15 ก.ค.2567 - นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท เจ้าของรางวัลผู้นำสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยแพร่บทความเรื่อง 8 ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนของระบบสุขภาพไทย มีเนื้อหาดังนี้
นับเป็นเรื่องที่น่ายกย่องชื่นชมที่ ผู้บริหารระดับสูง ของกระทรวงสาธารณสุข ในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ได้จัดทำโครงการในพื้นที่ทดลองโดยมีเป้าหมายสุขภาพดีถ้วนหน้าของประชาชน โดยเฉพาะผู้คนในชนบทในถิ่นทุรกันดาร หรืออาศัยอยู่ตามหัวไร่ปลายนา ไปจนสุดเขตแดนสยาม หากเป็นสมัยปัจจุบัน อาจเรียกว่า SANDBOX MODELS ดังเช่น การเกิดขึ้นของ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อมีนโยบายออกมา ได้จัดทำร่างพรบ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เตรียมไว้พร้อม ออกมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการจนประสบผลสำเร็จ ได้รับการกล่าวขานไปทั่วโลก
หรือ ในกรณี พัฒนาระบบสาธารณสุขมูลฐาน จนได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก เป็นแบบอย่างของประเทศอื่นๆ จึงจำต้องบันทึก ณ ที่นี้ว่า นายแพทย์อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้วางรากฐานงานสาธารณสุขมูลฐาน สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักการและแนวคิดให้แก่บุคลากรด้านสุขภาพ และอสม. ทั่วประเทศ ต่อมาได้แสดงบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้คนที่อาศัยบนแผ่นดินไทยทั่วประเทศกว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งล่าสุด ในสถานการณ์วิกฤตการระบาดโรคโควิดที่ผ่านมา ที่สังคมไทยได้แลเห็นศักยภาพของอสม. หนึ่งล้านสี่หมื่นคนทั่วประเทศ จนนักเลือกตั้งบางพรรคการเมืองพยายามนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของพรรคตน จึงเป็นการบิดเบือนและทำลายเจตนารมณ์ของระบบสาธารณสุขมูลฐาน
หรือ การพัฒนาระบบงานระบาดวิทยาที่ได้มาตรฐานในระดับสากล มีการผลิตหมอนักระบาดวิทยาภาคสนาม โดยกระทรวงสาธารณสุข มากว่าสี่ทศวรรษ ได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างระบบความมั่นคงด้านสุขภาพ health security จนได้รับการจัดอันดับ health security ดีเป็นอันดับ 6 ของโลก ทั้งนี้ จากการประเมินของ Johns Hopkins ผู้บุกเบิกหรือผู้ที่ควรได้รับการยกย่องว่า เป็นบิดาของระบบงานระบาดวิทยาไทย ได้ทุ่มเททำงานอย่างเสียสละที่หาได้ยากยิ่ง ได้อุทิศตนโดยไม่ได้คำนึงถึงความก้าวหน้าใดๆในทางราชการ คือ นายแพทย์สุชาติ เจตนเสน เป็นผู้วางรากฐานระบบเฝ้าระวัง และควบคุมโรค ของกระทรวงสาธารณสุข และวงการสุขภาพไทย
ในกรณี ระบบสุขภาพปฐมภูมิก็เช่นกัน ได้มีความพยายามสร้างและพัฒนาพื้นที่ทดลองเพื่อหาต้นแบบของการบริการสุขภาพปฐมภูมิ เกิดขึ้นอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ ภายใต้ “โครงการพัฒนาเวชปฏิบัติครอบครัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา” หรือ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ มีการจัดทำโครงการ “คลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster: PCC) แต่อาจเป็นเพราะในช่วงเวลาดังกล่าว โครงสร้าง และระบบ หรือปัจจัยต่างๆ ยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาระบบปฏิรูปปฐมภูมิ การดำเนินงานจึงหยุดชะงัก
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ระบาดโควิด เป็นวิกฤตที่สร้างโอกาส ให้สังคมไทยเข้าใจระบบสุขภาพเชิงรุก เข้าไปในครัวเรือน ทุกพื้นที่ของชุมชน สังคมไทยคุ้นเคยกับคำว่า “…Home Isolation (การกักตัวผู้ติดเชื้ออยู่ที่บ้าน) หรือ Community Isolation (การกักตัวผู้ติดเชื้อในชุมชน)…” โดยทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ สปสช. สามารถจัดสรรงบประมาณลงไปที่ครัวเรือน ที่ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก่อนหน้านั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดขัดระบบงบประมาณทางราชการที่ต้องเบิกจ่ายภายใต้โครงสร้างของรัฐ และในเวลาต่อมา เมื่อมีพรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ทำให้เกิดการปฏิรูประบบการจัดสรรงบประมาณลงไปที่ครัวเรือน และพื้นที่ในชุมชน ดังคำกล่าวของ นายแพทย์จเด็ด ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ว่า
“…พรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ทำให้ ทางสปสช.สามารถจัดสรรงบประมาณให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิอย่างมีประสิทธิภาพ…”
และนับเป็นโอกาสของ ทางมูลนิธิแพทย์ชนบทได้ร่วมกับ ชมรมแพทย์ชนบท ปฏิบัติการเชิงรุกใน สอง รูปแบบตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กร กล่าวคือ
ทางมูลนิธิแพทย์ชนบท โดยนายแพทย์วิชัย อัศวภาคย์ นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ กรรมการมูลนิธิฯ และนายแพทย์สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ เลขาธิการมูลนิธิฯ ได้ทำการประสานงาน จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ส่งไปในพื้นที่ที่กำลังระบาดหนัก เช่น หน้ากากแรงดันลบและแรงดันบวก ที่ออกแบบและผลิตโดยทีมวิศวกรของฮอนด้า ทั้งหมด 2,000 เครื่อง รวมมูลค่ากว่า 78 ล้านบาท ให้แก่ มูลนิธิแพทย์ชนบท เพื่อกระจายต่อไปยังโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 348 แห่งทั่วทุกภาคของประเทศ โดยกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย นำโดย นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการกองทุนฯ และนายวรพจน์ พรประภา กรรมการกองทุน
รวมทั้งการสนับสนุนการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่เดิม ให้มีความพร้อมมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลางและใหญ่ ให้เป็นอาคารแยกโรคติดเชื้อ จำนวน 35 โรงพยาบาล เพื่อสกัดกันผู้ติดเชื้อโควิดและลดภาระการส่งต่อไปโรงพยาบาลทั่วไปในจังหวัด โดยการสนับสนุนจาก คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด
สำหรับทางชมรมแพทย์ชนบท ได้ปฏิบัติการเชิงรุกการระดมฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากกระบวนการควบคุมโรคในกรุงเทพฯ นั้นทำได้ยาก สิ่งที่ขาดหายไปจากเมืองใหญ่แห่งนี้คือ “ระบบสุขภาพปฐมภูมิ” ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบสุขภาพ
การทำงานเชิงรุกของชมรมแพทย์ชนบทได้รับการกล่าวขานด้วยความชื่นชมจากผู้คนทั่วประเทศ โดยเฉพาะเขตชุมชนแออัด ในกทม.และปริมณฑล การปฏิบัติการเชิงรุก นำโดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบทคนปัจจุบัน รวมทั้ง อดีตประธานชมรมแพทย์อีก สี่ท่าน คือ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ร่วมกันตรวจสอบหาเชื้อเชิงรุกได้ถึง 42 เขตในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบที่มีการระบาดสูงในพื้นที่จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี คาดว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สลัมในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ จำนวน 192,905 คน ได้รับการตรวจชุดทดสอบแอนติเจน ผล ATK พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 22,451 ราย คิดเป็นร้อยละ 11.64 ทำให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที รวมถึงควบคุมและป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที
เส้นทางแห่งพัฒนาการของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ตลอดจน เหตุปัจจัยดังกล่าวข้างต้น นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบันสมัย จึงอาจกล่าวได้ว่า มีปัจจัยที่อาจเอื้อต่อความสำเร็จในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนของระบบสุขภาพไทย มีดังนี้
1.รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 : หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ช. ด้านอื่น ๆ (5) ให้มี(การปฏิรูป) ระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาตร์ของวงการสุขภาพไทย ที่บัญญัติการปฏิรูประบบการแพทย์ปฐมภูมิไว้ในรัฐธรรมนูญ
2.พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ออกมาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รวมทั้ง พระราชบัญญัติพระราชบัญญัติ กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2554 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 เป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการปฏิรูป
3.นโยบายถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) : รพสต.เป็น กลไกที่สำคัญในระบบสุขภาพปฐมภูมิ อยู่ใกล้ชิดชุมชนมากที่สุด องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) จะดำเนินการสนองตอบต่อปัญหาสุขภาพรวมทั้งต่อความทุกข์ยากของผู้ออกเสียงลงคะแนน(voters)และสุขภาพของชุมชนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจและผลที่เกิดขึ้นจริงตามที่ปรากฏในประเทศต่างๆทั่วโลก
4.ปฏิรูประบบจัดสรรงบประมาณจากสถานบริการของรัฐ(hospital-based)ไปสู่ ครัวเรือนและชุมชน (home and community-based care / services )โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
5.ระบบการสื่อสารสาธารณะ(Public Communication) ที่สามารถทำการสื่อสารสาธารณะผ่านทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์(Social Media: Website, Pages)มีเว็บไซต์ปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน เชื่อมลิ้งค์ไปยังเว็บไซต์และเพจมูลนิธิแพทย์ชนบท เพจติดตามการปฏิรูปประเทศกับหมอชูชัย เพจเครือข่ายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพจเครือข่ายสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เพจองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เทศบาล และอบต. ในขอบข่ายทั่วประเทศ ตลอดจน สื่อกระแสหลัก เช่น TBPS ,TNN16, PPTV36, ไทยรัฐ, ไทยโพสต์, อื่นๆ
6.การจัดสมัชชาสุขภาพ สมัชชาพลเมือง ระดับจังหวัด เพื่อสร้างความเข้าใจในสังคม จนเห็นคุณค่าและร่วมในการขับเคลื่อน(social understanding, social values, social mobilization) การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมาย สมัชชาสุขภาพ หรือ สมัชชาพลเมืองระดับจังหวัดใน 15 จังหวัดภายในปี พ.ศ.2567
7.ระบบเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยที่สุด(5G) TELEMEDICINE, TELEHEALTH และระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์ (อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน และทันสมัยสามารถทำการตรวจอัตโนมัติ หรือ ชุดตรวจด้วยตนเองฯ) ที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพและมาตรฐาน
8.ระดมทุนบริจาค จากคนเล็กคนน้อยทั่วประเทศ ผ่านร้าน 7-11 และเครือข่าย ทั้งนี้เพราะในช่วงวิกฤตการระบาดโควิด ทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ใช้เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ รับเงินบริจาคไปช่วยเหลือโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ตลอดจน อสม.ในพื้นที่ระบาดหนัก สามารถคลี่คลายสถานการณ์ลงไปได้มาก
หากมีการสนับสนุนต่อเนื่องในการดำเนินงานปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ในลักษณะเดียวกัน จะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนทั่วประเทศครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์วงการสุขภาพไทยเลยทีเดียว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อดีตปธ.กมธ.คมนาคม' บี้ถอดบทเรียนบัสมรณะ เร่งสร้างจิตสำนึกคนขับ-เข้มใช้กม.
'อดีตปธ.กมธ.คมนาคม' ชี้รายงานWHO ไทยครองอันดับ 1 อาเซียน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และอันดับ 9 ของโลก สาเหตุหลักคนขับรถประมาท แนะรัฐบาลถอดบทเรียนโศกนาฏกรรมบัสมรณะ
ขบวนการแพทย์ชนบท : การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบทและอดีตเลขาธิการแพทยสภา นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยแพร่บทความ เรื่อง ขบวนการแพทย์ชนบท : การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีเนื้อหาดังนี้
รางวัลแมกไซไซ 2567 ขบวนการแพทย์ชนบท กับการพัฒนาระบบสุขภาพไทย
หนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ ที่มีบทบาทและชื่อเสียงในสังคมไทยมายาวนาน ที่นับจากก่อตัวมาจนถึงปัจจุบัน ก็มีเส้นทางการทำงานมาถึงห้าทศวรรษแล้ว นั่นก็คือ”ชมรมแพทย์ชนบท”
เปิดผลสอบ 'ฝีดาษลิง' ธรรมชาติรังสรรค์ หรือมนุษย์ประดิษฐ์!
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "การสอบสวนฝีดาษลิงธรรมชาติสร้างสรรค์หรือมนุษย์ประดิษฐ์"
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง : วัฒนธรรมองค์กรของระบบสุขภาพไทย เอื้อต่อการสร้างและพัฒนาเครือข่ายแพทย์ชนบท
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง : วัฒนธรรมองค์กรของระบบสุขภาพไทย เอื้อต่อการสร้างและพัฒนาเครือข่ายแพทย์ชนบท นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์
'ขบวนการแพทย์ชนบทไทย' คว้ารางวัลแมกไซไซ ปี67 ยกย่องแพทย์หนุ่มสาว เชื่อมั่นพลังปฏิรูประบบสุขภาพ
ขบวนการแพทย์ชนบท(RURAL DOCTORS MOVEMENT) คว้ารางวัลแมกไซไซ ประจำปี2567 ยกย่องชื่นชมแพทย์หนุ่มสาวที่ทำงานในชนบทมาร่วม 50 ปี และเชื่อมั่นเป็นพลังขับเคลื่อนปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนไทย ประสบผลสำเร็จ พร้อมขยายผลแลกเปลี่ยนเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีวัฒนธรรมชุมชนเดียวกัน