ขบวนการแพทย์ชนบท : การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

18 ก.ย.2567- นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบทและอดีตเลขาธิการแพทยสภา นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยแพร่บทความ เรื่อง ขบวนการแพทย์ชนบท : การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีเนื้อหาดังนี้

1.ความนำ

นับเป็นเรื่องที่น่ายกย่องชื่นชมที่ ผู้บริหารระดับสูง ของกระทรวงสาธารณสุข ในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ได้จัดทำโครงการในพื้นที่ทดลองโดยมีเป้าหมายสุขภาพดีถ้วนหน้าของประชาชน โดยเฉพาะผู้คนในชนบทในถิ่นทุรกันดาร หรืออาศัยอยู่ตามหัวไร่ปลายนา ไปจนสุดเขตแดนสยาม หากเป็นสมัยปัจจุบัน อาจเรียกว่า SANDBOX MODELS ดังเช่น การเกิดขึ้นของ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ การพัฒนาระบบสาธารณสุขมูลฐาน หรือ การพัฒนาระบบงานระบาดวิทยาที่ได้มาตรฐานในระดับสากล

สำหรับ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นั้น จุดเริ่มต้นและวิวัฒนาการโครงการบัตรสุขภาพโดยความสมัครใจนั้น เริ่มดำเนินการในสมัย นพ.อมร นนทสุต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มทดลอง“โครงการกองทุนพัฒนาอนามัยแม่และเด็กโดยใช้บัตรประกันสุขภาพ” ในปี พ.ศ. 2526 และได้รับการบรรจุเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับบที่ 6 ในปี พ.ศ. 2530 ต่อมา ในปี พ.ศ. 2536 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “โครงการประกันสุขภาพโดยสมัครใจ” ในแผนพัฒาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 เป็นการจำหน่ายบัตรประกันสุขภาพเรียกว่า “บัตรสุขภาพ” (เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการออกบัตรผู้มีรายได้น้อยซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2524 และ นโยบายรักษาฟรีสำหรับคนยากจนซึ่งเริ่มต้นในปี 2518) โดยประชาชนจ่ายเงินร่วมกับภาครัฐ คือ กระทรวงสาธารณสุขจ่าย 500 บาท ประชาชนจ่าย 500 บาท

ต่อมาในปีพ.ศ. 2541 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเพิ่มมูลค่าบัตรเป็น 1,500 บาท โดยกระทรวงสาธารณสุขจ่าย 1,000 บาท ประชาชนร่วมจ่าย 500 บาท และมีพัฒนาการจนเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี พ.ศ. 2545

2. แรงบันดาลใจสุดประมาณที่มีต่อแพทย์ชนบทคนหนึ่งชื่อ “สงวน นิตยารัมภ์พงศ์”

สถานการณ์ที่นายแพทย์สงวนฯ ประสบพบเห็น และเผชิญปัญหาทุกวันในการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน ได้สร้างความสะเทือนใจอย่างมาก เมื่อรู้ความจริงว่า ชาวไร่ชาวนาในชนบท ต้องขายวัวขายควาย ขายไร่ขายนา เมื่อยามเจ็บป่วย ทำให้ล้มละลายทางการเงิน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และยังมีคนยากจนอีกจำนวนมากที่ได้รับผลในลักษณะดังกล่าว เหล่านี้ได้สร้างแรงบันดาลใจสุดประมาณ

ในปีพ.ศ. 2528 นพ. สงวนฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็นแพทย์ดีเด่นในชนบท และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานชมรมแพทย์ชนบทในปี พ.ศ. 2528-2529 และจากพื้นฐานของการเป็นนักกิจกรรมและผู้นำในช่วงที่เป็นนักศึกษาแพทย์ จึงได้แสดงบทบาทในฐานะผู้นำการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนการสร้างและพัฒนาศักยภาพของแพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพ จำนวนมาก ในกระบวนปฏิรูป

นพ.สงวนฯ ได้สร้างและพัฒนา เครือข่ายแพทย์ชนบทและบุคลากรด้านสุขภาพ ออกไปอย่างกว้างขวาง ใน สปสช.ที่เป็นแพทย์ชนบท เช่น นพ.วินัย สวัสดิวร, นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ, นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ, นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข, นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี โดยผ่าน การศึกษาต่อ และ Institute of Tropical Medicine, Antwerp, Belgium รวมทั้ง ผ่าน โครงการอยุธยา (Ayutthaya Research Project)” ในปี พ.ศ. 2532 และขยายเป็น “โครงการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข (Health Care Reform Project) ในปี พ.ศ. 2540 ใน 5 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น สงขลา ยโสธร และพะเยา พร้อมไปกับการพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

