ไขข้อข้องใจ! ความดันสูงกับ 'ความดันกลางคืน' สำคัญอย่างไร

22 ก.ค. 2567 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ความดันสูงและความดันตอนกลางคืนสำคัญอย่างไร

ความดันสูงระยะยาวมีผลเสียต่ออวัยวะในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงของเส้นเลือดตีบในสมอง ความจำเสื่อม โรคหัวใจ และโรคไต

ทั้งนี้สูงคือสูงเท่าไหร่ สูงเกิน 130 ในตัวบน (systolic) และเกิน 80 ในตัวล่าง (diastolic) ซึ่งเมื่อสูงนานๆ ผนังหลอดเลือดได้รับการบาดเจ็บ ร่วมกับปัจจัยอื่นเช่น ไขมันสูง การอักเสบในร่างกาย และเลือดข้น เช่นจากการสูบบุหรี่ ทำให้ผนังค่อยๆ ตีบ จากการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน การเกาะของไขมัน รอยแผลเป็นและแคลเซียม สุดท้ายเส้นเลือดใหญ่ตันและอวัยวะเสียหายจากการขาดเลือด

นอกจากนั้น การที่ความดันสูงต่อเนื่องทำให้เส้นเลือดฝอยเล็กๆ ในสมองเสียหาย เพิ่มความเสี่ยงความจำเสื่อม เรื่องกล้ามเนื้อหัวใจก็เพิ่มภาระการบีบตัวเนื่องจากต้องสู้กับความดันที่สูง ทำให้หัวใจโต ยังสร้างความเสียหายให้กับส่วนกรองของไต (glomerulus) อีกด้วย

แต่หลังอ่านแล้ว ถ้าค่าเกินก็อย่าเพิ่งตกใจ ไม่ใช่เรื่องด่วน ค่อยนัดแพทย์ตามคิวได้ ยกเว้นเมื่อความดันสูงเกิน 180 ถึงต้องไปหาแพทย์ทันที โดยเฉพาะถ้ามีปวดศีรษะ ตามัว คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยหอบ ปัสสาวะไม่ออก ถือว่าเป็นฉุกเฉิน

จึงเป็นที่มาของความสำคัญในการควบคุมให้ดี แต่การวัดความดันนั้นถูกรบกวนได้จากหลายสาเหตุ ฉะนั้นต้องคำนึงถึงว่าอะไรมากวน ทำให้ค่าไม่ตรงได้บ้างเช่น การสูบบุหรี่ เครื่องดื่มคาเฟอีน หรือออกกำลังกาย ภายใน 30 – 60 นาที ก่อนวัด อาจทำให้ค่าสูงเกินจริง หรือตื่นเต้น ก็ทำให้สูงขึ้นได้เช่นกัน

ฉะนั้นการวัดที่โรงพยาบาลหรือคลินิก (office blood pressure) จะต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กล่าวมา แต่ในบางคนก็อดตื่นเต้นไม่ได้จริงๆ เป็นที่มาของภาวะความดันโลหิตที่วัดในคลินิกสูง (white coat hypertension) แต่วัดที่บ้านปกติ มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกพอสมควร แต่เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีการแนะนำให้วัดที่บ้าน (home blood pressure) หรือยิ่งดีคือใช้เครื่องวัดแบบ 24 ชั่วโมง (ambulatory blood pressure) แต่ทำได้จำกัด เนื่องจากเครื่องมีราคาแพง

การวินิจฉัยความดันสูง เริ่มจาก ถ้าพบว่าความดันที่สถานพยาบาลตัวใดตัวหนึ่ง เกิน 130/80 จะต้องยืนยันโดยการวัดความดันที่บ้าน ถ้าความดันที่บ้านเกิน 130/80 สามารถวินิจฉัยเป็นความดันสูงได้ แต่ถ้าไม่เกิน อาจจะเป็นภาวะความดันโลหิตที่วัดในคลินิกสูง และแนะนำให้ใช้เครื่องวัดแบบ 24 ชั่วโมง

กรณีถ้าพบความดันตัวใดตัวหนึ่ง เกิน 180/120 ที่สถานพยาบาล สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุ ตรวจและรักษาได้เลย หรือถ้าพบความดันตัวใดตัวหนึ่งเกิน 160/100 และมีหลักฐานว่ามีความเสียหายต่ออวัยวะในร่างกายที่เกิดจากความดันแล้วก็ สามารถวินิจฉัยได้เลยเช่นกัน

ส่วนคนที่เป็นความดันสูงแล้วกินยาอยู่ก็จำเป็นที่จะต้องกินต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ระดับที่กล่าวไว้ ในกรณีที่อายุมากและมีความเสี่ยงล้ม เกณฑ์อาจจะหลวมลงไม่จำเป็นให้ต่ำถึง 130/80 ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กันวิจารณญาณของแพทย์

