22 มี.ค. 2567 - นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่บทความเรื่อง ความสูญเสียจากนโยบายนำร่องเปิดสถานบริการผับบาร์ถึงตี 4 ถึงเวลาทบทวนหรือยัง? มีเนื้อหาดังนี้
รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเสนอ “กฎกระทรวง กำหนดวันเวลาเปิด-ปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566” มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ทำให้สถานบริการสามารถเปิดบริการถึงเวลาตี 4 หรือ 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, จังหวัดภูเก็ต, จังหวัดชลบุรี, จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้ง สถานบริการทุกแห่งทั่วประเทศที่ตั้งในโรงแรมตามกฎหมายโรงแรม ซึ่งตามตัวเลขที่กรมการปกครองแจ้งมีจำนวนเพียง 1,372 แห่งที่ได้ประโยชน์ (76.9%) จากทั่วประเทศ 1,784 แห่ง
การเสนอแก้ไขกฎกระทรวงครั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า เป็นการจัดทำอย่างเร่งรัด รับฟังความเห็นทางออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายน 2566 รวม 15 วัน มีผู้ให้ความเห็น 1,497 คน ไม่มีการเปิดเผยผลการรับฟังความเห็นของประชาชนที่อาจได้รับเดือดร้อน ส่วนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบ ไม่มีข้อมูลวิชาการสนับสนุน มิได้มีการระบุว่าผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขจากกรณีที่อาจมีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น จะส่งผลเสียต่อการให้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาล หรือผลกระทบทางสังคม หรือผลเสียทางด้านเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การเสียชีวิต พิการ หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับของผู้ใช้บริการในสถานบริการ ซึ่งส่งผลเสียต่อประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง หรือภาระด้านงบประมาณด้านสาธารณสุขที่จะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ไม่มีข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับรายได้ต่อระบบเศรษฐกิจ รายได้ของรัฐจากการจัดเก็บภาษีรายได้จากผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบ ได้กำหนดให้สถานบริการนั้นมีหน้าที่ปฏิบัติที่ระบุไว้รวม 11 ข้อ แต่ในทางปฏิบัติพบว่า หนังสือเวียนของกระทรวงมหาดไทยถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2566 กลับระบุเพียง “คำแนะนำสำหรับสถานบริการเพื่อลดผลกระทบทางสังคมในกรณีขยายเวลาเปิดสถานบริการ” โดยเจ้าของสถานบริการไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามในหลายเรื่อง เช่น ให้สถานบริการมีเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทางลมหายใจเพื่อตรวจสอบผู้ใช้บริการก่อนขับขี่ออกจากสถานบริการ ซึ่งไม่มีข้อมูลการตรวจสอบของฝ่ายปกครองหรือตำรวจในเรื่องนี้ และแม้ว่าเจ้าของสถานบริการจะไม่ได้เตรียมเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ก็ไม่มีความผิดทางกฎหมายหรือจะเป็นเหตุให้ต้องถูกระงับใบอนุญาตเปิดสถานบริการแต่อย่างใด หรือการจัดหาที่พักคอยแก่ผู้ใช้บริการที่มีระดับแอลกอฮอล์สูงกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือการเรียกรถรับจ้างเพื่อส่งลูกค้า จะเห็นว่ามาตรการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดเป็นเพียงคำแนะนำ ซึ่งหลายเรื่องไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย และไม่มีแนวปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสถานบริการเหล่านั้นหรือไม่ ซึ่งโดยปกติที่ยังไม่มีนโยบายนี้ ปัญหาจากสถานบริการ รวมทั้งร้านที่คล้ายสถานบริการก็ไม่มีมาตรการที่เข้มแข็งจัดการได้อยู่แล้วดังที่เราเห็นการบุกจับผับบาร์ที่ปล่อยให้เด็กเข้าไป ยาเสพติด และแก๊งสีเทาดำต่างๆ จากหน่วยงานส่วนกลาง โดยหน่วยงานท้องที่ไม่ได้เข้มงวดใดๆ
จนถึงวันนี้ เกิดความสูญเสียมากมาย โดยข้อมูลจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนใน 5 จังหวัดที่มีการขยายเวลาเปิดสถานบริการเป็นตี 4 เปรียบเทียบช่วงเวลาก่อนการประกาศใช้กฎกระทรวงคือ ระหว่างวันที่ 1-15 ธันวาคม 2566 กับ ช่วงหลังประกาศใช้กฎกระทรวงคือ วันที่ 16-31 ธันวาคม 2566 พบว่า มีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในทั้ง 5 จังหวัด เช่น จ.เชียงใหม่ เพิ่มขึ้น 2.71 เท่า จ.ชลบุรีเพิ่มขึ้น 2.02 เท่า จ.ภูเก็ต เพิ่มขึ้น 1.47 เท่า และ จ.สุราษฎร์ธานี เพิ่มขึ้น 2.71 เท่า ส่วนข้อมูลเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงปี 2566 เปรียบเทียบกับปี 2567 พบว่า มีอัตราจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากราวร้อยละ 15.22 ถึง ร้อยละ 44.83 หรือคิดเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 30.38 จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยและน่ากังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบของการแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อขยายเวลาเปิดสถานบริการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึงเวลาตี 4