3.ความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการสร้างและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่บนพื้นฐานของการมีหลักวิชาการในระดับสากลรองรับ ภายใต้การสนับสนุนของ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ Institute of Tropical Medicine, Antwerp, Belgium

โดยเริ่มดำเนินการในลักษณะโครงการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเรียกโครงการนี้ว่า “โครงการอยุธยา (Ayutthaya Research Project)” ในปี พ.ศ. 2532 และขยายเป็น “โครงการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข (Health Care Reform Project) ในปี พ.ศ. 2540 ใน 5 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น สงขลา ยโสธร และพะเยา พร้อมไปกับการพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

3.1โครงการอยุธยา: จุดเริ่มต้นในพื้นที่ที่มีการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research)

โครงการวิจัยที่เป็นการลงมือปฏิบัติของโครงการอยุธยาคือ “ศูนย์แพทย์ชุมชนเมืองนครศรีอยุธยา” โดยมี ศ. นพ. อรรถสิทธิ เวชชาชีวะ ซึ่งมีตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2535

ผลพลอยได้ที่กล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มต้นในพื้นที่ที่เป็นสิ่งใหม่ (นวัตกรรม: Local imitative) และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในสังคมไทยอาจสรุปพอสังเขปได้ดังนี้

1.) การให้บริการในลักษณะเวชปฏิบัติครอบครัว โดยมีการขึ้นทะเบียนประชาชนที่เป็นสมาชิกในแฟ้มอนามัยครอบครอบครัว (Family Folder) และมีพื้นที่ที่รับผิดชอบที่ชัดเจน รวมถึงการพัฒนาบริการและ/หรือเครือข่ายบริการปฐมภูมิ ส่งเสริมการดูแสสุขภาพตนเองและครอบครัว ประสานงานและลดช่องว่างของการให้บริการปฐมภูมิ-ทุติยภูมิ-และ-ตติยภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แพทย์ประจำศูนย์แพทย์ชุมชนฯ จะตามไปเยี่ยมผู้ป่วยเมื่อมีการ Admit ที่ รพ. พระนครศรีอยุธยา ส่วนทีมงานจะเยี่ยมบ้าน (เช่นกรณีผิดนัดในโรคเรื้อรังที่ควบคุมระดับความรุนแรงของโรคได้ไม่ดี) ติดตามให้บริการที่บ้าน (ตามความจำเป็น เช่น bedsore ทั้งนี้รวมถึง palliative care)

2.)กลไกทางการเงิน ก่อนมีการตัดสินใจ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน จ่าย 70 บาทต่อโรคไม่ว่าป่วยมากหรือป่วยน้อยรวมนอนโรงพยาบาล มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยให้มากที่สุดกับทุกบ้านเท่าที่เป็นไปได้ (70 บาท/episode – เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข: Solidarity) ทั้งนี้ผู้ที่มีสิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการยังคงใช้สิทธิดังกล่าวได้ดังเดิม และผู้ที่มีบัตรรายได้น้อยไม่ต้องจ่าย 70 บาท กรณีส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้บริการฟรี อันเป็นที่มาของการนำมาใช้หาเสียงในบริบททางการเมืองของพรรคการเมืองและดำเนินการตามหนทางทางการเมืองโดยเรียกว่า “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค”

3.)ระบบข้อมูลที่มีความต่อเนื่องทั้งในระดับรายบุคคลและครอบครัว (Individual and Family Continuous Records) มีทั้งที่เก็บอยู่ที่ศูนย์แพทย์ชุมชน เช่น แฟ้มอนามัยครอบครัว บัตรปฏิบัติการ (Operational Cards) บัตรสรุปสภาวะสุขภาพที่สำคัญ (Synthesis Carrds) และเก็บไว้กับผู้รับบริการ เช่น สมุดประจำตัวผู้รับบริการ (Personal Books) และบัตรประจำตัวผู้รับบริการ (Personal Tickets)

4.)ประชุมกับชุมชนอย่างสม่ำเสมอ (เดือนละครั้ง: ช่วงบ่ายขอเสาร์ที่ 3 ของแต่ละเดือน) ผู้ที่มาร่วมประชุมอย่างสม่ำเสมอกลายคณะกรรมการของศูนย์แพทย์ชุมชนอย่างไม่เป็นทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้น จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจ และทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้ให้บริการของศูนย์แพทย์ชุมชนกับชุมชน (Mutual understanding) คือผู้ที่เป็นสมาชิก (Registered population) และผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก (Un-registered population) เชื่อมโยงกับกลไกการเงินซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในชุมชน เนื่องจากมีสิทธิทางการเงินที่แตกต่างกัน รวมถึงประเด็นแตกต่างตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามจำเพาะของแต่ละช่วงเวลา

