'สภาองค์กรของผู้บริโภค' เผยแพร่บทความ 'องุ่นไชน์มัสแคท เมื่อสังคมไทยหยิบไม้บรรทัดคนละอัน'

30 ต.ค.2567- สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยแพร่บทความ เรื่อง องุ่นไชน์มัสแคท เมื่อสังคมไทยหยิบไม้บรรทัดคนละอัน มีเนื้อหาดังนี้

การบิดประเด็น “องุ่นไชมัสแคท” กับการกำหนดมาตรฐานที่ต้องอยู่บนหลัก “ป้องกัน” ไว้ก่อนนั้น เปรียบเหมือนบ้านเราหยิบไม้บรรทัดคนละอัน ถึงเวลาทุกฝ่ายต้องหยุดให้ข่าวเพื่อสร้างความสับสน และควรกลับตั้งคำถาม หามาตรการจัดการความเสี่ยง

ผลใหญ่ สีเขียวสดใส เนื้อกรอบ และฉ่ำน้ำ รสชาติหวานหอม คือลักษณะเด่นของ องุ่นไชน์มัสแคท ทำให้กลายเป็นหนึ่งพันธุ์ที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในบ้านเรา

องุ่นไชน์มัสแคท อย่างที่รู้กันว่า มีต้นกำเนิดจากการปรับปรุงพันธุ์ของประเทศญี่ปุ่น และเริ่มแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ มีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งวิธีทำให้องุ่นไร้เมล็ดมีเทคนิค โดยการใช้สารที่เพื่อปรับปรุงลักษณะทางกายภาพและสลายเมล็ดในองุ่นไชน์มัสแคท คือ กรดจิบเบอเรลลิก (Gibberellic Acid – GA3)

ข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุชัดว่า การได้รับสารชนิดนี้มากเกินไป (กรดจิบเบอเรลลิก) อาจส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท และมีความเป็นพิษต่อตับ

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีข้อมูลอีกว่า มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรจำนวนมากระหว่างการเพาะปลูก เช่น สารกำจัดแมลง สารกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรคพืช และสารควบคุมการเจริญเติบโต ซึ่งหากมีการตกค้างเกินค่ามาตรฐานอาจส่งผลถึงผู้บริโภคได้

ก่อนที่องุ่นไชน์มัสแคทจะถูกพูดถึงในวงกว้างช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-Pan ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลทดสอบสารเคมีทางการเกษตรตกค้าง จากการเก็บตัวอย่างทั่วกรุงเทพและปริมณฑล ส่งไปตรวจยังห้องปฏิบัติการ จนพบว่า

95.8% ของตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคท หรือ 23 จาก 24 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด มี 1 ตัวอย่าง พบสารคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ทั้งนี้ตามกฎหมายต้องตรวจไม่พบ เนื่องจากยกเลิก MRLs (Maximum Residue Limits ค่า ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่สามารถมีได้) แล้ว
42% ของสารพิษตกค้าง เป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายของไทย
74% ของสารพิษตกค้าง เป็นสารดูดซึม มีโอกาสตกค้างอยู่ในเนื้อเยื่อขององุ่น
สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ อย. ก็เคยตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างองุ่นนำเข้ามาแล้วเช่นกัน ในช่วงปี 2565 – 2567 แต่ไม่เป็นข่าวครึกโครมเท่าครั้งนี้!

กรมวิทย์ฯ และ อย. สุ่มตรวจองุ่นพันธุ์ต่างๆ รวม 27 ตัวอย่าง ทั้งนำเข้ามาจากชิลี เปรู ออสเตรเลีย อเมริกา ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ในจำนวนนี้มีองุ่นไชน์มัสแคทจำนวน 8 ตัวอย่าง ที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เพื่อตรวจวิเคราะห์ สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 250 ชนิด ด้วยเทคนิก GC-MS/MS และ LC-MS/MS ไกลโฟเซต และพาราควอต

ผลการตรวจวิเคราะห์ครั้งนั้น พบว่า มีองุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 14.8 โดยเป็นองุ่นไชน์มัสแคท 3 ตัวอย่าง ที่นำเข้าจากเกาหลีใต้ 1 ตัวอย่าง และนำเข้าจากจีน 2 ตัวอย่าง และองุ่นแดงไร้เมล็ดนำเข้าจากเปรู 1 ตัวอย่าง


ผลการตรวจวิเคราะห์องุ่นนำเข้า จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ อย.

