ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสภาองค์กรของผู้บริโภค สุ่มเก็บกล่องพลาสติกบรรจุอาหารร้อน จำนวน 30 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบสารทาเลท และแถลงผลการสำรวจสารทาเลท สารอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกายในภาชนะบรรจุอาหารพลาสติก
16 ก.พ. 2565 – รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ดำเนินการตรวจสอบสารทาเลท 6 ชนิด ในภาชนะบรรจุอาหารแบบพลาสติก และสาร BPA ทั้งหมด 30 ตัวอย่าง โดยมีทั้งภาชนะพลาสติกที่มีแบรนด์ ไม่มีแบรนด์ ซื้อจากห้าง ซื้อจากตลาด ซื้อจากร้าน 20 บาท ภาชนะที่บรรจุอาหารปรุงเสร็จในร้านสะดวกซื้อ และภาชนะที่จัดมาให้ในอาหารสำเร็จรูป โดยมีวิธีการเลือกกล่องภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ดังนี้ เลือกกล่องภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ชนิดที่มีสัญลักษณ์มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือไม่มีสัญลักษณ์ที่ถูกต้อง เพื่อสำรวจระดับความเข้มข้นของสารทาเลท วิเคราะห์การปลดปล่อยสารทาเลท, BPA & BPA Substitutes, PVC ที่มีผลออกฤทธิ์ต้านแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย และระดับความเข็มข้นของสารทาเลท โดยส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เพื่อหาสารทาเลทอันตรายทั้ง 6 ชนิด และ สาร BPA โดยวิธีการทดสอบทาเลทอ้างอิงตาม EN 14372: 2004, Extraction with organic solvent, determination by GC-MS. โดยสุ่มเก็บตัวอย่างและส่งทดสอบที่ห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ในเดือนตุลาคม 2564
สรุปผลการวิเคราห์เป็นสิ่งที่น่ายินดีว่า กล่องพลาสติกบรรจุอาหารทั้งแบบราคาสูงและราคาต่ำ ไม่พบสารบีพีเอ และสารทาเลท เกินกว่าค่ามาตรฐาน ไม่พบสารทาเลททั้ง 6 ชนิด ดังกล่าวที่ระดับ 60 มก./กก. (.006%) หรือสูงกว่าตามตารางและรูป และการทดสอบ สารบิสฟีนอล (เอ) (Bisphenol A); CAS No. 80-05-7 ทดสอบโดยสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ และวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ Liquid Chromatography-Mass Spectrometry (LC-MS) ผลไม่พบสารดังกล่าวที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมหรือมากกว่า
รศ.นพ. อดิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทาเลทเป็นกลุ่มของสารที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกชนิดพีวีซีเพื่อเพิ่มภาวะการคืนรูป ทาเลทไม่มีพันธะทางเคมีที่เชื่อมต่อกับพลาสติก ดังนั้นสารนี้จึงสามารถเคลื่อนย้ายออกจากผลิตภัณฑ์ไปเกาะติดกับสิ่งอื่นเช่นมือเมื่อมีการสัมผัสได้ ทาเลทมีหลายชนิด บางชนิดจัดว่าเป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย โดยกลไกการออกฤทธิ์จะต้านแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้นในมาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้มีการควบคุมสารทาเลท
อย่างไรก็ตามสารทาเลทในพลาสติกยังอาจก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น เดียวกับตัวพลาสติกเอง เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยสารพิษเข้าไปในอากาศและน้ำทำให้เกิดภาวะมลพิษ และต้องอาศัยพลังงานสูง นอกจากนี้พลาสติกยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก การรีไซเคิลจะมีคุณภาพด้อยลงจากผลิตภัณฑ์ก่อนการรีไซเคิล ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ซึ่งในกระบวนการรีไซเคิลนี้ต้องมีการเพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านอื่นๆอีกด้วย ส่วนการเผาขยะพลาสติกชนิดพีวีซี จะเป็นตัวก่อให้เกิดสารไดออกซิน ดังนั้นจึงควรลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ผลิตควรมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ในการดำเนินการเรื่องการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งการลงทุนในงานวิจัยด้านภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อคนโดยเฉพาะสำหรับเด็ก
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และนักวิชาการศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า เราใช้กล่องบรรจุอาหารพลาสติกมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผู้บริโภคซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน การสั่งอาหารเดลิเวอรี หรือจากแอปสั่งอาหาร ทำให้ภาชนะบรรจุอาหารเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมาก และจากข้อมูลผู้บริโภคชาวกรุงเทพฯ ร้อยละ 22.7 ต้องการให้ทดสอบสำรวจบริการนำส่งอาหาร และถ้าผู้บริโภคต้องการให้นิตยสารฉลาดซื้อทดสอบอะไรก็แจ้งเข้ามาได้ เพราะเสียงของทุกท่านมีความหมายและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สัญญาณอันตราย!สหรัฐพบไวรัสไข้หวัดนกในหมูเสี่ยงระบาดครั้งใหม่
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ศูนย์สนับสนุนพันธกิจ
มาอีกแล้ว! ไวรัสตัวใหม่ 'มาร์บูร์ก' น้องๆอีโบลา
เพจศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ศูนย์สนับสนุนพันธกิจ
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 'ปิยะมิตร ศรีธรา' ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
'ไอซ์-โอม-เล้ง' รวมพลังช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส เนื่องในวันมหิดล
แฟนๆห้ามพลาด ไอซ์-ศรัณยู วินัยพานิช ศิลปินจีเอ็มเอ็ม มิวสิค โอม-ภวัต จิตต์สว่างดี และ เล้ง-ธนพล อู่สินทรัพย์ นักแสดงจีเอ็มเอ็มทีวี ชวนมาร่วมทำบุญ ในงานแถลงข่าว 24 กันยายน “วันมหิดล” ศิลปินรวมใจช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส รพ.ศิริราช