5.)ที่ดินที่เป็นสถานที่สร้างศูนย์แพทย์ชุมชนฯ เป็นของวัด (วัดอินทราราม: เจรจากับเจ้าอาวาวสโดยตรง) ตัวอาคารเทศบาลเป็นผู้สร้าง (เจรจากับนายกเทศมนตรีโดยตรง) บุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ต่างๆ อยู่ในความรับผิชอบของกระทรวงสาธารณสุข

อนึ่ง การพัฒนาศูนย์แพทย์ชุมชนฯ อยู่บนพื้นฐานของการให้ความสำคัญกับกับพัฒนาเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกับหน่วยบริการปฐมภูมิต่างๆ และโรงพยาบาล ในบริบทของระบบสุขภาพอำเภอ (District Health System) โดยที่ไม่มีช่องว่าง และไม่มีความซ้ำซ้อน โดยเรียกระบบที่มีคุณลักษณะในลักษณะนี้ว่า ระบบสาธารณาสุขแบบบูรณาการ (Integrated Health System)

3.2 โครงการปฏิรูประบบบริการสาธารสุข (Health Care reform Project) Health Care Reform Project มีความชัดเจนในหลักการ (Principles) ซึ่งประกอบด้วย E (Equity), Q (Quality), E (Efficiency) และ SA (Social Accountability) จังหวัดที่เข้าร่วมประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น สงขลา ยโสธร และพะเยา ทำให้เห็นหลักการใหญ่ของการปฏิรูปที่ไม่ได้กล่าวถึงไว้ในโครงการอยุธยา ซึ่งสามารถพัฒนายุทธศาสตร์มารองรับได้อย่างหลากหลาย ที่นอกเหนือไปจากความสำคัญของการพัฒนาบริการปฐมภูมิให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์เรื่องการปฏิรูปการเงินการคลัง (Health Financing Reform) เนื่องจาก “เงิน” เป็นเรื่องที่ไวต่อความรู้สึก และจับต้องได้ง่าย ดังนั้นการทำให้เงินไม่ใช่อุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการของประชาชน (Financial Accessibility) จึงเป็นเรื่องท้าทายทั้งในเชิงวิชาการและในทางการเมือง

ผลผลิตสำคัญของ Health Care reform Project คือการสะท้อนความเป็นไปได้ของการจัดสรรเงินให้กับ Primary Care ในลักษณะ Capitation และการจัดสรรให้กับผู้ป่วยที่ได้รับการ Admit ที่หน่วยบริการต่างๆ ในลักษณะ DRG

อย่างไรก็ตามยังมีพัฒนาการของกลไกการเงินที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (หลังการเกิดขึ้นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ทั้งพัฒนาการตามความจำเพาะในระดับพื้นที่ พัฒนาการในระดับชาติและนานาชาติ เช่น Pay for Performance, Fee Schedule, Value-based Payment เป็นต้น โดยที่กลไกการเงินดังที่กล่าวมาไม่ใช่อุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการ เป็นไปตามข้อกฎหมาย รวมถึงการเข้าถึงบริการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน (โดยไม่มีการแบ่งแยกสถานะว่าเป็นการสงเคราะห์หรือไม่) เป็นพัฒนาการที่ให้ความสำคัญของคุณค่าของความเป็นบุคคล บนพื้นฐานของการได้รับบริการทีมีคุณภาพ และให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพชีวิตของทุกคน

ด้วยความมุ่งมั่นแน่วแน่อย่างไม่ลดละ นพ.สงวนฯ และทีมงานผู้ปฏิบัติงานในโครงการดังกล่าวข้างต้น ได้สังเคราะห์ความรู้จากการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ภาคสนาม จนสามารถร่างกฎหมายเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ออกมาได้ และเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม นพ.สงวนฯ ได้นำเสนอแนวคิดการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อพรรคการเมือง ต่อมาพรรคไทยรักไทย ได้รับมาเป็นนโยบายของพรรค ภายใต้ชื่อว่า “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค”

ต่อมาพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะการเลือกตั้งใหญ่ จึงได้จัดทำร่างกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบาย ในที่สุด

4.การเกิดขึ้นของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

การเกิดขึ้นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ถือเป็นการปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของ “กลไกการปฏิรูปการเงินการคลัง” และเป็นจุดเริ่มต้นของการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย

4.1พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้ชนชาวไทยย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ และการให้บริการสาธารณสุขของรัฐต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมเท่าที่จะกระทำได้ และมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ด้วยเหตุนี้จึงต้องจัดระบบการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตให้มีการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน โดยมีองค์กรกำกับดูแลซึ่งจะดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อจัดการให้มีระบบการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพทั้งประเทศ และให้ประชาชนชาวไทยมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานด้วยกันทุกคน นอกจากนี้เนื่องจากในปัจจุบันระบบการให้ความช่วยเหลือในด้านการรักษาพยาบาลได้มีอยู่หลายระบบ ทำให้มีการเบิกจ่ายเงินซ้ำซ้อนกัน จึงสมควรนำระบบการช่วยเหลือดังกล่าวมาจัดการรวมกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย ในภาพรวมในด้านสาธารณสุขมิให้เกิดการซ้ำซ้อนดังกล่าว และจัดระบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

4.2 พันธกิจของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นองค์กรของรัฐ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย สปสช. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งมีภารกิจหลักในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และด้วยการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สปสช. จึงได้รับรางวัล ทุนหมุนเวียนดีเด่น จากกระทรวงการคลังมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551

นอกจากนี้ สปสช. ได้พัฒนาโครงสร้างการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระดับพื้นที่ โดยจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อดำเนินงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดด้วยความสัมพันธ์แบบ partnership ในฐานะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาจังหวัด ทั้งนี้เพื่อก้าวไปให้ถึงจุดมุ่งหมายตามวิสัยทัศน์ขององค์กร คือ มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนเข้าถึงด้วยความมั่นใจและผู้ให้บริการมีความสุข

ด้วยความมุ่งมั่นแน่วแน่อย่างไม่ลดละ นพ.สงวนฯ และทีมงานผู้ปฏิบัติงานในโครงการดังกล่าวข้างต้น ได้สังเคราะห์ความรู้จากการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ภาคสนาม จนสามารถร่างกฎหมายเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ออกมาได้ และเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม นพ.สงวนฯ ได้นำเสนอแนวคิดการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อพรรคการเมือง ต่อมาพรรคไทยรักไทย ได้รับมาเป็นนโยบายของพรรค ภายใต้ชื่อว่า “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค”

5.บทสรุป

ความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็นที่ยอมรับและเป็นแบบอย่างของนานาประเทศ นับเป็นบทพิสูจน์ว่าการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องรอคอยให้ประเทศมีฐานะเศรษฐกิจร่ำรวยเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ทุกประเทศสามารถสร้างขึ้นได้ตามบริบทของตน ปัจจัยความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทย โดยสรุปมีองค์ประกอบดังนี้

5.1 พื้นฐานของระบบสุขภาพของไทยมีความเข้มแข็งและมีการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2545 ไทยมีระบบบริการสุขภาพที่เป็นเครือข่ายทั้งของรัฐและเอกชน ประกอบด้วยสถาบันการแพทย์ชั้นสูง โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)ตามเมืองใหญ่ โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.)ในระดับจังหวัด และ โรงพยาบาลชุมชนในระดับอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ทุกตำบล ตลอดจน อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) หนึ่งล้านสี่หมื่นคนที่ผ่านการฝึกอบรมและปฏิบัติงานกระจายอยู่ทุกหมู่บ้านทุกชุมชนทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัว และระบบประกันสังคมที่ดูแลลูกจ้างเอกชน ขณะที่ประชาชนผู้ยากไร้รัฐบาลได้จัดโครงการสวัสดิการประชาชนด้านรักษาพยาบาลสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล(สปร.) เป็นระบบสงเคราะห์ดูแลประชาชนได้บ้างแล้ว

5.2 ความพร้อมทางวิชาการและระบบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน สนับสนุนให้มีระบบการเมืองที่เข้มแข็งเอื้อต่อการปฎิรูปประเทศ ทำให้พรรคไทยรักไทย เห็นชอบกับแนวคิดการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของนักวิชาการ นำโดย นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และได้ประกาศเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ต่อมาหลังชนะการเลือกตั้งใหญ่ จึงได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ออกมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบาย

5.3 ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำให้เกิดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานอิสระต่างจากหน่วยงานในระบบราชการทั่วไป เน้นเป็นหน่วยงานรัฐขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพสูง โดยมี นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นเลขาธิการคนแรก มีทีมงานนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวด้านสุขภาพและสังคม ร่วมกันจัดทำ แผนงาน โครงการ และการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลรูปธรรมเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป

5.4 การยึดแนวคิดการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและร่วมขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มาจากภาคส่วนราชการ เอกชน ประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนักวิชาการ นักการเมือง ดังที่ปรากฎในองค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพทั้งระดับชาติ ระดับเขตพื้นที่ รวมทั้งการมีกลไกร่วมจัดระบบบริการสุขภาพ รับฟังความคิดเห็นและสะท้อนกลับของผู้ป่วยและองค์กรเอกชน

กล่าวโดยสรุป ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ในห้ามิติด้วยกัน คือ มิติทางโอกาส อำนาจ สิทธิ และศักดิ์ศรี ตลอดจน รายได้ แม้ว่า มิติทาง รายได้ไม่ปรากฏชัด แต่สามารถทำให้ครัวเรือนทั่วประเทศลดรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลและพ้นจากสภาวะล้มละลายนับหลายหมื่นครอบครัวในแต่ละปี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการบริหารจัดการงบประมาณของสปสชในภาพรวม ที่ผ่านมา มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอยู่ในระดับเพียง 6% ของงบประมาณแผ่นดินประจำปี และคนไทยมีค่าใช้จ่ายทางสุขภาพทั้งปวงตามสิทธิอื่นๆ เช่น ประกันสังคม ข้าราชการ ตลอดจน การออกค่าใช้จ่ายด้วยตนเองในภาคเอกชน รวมกันแล้วประมาณ เกือบ 6 % ของจีดีพี (ปีละราว 1 ล้านล้านบาท ) ดีกว่าในหลายประเทศทั่วโลก แต่ไม่ว่าจะจัดการมีประสิทธิภาพดีเพียงใด ในระยะยาวไม่อาจแบกรับค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นมากอย่างรวดเร็วในทุกมิติ รวมทั้ง อัตราการเติบโตของประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็ว ถือว่ามีอัตราการเติบโตเป็นอันดับ 3 ในทวีปเอเชีย รองมาจากประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่เศรษฐกิจเราเติบโตต่ำมาก จึงจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ในทุกด้านเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต

อีกทั้ง มีจำเป็นเร่งด่วน ในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ทำงานเชิงรุก อย่างมีคุณภาพมาตรฐานเข้าถึงครัวเรือน และพื้นที่ต่างๆ ในชุมชน ด้วยระบบเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยที่สุด รวมทั้งระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน จะลดค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพลงอย่างมาก นำพาความยั่งยืนของระบบสุขภาพไทยตลอดไป ตราบนานเท่านาน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รางวัลแมกไซไซ 2567 ขบวนการแพทย์ชนบท กับการพัฒนาระบบสุขภาพไทย

หนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ ที่มีบทบาทและชื่อเสียงในสังคมไทยมายาวนาน ที่นับจากก่อตัวมาจนถึงปัจจุบัน ก็มีเส้นทางการทำงานมาถึงห้าทศวรรษแล้ว นั่นก็คือ”ชมรมแพทย์ชนบท”

'ขบวนการแพทย์ชนบทไทย' คว้ารางวัลแมกไซไซ ปี67 ยกย่องแพทย์หนุ่มสาว เชื่อมั่นพลังปฏิรูประบบสุขภาพ

ขบวนการแพทย์ชนบท(RURAL DOCTORS MOVEMENT) คว้ารางวัลแมกไซไซ ประจำปี2567 ยกย่องชื่นชมแพทย์หนุ่มสาวที่ทำงานในชนบทมาร่วม 50 ปี และเชื่อมั่นเป็นพลังขับเคลื่อนปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนไทย ประสบผลสำเร็จ พร้อมขยายผลแลกเปลี่ยนเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีวัฒนธรรมชุมชนเดียวกัน

'หมอชูชัย' ชงยุทธศาสตร์แก้ PM2.5 หนุน HIA สร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น ภาคธุรกิจร่วมรับผิดชอบ

'หมอชูชัย' ชี้ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่สำคัญ เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เสนอยุทธศาสตร์สนับสนุน HIA สร้างความเข้มแข็งอบจ.และชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ เรียกร้องภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบพัฒนาอย่างยั่งยืน

8 ปัจจัยที่เอื้อต่อผลสำเร็จ ในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ของระบบสุขภาพไทย

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท เจ้าของรางวัลผู้นำสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยแพร่บทความเรื่อง 8 ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนของระบบสุขภาพไทย มีเนื้อหาดังนี้