวลาเพียงประมาณ 3 เดือนครึ่ง มีผู้ติดเชื้อสูงประมาณ 6 เท่าของรอบแรก หรือจำนวน 24,626 ราย แล้วค่อยๆ ซาลง แต่พอเข้าการระบาดระลอกเดือน เม.ย.2564 ตอนนี้เพียง 3 สัปดาห์ หรือ 19 วัน ปรากฏว่าจำนวนสะสมตอนนี้ 14,851 ราย ถือว่าสูงมากกว่า 3 เท่าของ 11 เดือนแรกของการระบาดรอบแรก โดยระลอกล่าสุดนี้เกิดจากการเที่ยวสถานบันเทิงของคนหนุ่มสาว กลับบ้านแล้วกระจายไปทั่วทุกจังหวัด
    สำหรับกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 ช่วงวันที่ 1-18 เม.ย.2564 พบ 146 ราย โดยประวัติเสี่ยง คือ 1.การติดเชื้อจากภายนอก รพ. 62 ราย คิดเป็น 42.5% 2.การติดเชื้อใน รพ.พบ 55 ราย คิดเป็น 37.7% จำนวนนี้เป็นการสัมผัสหรือให้การรักษาผู้ป่วยยืนยันขณะทำงาน 33 ราย ติดจากเพื่อนร่วมงาน 22 ราย และ 3.อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 29 ราย คิดเป็น 19.9% นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ถูกกักตัวอีกจำนวนมาก
    นพ.เฉวตสรรกล่าวด้วยว่า สำหรับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสมวันที่ 28 ก.พ.-18 เม.ย.2564 รวม 618,583 ราย เป็นผู้ได้รับเข็มแรก 535,925 ราย และได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 82,658 ราย โดยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้ล่าช้า มีการบริหารจัดการเป็นไปตามแผน
    นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหาร อว.และคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลในสังกัด อว.ว่า จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 รอบ 3 น่าเป็นห่วง แต่ไม่ได้เลวร้ายมากเท่าที่บางคนคิด เพราะค่าทางระบาดวิทยา หรือค่า R ที่ว่าสูงที่สุดในโลกนั้น ก็คือค่า R เมื่อวันที่ 11-12 เม.ย.ที่ผ่านมา จากนั้นมาค่า R ลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 18 เม.ย. พบว่าค่า R อยู่ในระดับที่ไม่ต้องวิตกแล้ว ในขณะที่ผู้ป่วยใหม่ทั่วประเทศ เฉพาะวันที่ 19 เม.ย.มีราว 1,300 คนนั้น จะดูเฉพาะข้อมูลวันนี้วันเดียวไม่ได้ แต่จากการหารือกับคณบดีแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ธรรมศาสตร์ (มธ.) และจุฬาภรณ์แล้ว คาดว่ายอดผู้ป่วยใหม่คงไม่เพิ่มจากเกือบสัปดาห์ที่ผ่านมา คือคงที่ ที่ระดับ 1,000 คน บวกลบไปอีก 3-4 สัปดาห์เท่านั้น โดย นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังย้ำ ถ้าไม่มีปัจจัยอื่นแทรกจะเริ่มต่ำกว่าพันแน่นอน และจะลดลงเรื่อยๆ
    อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่โควิด-19 ยังคุกคามวันละพันคน รพ.สนามทั้งหมดมีพอแน่ อีกทั้ง อว.ยังสามารถจะเพิ่มเตียงได้อีก อย่าได้วิตก อย่าได้กังวล ทั้งนี้ คณบดีแพทย์ศิริราช จุฬาภรณ์ และ มธ. เชื่อมั่นว่า ในกรณีที่มีอาการหนักและต้องการไอซียู ห้องความดันลบมากขึ้นนั้น ขอแจ้งว่าโรงเรียนแพทย์ 20 กว่าแห่ง มีพร้อม มีเพียงพอ และจะมีพร้อมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะด้วยความสนับสนุนของภาคเอกชนและจากกลุ่มวิศวกรที่จะช่วยสร้างเพิ่มให้ ขอประชาชนอย่าได้ห่วงจนเกินเหตุ และที่สำคัญคือ วัคซีนที่หลายฝ่ายบอกว่าต้องระดมฉีดได้เร็ว ขณะนี้รัฐบาลจึงติดต่อขอหรือขอซื้อจากชาติอื่นๆ รวมทั้งจากรัสเซีย เพื่อเอามาเร่งฉีด โดยจะมีให้เริ่มระดมฉีดได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้
    ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่ามีตำรวจติดเชื้อโควิด 139 นาย หายจากอาการเพิ่มเติม 7 คน เหลือผู้ติดเชื้อ 132 และยังมีผู้กักตัว 490 คนตามสถานที่ที่ภาครัฐกำหนดและที่พักของตนเอง โดยที่พบยอดตำรวจติดเชื้อโควิดเพิ่มเป็นผลจากการตรวจตามมาตรการเชิงรุก และครบระยะฟักเชื้อในกลุ่มผู้กักตัว
    ส่วนการดำเนินคดีกับสถานบริการที่พบมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่าในพื้นที่นครบาลมีการดำเนินคดีทั้งหมด 3 สถานที่ ได้แก่ สถานบันเทิงคริสตัล และเอเมอรัลด์ ย่านทองหล่อ ส่วนอีกสถานที่คือโรงแรมแกรนด์เซ็นเตอร์พอยต์ ทองหล่อ ที่ปรากฏข้อมูลของนายอภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข หรือแสตมป์ นักร้องที่ระบุไทม์ไลน์ว่าติดเชื้อหลังรับงานร้องเพลงในงานเลี้ยงวันเกิดจากโรงแรมดังกล่าว ทั้งนี้ได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ราย คือ ผู้จัดการโรงแรม ผู้จัดงานเลี้ยงวันเกิด และผู้ตรวจโรค ให้มาให้ปากคำชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 26 เม.ย.นี้ สำหรับนักร้องจะเรียกตัวมาให้ปากคำในฐานะพยานเช่นเดียวกับกรณีของดีเจมะตูม เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงก่อนดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"