ไชมัทแคท พบสารตกค้างสูงกว่าองุ่นพันธุ์อื่น

และผลการตรวจวิเคราะห์สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในองุ่นนำเข้า ยังพบการตกค้างของสารพิษที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ.2560 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง และข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการของโครงการมาตรฐานอาหาร เอฟ เอ โอ/ดับบลิว เอช โอ (Codex Alimentarius Commission, Joint FAO/WHO Food Standards Programme) จำนวน 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 14.89

องุ่นที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน ได้แก่ องุ่นแดงไร้เมล็ด ร้อยละ 3.7 และองุ่นไชน์มัสแคท ร้อยละ 11.1 โดยองุ่นไชน์มัสแคทมีอัตราการตรวจพบและเกินเกณฑ์มาตรฐานสูงกว่าองุ่นพันธุ์อื่น ๆ

จากผลการวิเคราะห์ พบว่า ยังมีองุ่นที่นำเข้าที่จำหน่ายตามท้องตลาดมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน ส่วนสารที่พบบ่อย 8 อันดับแรก ได้แก่ tebuconazole, thiamethoxam, chlorfenapyr, clothianidin, fluopyram, pyraclostrobin, I-cyhalothrin, tetraconazole และ สารตกค้างที่เกินเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 4 ชนิด 1.สารกำจัดแมลง ได้แก่ ethirimol chlorfenapyr 2.สารป้องกันกำจัดโรคพืช ได้แก่ thiamethoxam tetraconazole ตรวจพบปริมาณ 0.02 – 0.15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหารฯ ระบุในท้ายผลการวิเคราะห์ด้วยว่า สารที่เกินเกณฑ์มาตรฐานนี้ตรวจพบในปริมาณน้อยและเป็นสารที่มีความเป็นพิษต่ำ และไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ควรเลือกซื้อองุ่นจากแหล่งที่เชื่อถือ ระบุที่มาของสินค้าได้

สภาผู้บริโภคศึกษาบทเรียนแนวทางจัดการในต่างประเทศ

ขณะที่ สภาผู้บริโภค ศึกษาแนวทางการจัดการผลไม้ เมื่อตรวจพบสารเคมีอันตราย ในยุโรป และจีน มีแนวทางที่แตกต่างกันตามมาตรฐานและกฎระเบียบของแต่ละประเทศ

1. แนวทางการจัดการผลไม้ในยุโรป

1.1 ปฏิบัติตามข้อกำหนดของ EU (EFSA และ MRLs)

• สหภาพยุโรปมีการกำหนดค่ามาตรฐานสารตกค้างสูงสุด (MRLs) โดย EFSA (European Food Safety Authority)

• ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตเป็นไปตามข้อกำหนดของ EU และไม่ใช้สารเคมีที่ถูกแบน เช่น คลอร์ไพริฟอส

1.2 เพิ่มมาตรการควบคุมคุณภาพก่อนส่งออก

• ทดสอบสารตกค้างในผลไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐาน MRLs ที่ประเทศปลายทางกำหนด

• ใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรป เพื่อลดความเสี่ยงการถูกปฏิเสธสินค้า

1.3 จัดการกระบวนการกักกันและเรียกคืน (Recall & Quarantine)

• หากพบสารเคมีเกินมาตรฐาน ควรเรียกคืนสินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่งหรือตามห้างร้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว

• มีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่สามารถติดตามสินค้าได้ตั้งแต่แหล่งเพาะปลูกจนถึงปลายทาง

1.4 การติดต่อกับหน่วยงานและคู่ค้า

• ประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลของ EU เช่น RASFF (Rapid Alert System for Food and Feed) ในกรณีที่ตรวจพบสารต้องห้าม

• แจ้งเตือนคู่ค้าทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายด้านความสัมพันธ์และชื่อเสียง

2. แนวทางการจัดการผลไม้ในจีน

2.1 ปฏิบัติตามมาตรฐานของ GACC และ MRLs ของจีน

• ศุลกากรจีน (GACC) มีมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับการตรวจสอบสารตกค้างและการอนุญาตนำเข้า

• ควรศึกษาและปฏิบัติตามข้อกำหนด MRLs ของจีน ซึ่งอาจแตกต่างจากมาตรฐานยุโรปในบางส่วน

2.2 ตรวจสอบและเตรียมเอกสารรับรอง

• จัดเตรียมใบรับรองด้านคุณภาพ เช่น ใบรับรอง GAP, GMP หรือใบรับรองเกษตรอินทรีย์ หากเป็นที่ต้องการของตลาดจีน

• เพิ่มการทดสอบสารตกค้างในผลไม้ก่อนส่งออก เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของจีน

2.3 เสริมระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)

• ใช้ระบบ QR Code บนบรรจุภัณฑ์สินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคและหน่วยงานจีนตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าได้

• รักษาความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดเพื่อสร้างความไว้วางใจ

2.4 บริหารจัดการการกักกันและแก้ไขปัญหา

• หากพบปัญหาสารตกค้างระหว่างการตรวจ ณ ด่านนำเข้า สินค้าจะถูกกักกันและอาจถูกทำลายหรือส่งคืน

