'ทางม้าลายกระต่ายน้อย'...สัญลักษณ์ปลุกจิตสำนึกด้านวินัยจราจรที่ดี

เพื่อเป็นการร่วมระลึกถึง “พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล” (หมอกระต่าย) ที่จากไป จากอุบัติเหตุรถชนขณะข้ามทางม้าลาย เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดทำโครงการ “ทางม้าลายกระต่ายน้อย” ขึ้น เพื่อเป็นการระลึกและสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ขับขี่ ล่าสุดจึงได้จัดพิธีเปิดตัวโครงการ “ทางม้าลายกระต่ายน้อย” ขึ้น ณ ลานหน้าอาคารรัตนวิทยาพัฒน์ ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ โดยมี “รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาดชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้ พร้อมด้วย “รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ” รองผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนบริการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ “นพ.อนิรุทธ์ และ นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล” (คุณพ่อและคุณแม่ของหมอกระต่าย) นายสราวุฒิ อยู่วิทยา (ผู้บริหารมูลนิธิใจกระทิง) ฯลฯ เข้าร่วมกิจกรรมในงาน

“รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาดชาดไทย กล่าวว่า “ สำหรับโครงการ “ทางม้าลายกระต่ายน้อย” จัดทำขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ลดความสูญเสีย ต่อคุณหมอกระต่ายและครอบครัว เพราะคุณหมอกระต่ายเป็นหนึ่งในครอบครัวของเรา และต้องการสะท้อนว่าการสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ที่ดีนั้น ส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคมบ้าง และส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเป็นจุดเริ่มต้นในการลดปัญหาอุบัติเหตุ จากการถูกรถชนขณะข้ามทางม้าลาย เพื่อให้ปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ทางม้าลาย ภายใต้ “โครงการทางม้าลายกระต่ายน้อย” ภายใน รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีด้วยกัน 2 จุดนำร่อง คือบริเวณด้านหน้าอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ และอาคารรัตนวิทยาพัฒน์ และอีก 2 จุด คือบริเวณถนนด้านข้างรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฝั่งถนนอังรีดูนัง และถนนฝั่งสวนลุมพินี รวมทั้งหมดมี 4 จุด ที่สำคัญคิดว่าโครงการฯนี้เป็นหน้าที่ ที่ทุกคนต้องร่วมกันตระหนักรู้ อีกทั้งกระตุ้นเตือนให้ทั้งผู้ที่ขับขี่รถยนต์ ใช้สติในการขับขี่ หยุดรถทุกครั้งเมื่อมีคนข้ามทางม้าลาย ที่สำคัญทุกคนควรร่วมกันดูแลอุปกรณ์ ป้องกันอุบัติเหตุให้อยู่ในสภาพที่ดี เพื่อลดช่วยผลกระทบจากการขับขี่ไม่ปลอดภัย ให้ลดลงได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้โลโก้รูปกระต่ายประจำ “โครงการทางม้าลายกระต่ายน้อย”นี้ นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล คุณพ่อของหมอกระต่ายได้มาร่วมดีไซน์ด้วยเช่นกัน”

ด้าน “นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล” คุณพ่อหมอกระต่าย ให้ข้อมูลว่า “ จริงๆแล้วมีการรณรงค์เกี่ยวกับการขับขี่ปลอดภัยทั้งคนใช้รถใช้ถนน ในลักษณะนี้อยู่เป็นจำนวนมาก แต่สิ่งสำคัญคือเราจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และทำให้คนมีจิตสำนักในการขับขี่ที่ปลอดภัย ดังนั้นสิ่งสำคัญผมมองว่าการรณรงค์นี้เป็นเพียงแอคชั่นที่เกิดขึ้น ภายในโรงพยาบาลฯ รวมถึงภาคประชาชน และองค์กรอิสระ ดังนั้นจึงอยากเห็นหน่วยงานอื่นๆเข้ามาร่วมกัน เช่นภาครัฐ เข้ามาร่วมผลักดันให้โครงการนี้ทำต่อเนื่องในระยะยาว ตั้งแต่ความรับผิดชอบในการใช้รถใช้ถนน การกวดขันเข้มงวดเรื่องกฎจราจร และไม่ใช่แค่มีทางม้าลายในเมือง แต่ในถนนชนบทก็ควรที่มีการพัฒนาอย่างถูกต้อง และบังคับเหมือนกัน ที่สำคัญบทลงโทษของการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัยทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น จำเป็นต้องได้รับบทลงโทษที่รุนแรง เพื่อให้คนเกิดความเกรงกลัว ในการใช้ขับขี่โดยประมาทขาดสติ เช่น การระงับใบขับขี่ของผู้ขับขี่ประมาท ที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น เป็นต้น”

ด้าน “นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล” ให้ข้อมูลว่า “ สำหรับโครงการนี้ก็เป็นอะไรที่ดี ที่ช่วยให้เราตั้งสติได้ในการขับขี่ปลอดภัย และแม้ว่าที่ผ่านจะมีการรณรงค์ในลักษณะนี้เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่เห็นที่ชัดเจนมากนัก อีกทั้งการสูญเสียบคุลากรทางการแพทย์ในครั้งนี้ ก็ทำให้เห็นว่าแพทย์ทุกคนไม่ทิ้งกัน แต่ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เหตุการณ์สูญเสียในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ทุกคนต้องร่วมกันทุกภาคส่วน รวมถึงภาครัฐ ดังนั้นในฐานะคุณพ่อและคุณแม่ของหมอกระต่าย ที่มาร่วมในครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เล็กน้อย แต่เป็นสิ่งที่เราทำได้ เราก็มาช่วยทำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระตุ้นให้ทุกคน หันมาช่วยกันรณรงค์เรื่องนี้ ทั้งในองค์กรของตัวเอง ระดับจังหวัด ไปจนกระทั่งถึงภาครัฐ เพราะเรารู้จักคำว่าทางม้าลายมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นการที่ทำอย่างไร เพื่อทำให้ถนนเป็นของรถยนต์วิ่ง และทางม้าลายเป็นของคนข้าม จึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทุกคน และต้องรณรงค์เรื่องนี้และบังคับใช้อย่างจริงจัง และทำต่อเนื่องในระยะยาว”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ในหลวง พระราชินี ทรงเปิดอาคาร 'จักรีทศมรามาธิบดินทร์' โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคาร "จักรีทศมรามาธิบดินทร์" ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!

อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม

ดิจิทัล วอร์รูม เตือนภัยฝ่าน้ำท่วม-ดินโคลนถล่ม

ภาคเหนือเผชิญอุทกภัยรุนแรง โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย น้ำท่วมตัวเมือง มีน้ำป่าไหลทะลักลงตามแม่น้ำสาย ทำให้บ้านเรือน ร้านค้า ตลาดสด พื้นที่เกษตรที่ติดลำน้ำสายได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัจจุบันแม้น้ำแห้งแล้วแต่ประชาชนยังจมโคลนจมฝุ่นต้องการการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาจากปัญหาที่น้ำท่วมได้ทิ้งไว้ตามบ้านเรือนของประชาชนและสถานที่ต่างๆ