ปรุงสมุนไพรใช้ทั้งภายในภายนอก ภูมิปัญญาไทยรักษาโรคมากับน้ำ

ว่ากันด้วยเรื่องสมุนไพรรับมือน้ำท่วมขัง ที่นอกจากหาง่ายแถมยังใช้ง่ายอีกด้วย โดยเฉพาะบ้านไหนที่ชอบปลูกพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดไว้ริมรั้ว สำหรับไว้ใช้กินและทาภายนอก อาทิ มะขาม ขี้เหล็ก ฟ้าทะลายโจร ทองพันชั่ง ต้นคนทา ลองมองหาไว้และอ่านคำแนะนำของ “แม่ครูจรรยา วงศ์ชัย” แพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน จากชมรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้าน จ.เชียงใหม่ ซึ่งให้ข้อมูลว่า สมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ในช่วงน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ ได้แก่ “ต้นคนทา” (เป็น 1 ในสมุนไพรที่ใช้สำหรับปรุงยาห้าราก ซึ่งรักษาอาการไข้ ถอนพิษ) โดยนำเปลือกของต้นคนทา หรือลูกของต้นคนทา และเกลือ มาต้มรวมกัน จากนั้นทิ้งไว้ให้เย็นและแช่เท้าในน้ำต้มเปลือกต้นคนทาทิ้งไว้สักครู่ ซึ่งสรรพคุณของเปลือกต้นคนทาต้มนั้น จะช่วยรักษาอาการน้ำกัดเท้าได้ดี ซึ่งคนโบราณจะเรียกอาการของน้ำกัดเท้าว่า “หอกินเท้า” ซึ่งมีลักษณะเป็นผื่นแดงคันและเป็นคลื่นที่เท้า หรือบางที่ก็จะเรียกว่ามีพยาธิปากขอที่เรามองไม่เห็นอยู่ใต้ผิวหนัง

“ต้นมะขาม” ก็สามารถนำเปลือกของต้นมะขาม (โดยขูดเปลือกแข็งทิ้ง เหลือไว้แต่เปลือกอ่อน) และนำเปลือกอ่อนมาต้มน้ำ แล้วใส่เกลือป่นหรือเกลือเม็ดลงไป แล้วทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นนำเท้าลงไปแช่สักครู่ เพื่อรักษาอาการน้ำกัดเท้าซึ่งมีผื่นแดงคันได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งสมัยโบราณนั้น หากใครที่มีปัญหาน้ำกัดเท้าชนิดที่ไม่มีแผล แต่มีผื่นแดงคันเป็นคลื่นๆ นั้น ที่เชื่อกันว่ามีพยาธิปากขออยู่ใต้ผิวหนัง ปู่ย่าตายายก็มักจะใช้พริกสดสีแดงไปย่างไฟให้พอนุ่มๆ (เม็ดพริกข้างในยังไม่แตกออกมาจากการย่างไฟ) จากนั้นก็นำพริกย่างไฟพออุ่นๆ มาคลึงที่บริเวณผื่นแดงคันดังกล่าว เพื่อไม่ให้ผื่นแดงที่เป็นรอยคลื่นๆ ที่เท้า กระจายวงกว้างไปไกล

ส่วนใครที่มีปัญหาเชื้อราที่เท้า เนื่องจากบ้านเรือนถูกน้ำท่วมขังหลายวัน แนะนำให้ปรุงยาตำรับสำหรับรักษาเชื้อราที่เท้า โดยนำ “เปลือกมะขาม”, “เปลือกมังคุด” (มังคุดที่กินแล้วเหลือแต่เปลือกสด) “ต้นทองพันชั่ง” (ดอกสีขาว) และ “กระเทียม” ทุบพอแตก จากนั้นนำมาต้มรวมกัน กระทั่งตัวยาในสมุนไพรแต่ละชนิดเริ่มออกฤทธิ์ จากนั้นทิ้งไว้ให้เย็นแต่ยังพออุ่นๆ อยู่เล็กน้อย และนำเท้าลงไปแช่ ก็จะช่วยรักษาและป้องกันอาการเชื้อราที่เท้าได้ หรือหากใครไม่มีต้นมะขาม แต่อยู่ในพื้นที่ซึ่งปลูกผลไม้อย่างมังคุด ก็สามารถนำเปลือกลูกมังคุดสด กระเทียมทุบพอแตก เกลือ ต้มรวมกัน เพื่อแช่เท้ารักษาโรคเชื้อราที่เท้าได้เช่นกัน 

