ขบวนการแพทย์ชนบท(RURAL DOCTORS MOVEMENT) คว้ารางวัลแมกไซไซ ประจำปี2567 ยกย่องชื่นชมแพทย์หนุ่มสาวที่ทำงานในชนบทมาร่วม 50 ปี และเชื่อมั่นเป็นพลังขับเคลื่อนปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนไทย ประสบผลสำเร็จ พร้อมขยายผลแลกเปลี่ยนเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีวัฒนธรรมชุมชนเดียวกัน
31ส.ค.2567 - เมื่อวันที่31 ส.ค.2567 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ มูลนิธิรามอนแมกไซไซ ได้ทำพิธีประกาศ มอบรางวัลรามอนแมกไซไซ ให้กับผู้ได้รับรางวัลจากประเทศต่างๆในเอเชีย 5 ประเทศ กับ หนึ่งองค์กร คือ ขบวนการแพทย์ชนบท จากประเทศไทย จะมีพีธีมอบรางวัลในกลางเดือนพฤศจิกายน ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ รางวัลแมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award) เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้มีผลงานดีเด่นต่อมนุษยชาติในทวีปเอเชีย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น Nobel Peace Prize of Asia เริ่มให้รางวัลตั้งแต่ปี 1957 เพื่อระลึกถึงคุณความดีและความตั้งใจของประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซ แห่งประเทศฟิลิปปินส์
ในปี 2024 ซึ่งเป็นการมอบรางวัลเป็นครั้งที่ 66 นั้น มูลนิธิรางวัลแมกไซไซได้คัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่นเข้ารับรางวัลจำนวน 5 ท่านได้แก่ Karma Phuntsho จากภูฏาน Miyazaki Hayao จากญี่ปุ่น Nguyen Thi Ngoc Phuong จากเวียดนาม Farwiza Farhan จากอินโดนีเซีย และขบวนการแพทย์ชนท จากประเทศไทย
ขบวนการแพทย์ชนบทกับการขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง 48 ปี ด้วยกลไกสำคัญ 3 กลไกของขบวนการแพทย์ชนบทคือ ชมรมแพทย์ชนบท มูลนิธิแพทย์ชนบท และกลุ่มสามพราน ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ที่สากลยอมรับคือการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย และการเฝ้าระวังป้องกันการคอร์รับชัน
ประเทศไทยมีบุคคลหรือองค์กรรับรางวัลแมกไซไซแล้วจำนวน 24 ท่าน/องค์กร และขบวนการแพทย์ชนบทเป็นรายที่ 25 สำหรับรางวัลอันทรงคุณค่านี้
นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท เจ้าของรางวัลผู้นำด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เปิดเผยถึงผู้นำขบวนการแพทย์ชนบท คว้ารางวัลรามอนแมกไซไซ 2024 ว่า เมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นาง SUSANNA B. AFAN ประธานคณะกรรมการรางวัลแมกไซไซ ได้โทรศัพท์แจ้งผลการพิจารณาและกล่าวแสดงความยินดี ยกย่องชื่นชมแพทย์หนุ่มสาวที่ทำงานในชนบทมาร่วม 50 ปี โดยได้สร้างผลงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเกิดในประเทศอื่นๆ ตนได้กล่าวขอบคุณกลับไป โดยเห็นว่ารางวัลแมกไซไซ ในปีนี้ได้มอบให้ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน และผู้สนับสนุนที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์แพทย์อีกจำนวนมาก ตลอดจนบุคลากรด้านสุขภาพและอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศ รางวัลแมกไซไซเป็นพลังที่เรียกกันว่า ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นพลังขับเคลื่อน สร้างแรงบันดาลใจครั้งสำคัญให้การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนไทย ประสบผลสำเร็จได้ในอนาคตอันใกล้
นายแพทย์ชูชัย กล่าวต่อว่า ประธานคณะกรรมการรางวัลแมกไซไซ ยังได้กล่าวยกย่องชื่นชมสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่เคยได้รับรางวัลแมกไซไซในปี 1991 (พ.ศ.2534) ซึ่งตนได้บอกไปว่า พระองค์ท่านยังทรงงานอยู่เพื่อคนไทยและเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย และยัง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไปว่ามูลนิธิแพทย์ชนบทยังประสานการทำงานกับ ศาสตราจารย์กฤษณา ไกรสินธุ์ เจ้าของรางวัลแมกไซไซ ปี 2552 ในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ได้แนะนำให้ตนลงไปดูงานในพื้นที่สามชายแดนใต้ที่ผลิตยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรคุณภาพสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ อีกทั้งช่วยสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วย และเป็นการสร้างความมั่นคงในพื้นที่อย่างแท้จริง