มาที่การวัดที่บ้านก่อน เนื่องจากหลายๆ ท่านคงมีเครื่องวัดอยู่แล้ว ก่อนจะวัดทุกครั้งให้นั่งสบายๆ และวัดโดยไม่ได้มีอะไรมาคลุมแขนที่จะวัด ระหว่างวัด ไม่เกร็งและไม่พูดคุย แนะนำให้วัดหลังตื่นนอนก่อนกินข้าวหรือยา และอีกครั้งตอนค่ำๆ ให้วัดเวลาใกล้เคียงเดิมทุกวัน ถ้าวัดออกมาแล้วค่าดูผิดจากปกติ ให้วัดซ้ำทั้งหมด 3 รอบ ห่างกัน 1 – 2 นาที

ส่วนเครื่องวัดแบบ 24 ชั่วโมง จริงๆ ดีที่สุด เพราะสามารถวัดช่วงนอนได้ด้วย และใช้ค่าความดันเฉลี่ยของทั้งวัน ข้อเสียคือเครื่องมีราคาแพง หาไม่ได้ทั่วไปและอาจจะสร้างความรำคาญได้ เวลาถูกผูกไว้กับตัว ฉะนั้นใช้เวลาวินิจฉัยหรือเวลาจะปรับยาเท่านั้น นอกจากความแม่นยำแล้ว การที่สามารถดูค่าความดันตอนกลางคืน มีประโยชน์ในการแนะนำความเสี่ยงของโรคทางกายที่เกิดจากความดัน ตามปกติแล้ว ความดันเวลานอนจะต่ำกว่าช่วงกลางวันประมาณ 10 – 20% เรียกว่าความดันโลหิตลดในช่วงหลับ (nocturnal dip) และสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตอนตื่นนอน อันนี้เป็นปกติของมนุษย์ (physiologic)

แต่การศึกษาหลายการศึกษา พบว่าคนที่ไม่มีความดันโลหิตลดในช่วงหลับ เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่ากลุ่มที่มีความดันโลหิตลดในช่วงหลับหลายเท่า และช่วงที่ความดันขึ้นในตอนเช้าซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่อเส้นเลือดสมองหรือหัวใจจะมีปัญหา โดยจะมีปัญหาในคนไข้ที่เป็นความดันอยู่แล้ว เพราะยาความดันมักจะกินตอนเช้า และฤทธิ์อาจจะไม่ครอบคลุมถึงตอนตื่นนอนอีกวัน

ทีนี้ก็คงคิดว่าง่ายนิดเดียว ก็แบ่งยาความดันไปกินตอนเย็นหรือก่อนนอนสิ ปัญหาคือถ้าให้แบบที่กล่าว แต่คนไข้ยังมีความดันโลหิตลดในช่วงหลับตามปกติซึ่งอาจจะมากถึง 20% แล้วยังไปให้ยาความดัน คนไข้อาจจะเสี่ยงความดันต่ำจนเกินไป และมีผลต่อการสูบฉีดเลือด ไม่ว่าจะไปที่สมอง หัวใจ หรือจอประสาทตา จึงเป็นความสำคัญอย่างหนี่งของเครื่องวัดแบบ 24 ชั่วโมง เพื่อให้การปรับและเลือกยาได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

สุดท้ายยาความดันไม่ใช่ทุกคนต้องกินตลอดชีวิต บางท่านถ้าปรับเปลี่ยนชีวิตได้อย่างดี ลดน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอก็มีโอกาสลดและอาจจะหยุดยาได้ ส่วนคนที่ไม่เคยวัดความดัน แนะนำวัดปีละ 1 ครั้งนะครับ หรือบ่อยกว่าก็ได้ หรือทุก 6 เดือน ถ้าน้ำหนักเกินหรือก่อนหน้านี้ความดันอยู่ที่ 120 – 129 ด้วยความเป็นห่วงครับ

สรุปรวบรวมเรียบเรียงจาก นพ.ภาสิน เหมะจุฑา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดผลวิจัยอเมริกา 'ออกกำลังกาย' เวลาไหนดีกว่ากัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเด็นร้อน.. ออกกำลังเช้า หรือบ่าย-เย็น ดีกว่ากัน

”ศุภมาส” ประกาศเจตจำนงค์ในการปฏิวัติการป้องกันและจัดการโรคหัวใจและหลอดเลือดเชิงรุก

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ The Annual Meeting of International Conference on Gnomics (ICG - 19) จัดโดย BGI Genomics

'หมอธีระวัฒน์' เทียบผลกระทบวัคซีน 'แอสตร้า' กับ วัคซีนตัดต่อพันธุกรรม เท่ากับเด็กประถม

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์พิเศษสาขาประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า