หากใครที่มีอาการท้องร่วงท้องเสียจากปัญหาน้ำท่วมขัง ที่อาจรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคท้องเสียเข้าไปนั้น ก็สามารถเด็ด “ใบฟ้าทะลายโจร” ที่ปลูกเอาไว้ ประมาณ 2-3 ใบมาเคี้ยวให้ละเอียดและกลืนลงไป ก็ช่วยรักษาอาการท้องเสียได้แบบฉุกเฉิน หรือใครมีต้นฝรั่งก็สามารถเด็ด “ยอดใบฝรั่ง” 4-5 ยอด มาต้มพร้อมกับเกลือและทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นดื่มน้ำต้มใบฝรั่ง ก็จะช่วยลดอาการท้องเสียท้องร่วงได้ชะงัด หากว่าบ้านไหนที่น้ำท่วมสูงและไม่มียาแก้ท้องร่วงติดบ้านไว้ หรือจะเด็ดลูกฝรั่งอ่อนมาเคี้ยวกิน ซึ่งฝรั่งอ่อนจะมีความฝาด ก็จะช่วยรักษาอาการท้องเสียท้องร่วงได้ แต่ต้องไม่กินฝรั่งอ่อนมากเกินไป เพราะความฝาดดังกล่าวจะทำให้ท้องผูกตามมาได้

“สำหรับผู้ที่อาการอ่อนเพลียจากการท้องร่วงท้องเสียนั้น ให้นำเปลือกสดของลูกมังคุดมาต้มและเติมน้ำผึ้งลงไปเล็กน้อยแล้วดื่ม ก็จะช่วยลดอาการอ่อนเพลียจากการขาดน้ำเพราะท้องเสียได้เช่นกัน หรือบ้านไหนที่ปลูกทั้งต้นทับทิมและต้นมังคุด ก็สามารถเด็ดยอดทับทิม เปลือกมังคุด มาต้มรวมกันและใส่น้ำผึ้งเล็กน้อยแล้วดื่ม ก็ช่วยทดแทนเกลือแร่ จากอาการท้องร่วงท้องเสียได้ดี”

อีกหนึ่งพืชสมุนไพรริมรั้วที่หาได้ง่าย อย่าง “ใบขี้เหล็ก” สามารถช่วยบรรเทาอาการความเครียดทำให้นอนไม่หลับ อันเนื่องจากการสูญเสียทรัพย์สินไปในช่วงท่วมขังได้เช่นกัน โดยการนำใบหรือยอดขี้เหล็กอ่อนที่ปลูกไว้ริมรั้วมาต้มกับเกลือหรือลวกพอสุก และนำมากินกับน้ำพริกอ่อง หรือน้ำพริกตาแดง ก็จะช่วยทำให้นอนหลับสบาย ช่วยผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี หรือจะลองเปลี่ยนมาแกงขี้เหล็กสักถ้วย ก็ช่วยให้นอนหลับง่ายเช่นกัน เพราะสรรพคุณของใบขี้เหล็กจะช่วยทำให้นอนหลับได้ดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไขข้อข้องใจ! ความดันสูงกับ 'ความดันกลางคืน' สำคัญอย่างไร

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ความดันสูงและความดันตอนกลางคืนสำคัญอย่างไร

อย่าตกใจ! ‘หมอยง’ ชี้พบโรคทางเดินหายใจมาก เป็นโรคประจำฤดูกาล จะเริ่มลดหลังเดือนก.ย.

รคทางเดินหายใจ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กนักเรียน จะพบมากในฤดูฝน ตั้งแต่นักเรียนเปิดเทอม ทั้งโควิด 19 ไข้หวัดใหญ่ และมาเดือนนี้เป็นฤดูกาลของ RSV

8 ปัจจัยที่เอื้อต่อผลสำเร็จ ในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ของระบบสุขภาพไทย

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท เจ้าของรางวัลผู้นำสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยแพร่บทความเรื่อง 8 ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนของระบบสุขภาพไทย มีเนื้อหาดังนี้