“ศาสตราจารย์กฤษณาฯ เป็นบุคคลต้นแบบหรือ role model ของผมด้วย” นายแพทย์ชูชัย กล่าว
เมื่อถามว่าใครหรือองค์กรใดเป็นผู้เสนอชื่อ ขบวนการแพทย์ชนบท ในปี2567จนได้รับรางวัลดังกล่าว นายแพทย์ชูชัย กล่าวว่า เท่าที่ทราบน่าจะมีผู้เสนอมากกว่าสองแหล่งและเรื่องนี้คณะกรรมการพิจารณารางวัลแมกไซไซ ขอปิดเป็นความลับ
นายแพทย์ชูชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสำหรับรายละเอียดของการดำเนินงานของขบวนการแพทย์ชนบทที่ผ่านมาเกือบห้าทศวรรษ สามารถค้นหาได้ในเพจ ติดตามการปฏิรูปประเทศกับหมอชูชัย เพจมูลนิธิแพทย์ชนบท เว็บไซต์(website), เว็บไซต์ สสส.,เว็บไซต์ สปสช. เว็บไซต์ สช. เว็บ ไซต์ มสช. ตลอดจน เพจ ชื่อ ชุมชนสุขภาพปฐมภูมิ และ เว็บไซต์ ชื่อระบบสุขภาพปฐมภูมิ ทั้งฉบับภาษาไทย และอังกฤษ มีดังนี้
1.ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง : วัฒนธรรมองค์กรของระบบสุขภาพไทย เอื้อต่อ การสร้างและพัฒนาเครือข่ายแพทย์ชนบท
2.ขบวนการแพทย์ชนบท: การถือกำเนิดและจัดตั้งสสส.
3.ขบวนการแพทย์ชนบท : การเกิดขึ้นของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
4.ขบวนการแพทย์ชนบท: การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน
5.ห้าทศวรรษของขบวนการแพทย์ชนบทไทย: จากพัฒนาระบบสุขภาพในชนบท สู่ การปฏิรูประบบสุขภาพและประเทศ
นอกจากนี้ ทางมูลนิธิแพทย์ชนบท กำหนดให้มีการจัดงานเปิดตัวหนังสือชีวประวัติของศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ธีระ รามสูต ในวันที่ 4 กันยายน 2567 เวลา 12.00 – 15.30 น. ณ ห้องประชุม 110 ชั้น 1 อาคาร 100 ปีการสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติยศ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ เป็นประธาน กล่าวมุทิตาจิต เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูคุณงามความดีและสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลากรสาธารณสุขในการมุ่งมั่นร่วมกันปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ต่อไป จึงขอเชิญชวนสื่อมวลชนที่สนใจเข้าร่วมงานดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พิชัย' โอ่เสน่ห์ซอฟต์พาวเวอร์ไทยในงาน CIIE ที่จีน
'พิชัย' เปิด Thailand Pavilion ยกทัพเอกชน โชว์เสน่ห์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ในงาน CIIE ที่จีน ชวนคนทั่วโลกเป็นลูกค้าประจำของสินค้าไทยใช้แล้วติดใจ!
ไทยติด TOP 8 ประเทศร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลสำเร็จการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นยกระดับศักยภาพของคนไทยและทุนทาง
'หมูเด้ง' พรีเซนเตอร์ลอยกระทง วธ.จับมือสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ดันวัฒนธรรมสู่ระดับโลก
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เปิดตัวโครงการส่งเสริม Thai Cultural Content for Soft Power Presented by Moo Deng
นายกฯอิ๊งค์ ควง 'เศรษฐา' สวมชุดอินเดีย เปิดงานดิวาลี 2024 ชูเป็นซอฟต์พาวเวอร์
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สวมชุดสไตล์อินเดีย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Amazing Thailand Diwali Festival Bangkok 2024
อุ้ย! อดีตบิ๊กศรภ. บอกแบ่งงบซอฟต์พาวเวอร์แจก ’หมูเด้ง’ บ้าง จะได้มีผลงาน
อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ แนะนำเงิน Soft power จำนวนมหึมา ของนายก อุ๊งอิ๊ง นั้นควรแบ่งมาแจกให้ 'น้องหมูเด้ง'