ถ้าตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยยังไต่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ความสามารถตั้งรับของระบบสาธารณสุขของประเทศจะถึงจุด “เต็มล้น” ตรงไหน
ก่อนจะถึงจุดนั้น ใครจะต้องทำอะไรเพื่อไม่ให้ถึงจุดระบบสาธารณสุขของประเทศเข้าขั้น “ล่มสลาย”?
ประชาชนคนไทยจะต้องรับรู้ถึงความจริงที่ว่า ทรัพยากรด้านสาธารณสุขของไทยมีจำกัด
แม้เราจะเพิ่มเตียงและโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitels ได้ แต่เราไม่สามารถจะเพิ่มจำนวนหมอ, พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ได้ทันกับความต้องการที่เกินล้นแน่นอน
คุณหมอนิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตือนเมื่อวานว่ายอดผู้ติดเชื้อหลังสงกรานต์จะเพิ่มเป็น “ทวีคูณ”
จะเห็นชัดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 คือช่วงสัปดาห์หลังเทศกาลสงกรานต์
และถ้าไม่มีมาตรการมากดตัวเลขไว้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ท่านจึงแนะนำให้ทุกคนต้องล็อกดาวน์ตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้ติดและแพร่กระจายเชื้อ
“ส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยที่จะล็อกดาวน์ 100% และเชื่อว่าทุกคนก็ไม่ต้องการเช่นนั้น ดังนั้นต้องช่วยกันยุติการเคลื่อนที่ พร้อมใจกันกักตัวให้ได้สัก 80% เป็นเวลา 3-4 สัปดาห์ ก็จะช่วยได้” คุณหมอนิธิบอก
วันก่อน ผมอ่านพบแนวทางวิเคราะห์ของนายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล แห่งภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ความรู้ที่ควรจะเป็นคำเตือนมาถึงคนไทยที่น่าสนใจ
คุณหมอนิธิพัฒน์เขียนตอนหนึ่งว่า
หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา (11-17 เม.ย.) น่าจะเป็นนิวไฮของประเทศไทยแล้ว เพราะมีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่รวมแล้วราว 12,000 คน ( 1 ใน 3 อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล) ตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรเราบ้าง ลองมาไล่เรียงกัน
เดิมที่ผมเคยประมาณการไว้ว่า เตียงรับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมดทั่วประเทศ (โรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลเฉพาะกิจ หรือ hospitel และโรงพยาบาลสนาม) ถ้าเพิ่มแบบเต็มที่ในก๊อกสอง (surge capacity) โดยให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยกับทุกฝ่าย ควรจะอยู่ที่ราว 25,000 เตียง
ขณะนี้เราใช้ไปแล้วอย่างน้อยราวครึ่งหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่ตกค้างมาจนถึงวันนี้ (ตามตัวเลขข้างต้น) และจะยังถูกใช้ต่อไปอีกอย่างน้อย 5-7 วัน สำหรับกลุ่มตกค้างนี้ ตามนโยบายการขยายเวลาอยู่โรงพยาบาลสำหรับการระบาดระลอกนี้จาก 10 เป็น 14 วัน
นั่นหมายความว่า ในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า ควรจะต้องมีผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คน
เพราะเราจะต้องงัดก๊อกสามมาใช้เมื่อเตียงในหน้าตักหมดไปถึง 80%
มิเช่นนั้นจะเตรียมการใช้งานก๊อกต่างๆ ได้ไม่ทันเมื่อถึงเวลาเข้าจริง (80% ของ 12,500 คือ 10,000)
สำหรับในส่วนของยาที่ใช้รักษารายที่ปอดอักเสบชัดเจน (ฟาวิพิราเวียร์) ที่หลายคนเป็นห่วง และชุด PPE รวมไปถึงเตียงไอซียูโควิด ในประเทศขณะนี้น่าจะมีเพียงพอรับมือผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ได้อีกอย่างน้อย 20,000 คน
แล้วก๊อกสามคืออะไร?
ก็น่าจะเป็นการลดเวลาอยู่โรงพยาบาลเหลือ 7-10 วัน และให้รายที่พร้อมไปแยกกักตัวที่บ้าน (home isolation) ต่อจนครบ 14 วัน
หรือไม่ก็ต้องใช้การคัดเลือกผู้ป่วยรายใหม่ที่มีความพร้อมและมีความเสี่ยงโรครุนแรงน้อยให้แยกกักตัวที่บ้าน โดยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเข้าไปเพื่อกระบวนการคัดเลือก
รวมถึงอาจต้องให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่มีความพร้อมและมีความเสี่ยงโรครุนแรงน้อยไม่ต้องมาตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล แต่ให้แยกกักตัวสังเกตอาการที่บ้าน (home quarantine) ได้เลย
ถ้าอาการมากขึ้นจึงจะรับตัวเข้าเตียงโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา
โดยทุกกรณีในก๊อกสามนี้ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำและติดตามของระบบภาคการแพทย์
แต่ถ้าก๊อกสามทำได้ไม่สมบูรณ์หรือหมดก๊อกสามแล้ว ความพร้อมภาคการแพทย์ที่พวกเราหวังไว้อยากให้ผลลัพธ์เป็นเหมือนในสองระลอกที่ผ่านมา น่าจะล่มสลายจนอาจเกิดภาพที่เราไม่อยากเห็นเหมือนในหลายๆ ประเทศ
และอาจจะช่วยพิสูจน์ความเชื่อของพวกเราที่ว่า เศรษฐกิจที่พังหลังภาคการแพทย์ล่ม น่าจะรุนแรงกว่าเศรษฐกิจที่ล่ม (ชั่วคราว) ก่อนภาคการแพทย์จะพัง
สัปดาห์หน้านี้ คงจะวัดใจของภาคความมั่นคงผู้ตัดสินนโยบายว่าจะไปทางไหนกันต่อ
วัดใจภาคประชาชนว่าจะสามารถร่วมมือหยุดเชื้อเพื่อชาติกันได้สำเร็จหรือไม่
ส่วนภาคการแพทย์นั้นไม่ว่าภาคความมั่นคงหรือภาคประชาชนจะเลือกเดินกันทางไหนก็ตาม พวกเราจะพยายามทำหน้าที่กันสุดฤทธิ์สุดเดช เพื่อไม่ให้เขื่อนแตกก่อนที่จะใช้ศักยภาพจนหมดก๊อกสาม
นี่คือการวิเคราะห์จากหมอที่อยู่ในภาคสนาม กลางสมรภูมิรบกับโควิดที่กำลังประเมินกำลังของฝ่ายตั้งรับและความน่ากลัวของ ”ฉากทัศน์ก๊อกสาม”
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของวิกฤติโควิด-19 อาจจะไม่ใช่ตัวโรคเอง เพราะคนติดเชื้อจำนวนมากอาจจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย
ที่ท้าทายที่สุดอาจจะเป็นแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นกำลังทดสอบขีดจำกัดของระบบสาธารณสุขไทยในแบบที่เราไม่เคยเจอมาก่อน
หากคนติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นวันละหลายพันติดต่อกัน ไม่ว่าจะสร้างโรงพยาบาลสนามอย่างไรก็ไม่ทัน
จากนั้นโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากร และบุคลากรที่ใช้ในการตรวจโรค สืบค้นที่มาของโรค รักษาโรค และควบคุมสถานการณ์จะอ่อนเปลี้ยเพลียแรงลงไป
ดังนั้น “ก่อนจะถึงก๊อก 3” ใครต้องทำอะไรบ้างจึงเป็นคำถามใหญ่ที่สุดขณะนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |