ตรวจสุขภาพประจำปี”มอบคุณภาพชีวิตที่ดีทุกช่วงวัย

การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ นับเป็นหัวใจสำคัญของการเดินหน้าไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี “การตรวจสุขภาพประจำปี” จึงเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมาย โดยการตรวจสุขภาพสามารถทำได้ในทุกช่วงวัย ทั้งการตรวจทั่วไป และการตรวจในผู้ที่มีความเสี่ยง ซึ่งการตรวจสุขภาพมีข้อดีอย่างมากในการช่วยวินิจฉัยโรคบางโรค ที่อาจจะไม่แสดงอาการผิดปกติ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เป็นต้น  เพื่อความรู้และความเข้าใจที่ครบถ้วน เกี่ยวกับความสำคัญของการตรวจสุขภาพ ทั้งในแง่ของประโยชน์ในการตรวจสุขภาพ รวมไปถึงความเหมาะสมของการตรวจสุขภาพของบุคคลในแต่ละช่วงวัย

นพ.วีรยุทธ ตะโนรี แพทย์เฉพาะทางด้านเวชปฎิบัติทั่วไป ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลนวเวช ให้ข้อมูลว่า “ การตรวจสุขภาพประจำปี สามารถแบ่งการตรวจตามช่วงอายุได้ 4 กลุ่ม “กลุ่มที่ 1 วัยเด็ก” จะเน้นไปทางการเจริญเติบโต พัฒนาการ ตลอดจนการฉีดวัคซีน ซึ่งจะประเมินโดยกุมารแพทย์ ส่วน “กลุ่มที่ 2 ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์” สำหรับการตรวจสุขภาพกับสูตินรีแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพของแม่ และทารกในครรภ์ให้แข็งแรงจนกระทั่งถึงเวลาคลอด ขณะที่ “กลุ่มที่ 3 วัยทำงานหรือวัยผู้ใหญ่” การตรวจสุขภาพประจำปีในกลุ่มวัยทำงาน คือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18-60 ปี จะเป็นการตรวจสภาพของร่างกาย เพื่อค้นหาโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในร่างกาย จะแบ่งการตรวจเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1.การตรวจสุขภาพทั่วไป เพื่อค้นหาโรคที่เกิดขึ้นที่ยังไม่แสดงอาการ โดยขั้นตอนการตรวจสุขภาพนั้น ประกอบด้วย การวัดความดันโลหิต การวัดชีพจร การวัดอัตราการหายใจ วัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก การตรวจเลือด (ได้แก่ ระดับน้ำตาล ระดับไขมัน การทำงานของไต การทำงานของตับ เป็นต้น) การตรวจเอ็กซเรย์ทรวงอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง การตรวจปัสสาวะ เป็นต้น นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพยังครอบคลุมถึงการแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนต่างๆ ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคลด้วย

2.การตรวจสุขภาพเพื่อตรวจตามปัจจัยเสี่ยง การตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษอื่นๆ เพื่อหาโรคที่มีโอกาสเกิดได้มากกว่าบุคคลทั่วไป เนื่องจากปัจจัยดังต่อไปนี้ 2.1ประวัติทางสุขภาพในอดีต 2.2 ประเภทของงานและลักษณะงานที่ทำ 2.3 โรคประจำตัวในครอบครัว 2.4 โรคมะเร็งในครอบครัว โดยการตรวจจะใช้เครื่องมือพิเศษอื่นๆ เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็ง ด้วยอัลตร้าซาวด์, ส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้, CT Scan, MRI, แมมโมแกรม, การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง และการทดสอบสมรรถภาพหัวใจโดยการเดินสายพาน เป็นต้น

ส่วนการตรวจสุขภาพใน “กลุ่มที่ 4 ผู้สูงอายุ” กลุ่มผู้สูงอายุ คือ อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมีความเสื่อมถอยลงไป เช่น การตรวจการได้ยิน, การตรวจตา, การตรวจมวลกระดูก เป็นต้น

ทั้งนี้ประโยชน์ของการตรวจสุขภาพ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บริการตรวจแก่ผู้ที่ยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆ หรือมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาการแสดงไม่ชัดเจน นอกจากนี้โรคบางโรคอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ เลย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในหลอดเลือด โรคไตเสื่อมในระยะเริ่มต้น โรคตับอักเสบ โรคหัวใจ และ โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น เพราะฉะนั้น การตรวจสุขภาพจึงช่วยวินิจฉัยและรักษาโรคบางโรคได้ในระยะเริ่มต้น เพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค ทำให้ได้ผลในการรักษาที่ดี ลดความรุนแรง ภาวะแทรกซ้อน หรือความพิการต่างๆ ที่อาจเกิดจากโรคบางโรคได้ ซึ่งนอกจากการตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษดังที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อค้นหาโรคที่ยังไม่แสดงอาการ หรือติดตามความเสื่อมถอยของอวัยวะนั้นๆ นอกจากนี้ ควรมีการตรวจตา และตรวจการได้ยินเพิ่มเติมอีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอกชนแนะ สร้าง Ecosystem ด้านสุขภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลาง Medical Hub ของอาเซียน

ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ผ่านการพัฒนา Ecosystem ด้านสุขภาพที่ครบวงจร ซึ่งไม่เพียงส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่ยังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