• ควรเตรียมแผนฉุกเฉินในกรณีที่สินค้าถูกปฏิเสธ เพื่อบริหารความเสียหายทางธุรกิจ

3. แนวทางร่วมสำหรับทั้งสองตลาด

1. ส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และเกษตรอินทรีย์

• ช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีอันตรายที่อาจถูกห้ามในหลายประเทศ

2. เฝ้าระวังสารเคมีต้องห้ามและสารใหม่ ๆ

• ติดตามกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงของทั้งยุโรปและจีนอย่างใกล้ชิด เช่น รายชื่อสารเคมีที่ถูกแบนเพิ่ม

3. เสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลและคู่ค้า

• สร้างช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับหน่วยงานในประเทศปลายทางเพื่อจัดการปัญหาอย่างรวดเร็ว

4. เรียกคืนสินค้าและบริหารชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว

• เมื่อพบปัญหา ควรรีบจัดการกักกันหรือเรียกคืนสินค้า พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อป้องกันความเสียหายด้านความเชื่อมั่น

จะเห็นว่า การจัดการผลไม้เมื่อตรวจพบสารเคมีอันตรายในยุโรปและจีน การทำให้อาหารปลอดภัยจำเป็นต้องทำความเข้าใจในกฎระเบียบเฉพาะของแต่ละประเทศ และการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามมาตรฐาน เพื่อรักษาช่องทางการส่งออกและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศระยะยาว

ข่าวองุ่นไชน์มัสแคท สังคมไทยต้องขอบคุณองค์กรภาคประชาสังคม ที่ออกมาทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร อีกขา แทนหน่วยงานภาครัฐ

แต่การบิดประเด็น องุ่นไชมัสแคท ให้สวนทางกับการกำหนดมาตรฐานที่ต้องอยู่บนหลัก “ป้องกัน” ไว้ก่อนนั้น วันนี้บ้านเราเหมือนหยิบไม้บรรทัดมาคนละอัน ฉะนั้น ถึงเวลาทุกฝ่ายต้องหยุดให้ข่าวเพื่อสร้างความสับสน และควรกลับตั้งคำถาม หามาตรการการจัดการความเสี่ยง ทั้งการตรวจตั้งแต่ประเทศต้นทาง กระบวนการกักกันและเรียกคืน การแสดงฉลากให้ชัดเจน ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ ณ ด่านอาหารและยาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเมื่อมีการตรวจเจอสารเคมีตกค้างในผักผลไม้นำเข้า จำเป็นต้องมีการประกาศผลวิเคราะห์ต่อสาธารณชน

สุดท้าย สังคมไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องอยู่เคียงข้างผู้บริโภคไม่มองการสุ่มเจอสารเคมีตกค้างในผลไม้ เป็นเรื่องน่าอับอาย หรือเป็นการจับผิดกันอีกต่อไป …

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สภาผู้บริโภค' เสนอ สคบ. ตรวจสอบ 'ดิไอคอนกรุ๊ป' ชวนลงทุน หวั่นเข้าข่ายแชร์ลูกโซ

สภาผู้บริโภค เสนอ สคบ. ตรวจสอบ ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ หลังพบผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อลงทุนขายสินค้าออนไลน์ ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามสัญญาที่อ้างจำนวนมาก แนะผู้บริโภคเรียกร้องสิทธิ บอกเลิกสัญญา และขอเงินคืนกับบริษัทที่ร่วมลงทุน ผู้บริโภคขอความช่วยเหลือกับสายด่วน 1502 ได้

'สภาผู้บริโภค' จี้ทบทวนเชิงระบบ เหตุ ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียน

เพจ สภาองค์กรของผู้บริโภค โพสต์ข้อความว่า สภาผู้บริโภค จี้ทบทวนเชิงระบบ ตั้งแต่แนวทางการไปทัศนศึกษาที่ปลอดภัย ซักซ้อม วางแผน ลงรายละเอียด หากเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดเพลิงไหม้ ย้ำชัด พาเด็กเล็กไปทัศนศึกษา ยิ่งต้องให้ความสำคัญ

ยุ่งแล้ว! ‘วิรังรอง’ ร้องสภาองค์กรของผู้บริโภค ยับยั้งประมูลข้าวเก่า 10 ปี

กรณีที่รัฐบาล จะเปิดให้มีการประมูลข้าว ๑๐ ปี ในโครงการรับจำนำข้าว เพื่อให้บริษัทเอกชนนำไปจำหน่ายให้ประชาชนบริโภค หรือจะให้กองทัพซื้อให้ทหารรับประทาน

“เปิดต้นทุน รถไฟฟ้า 20 บาท ทำได้ทุกสายทุกคนขึ้นได้”

สภาองค์กรของผู้บริโภค – กรมรางฯ - รฟม. พ้องเสียงค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททำได้จริงแม้รัฐบาลต้องอุดหนุนแต่ถือว่าคุ้มค่ากับคุณภาพชีวิต