ตัวอย่างเหตุการณ์ที่สร้างผลเสียต่อประชาชนหรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติงาน ได้แก่ เคสตำรวจถูกชนถนนพระราม 4 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 04.20 น. เป่าวัดค่าแอลกอฮอล์เบื้องต้นผลปรากฏว่าสูงถึง 187 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จากการสอบปากคำ ผู้ขับไปดื่มสุรากับเพื่อนที่สถานบันเทิงแห่งหนึ่งย่านหลังสวนลุมพินี หรือล่าสุดเหตุนักปั่นจักรยานออกกำลังกายสามีภรรยา 2 รายเสียชีวิตเพราะถูกคนเมาขับรถที่ดื่มจากผับในโรงแรมที่อนุญาตเปิดถึงตี 4 ที่จังหวัดสุรินทร์ ทั้งนี้ มีงานวิจัยในประเเทศในยุโรปได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าจะส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นได้แก่ ประเทศนอร์เวย์ ที่ระบุว่า การขยายเวลาขายแอลกอฮอล์เพิ่มอีก 1 ชั่วโมง ส่งผลทำให้เกิดความรุนแรงจากเหตุอาชญากรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และการขยายเวลาเปิดผับบาร์ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพิ่มขึ้นจำนวน 1 ชั่วโมง ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 34
ดังนั้น การออกกฎกระทรวงขยายเวลาเปิดสถานบริการในพื้นที่ 4 จังหวัด 1 อำเภอ ซึ่งมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ที่ต้องการควบคุมการประกอบกิจการที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยเน้นคำนึงถึงแต่การกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่ละเลยผลกระทบด้านลบต่างๆ อีกทั้งรัฐบาลมีแนวคิดที่จะขยายเวลาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านค้าทั่วไปที่มิใช่สถานบริการตามข้อเรียกร้องของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าที่ได้รับใบอนุญาตขายสุรามากถึงราว 580,000 ร้าน (ข้อมูลปี 2566) เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายปลีกทั่วไป และยังไม่นับรวมร้านค้าที่ไม่มีใบอนุญาตอีกหลายหมื่นหรืออาจถึงแสนร้านค้า ชาวบ้านคงจะมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีก ส่งผลต่อเสียต่อสังคมโดยรวม อีกทั้งยังจะลดทอนข้อกฎหมายต่างๆ ใน พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ให้อ่อนแอลงอีกด้วย ประชาชนทั่วไปคงต้องอยู่กับความเสี่ยงจากนโยบายรัฐบาลชุดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่ทบทวนนโยบายนี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลจัดเต็มลุย 'พักดอกเบี้ย' นาน 3 ปี ช่วยลูกหนี้ 3 กลุ่มใหญ่
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
ชาวนาเฮ! รัฐบาลเคาะแจกไร่ละ 1 พันบาท เล็งปรับโครงสร้างเกษตรทั้งระบบ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ เห็นชอบหลักการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท
รัฐบาลเคาะแจกเงินหมื่น เฟส 2 ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ก่อนวันตรุษจีนปี 68
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง
รองโฆษกรัฐบาล เผยตัวเลขชี้ท่องเที่ยวไทยคึกคัก
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงรายงานสถานการณ์การท่องเที่ยว ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (ระหว่างวันที่ 4 - 10 พฤศจิกายน 2567) มีนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะไกล
'สระบุรี' ชวนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ MEAT & MILK FESTIVAL วิถีใหม่ของนักเดินทาง กระตุ้นเศรษฐกิจ
ที่ลานกิจกรรมเมืองคาวบอย อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เมื่อ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา เริ่มงานย้อนตำนานสระบุรี
คกก.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นัดประชุมครั้งแรก 19 พ.ย. ถกแจกเงินดิจิทัลรอบใหม่
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังหารือกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และหน่วยงานเศรษฐกิจว่า ในวงหารือได้เคาะวันประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