ทุกวันนี้ “การประชุม” กลายเป็นกิจกรรมหลักในทุกองค์กร โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ยิ่งมีการประชุมบ่อยครั้ง ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ การนั่งประชุมติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เคลื่อนไหวร่างกายเพียงน้อยนิด บวกกับการรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงระหว่างการประชุม ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงกับปัญหาน้ำหนักเกิน ที่นำไปสู่โรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) ตลอดจนอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น โรคฮิตอย่างออฟฟิศซินโดรม ที่หลายคนกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ การปรับเปลี่ยนการประชุมที่เป็นมิตรกับสุขภาพ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
เครือข่ายคนไทยไร้พุง สานพลังราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จากการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน Healthy + Active Meeting Grand Opening “สุขภาพดีได้ในห้องประชุม” เปิดแนวทางปฏิบัติการจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ พร้อมเปิด 4 นวัตกรรมช่วยลดความเสี่ยงต่อการลดพุงและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มุ่งส่งเสริมการจัดประชุมแบบสุขภาพดี ณ ห้องประชุม 201 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงแนวทางในการขับเคลื่อนการจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกว่า “เราอยากทำให้ชั่วโมงการประชุมเป็นชั่วโมงที่ดีต่อสุขภาพ มีการขยับเคลื่อนไหวร่างกายได้มากขึ้นด้วยการยืนประชุมสลับกับการนั่ง รับประทานอาหารสุขภาพในช่วงพักหรือระหว่างการประชุมในปริมาณที่เหมาะสม งดเหล้า งดบุหรี่ รวมถึงดูแลเรื่องสุขภาพจิตและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้เราจึงพัฒนา 4 นวัตกรรม Healthy + Active Meeting เครื่องมือที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการนำเสนอการจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพขึ้น ซึ่งทางเครือข่ายคนไทยไร้พุง ได้ทดลอง ทดสอบมาระยะหนึ่งพร้อมนำมาเผยแพร่ ประกอบไปด้วย 1. คู่มือส่งเสริมการจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ 2.ระบบจัดการวาระการประชุม แจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาหยุดพัก พร้อมคลิปวิดีโอท่าออกกำลังกายที่เหมาะสม 3.แอปพลิเคชั่นคำนวณพลังงานอาหารว่างที่เหมาะสมต่อสุขภาพ 4.หลักสูตรอบรม ให้ความรู้ คำปรึกษาและสร้างความรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และนำแนวทางไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามบริบทขององค์กร”
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานนท์ ประธานเครือข่ายไร้พุง กล่าวว่า อาหารเบรคเป็นตัวเลือกที่จัดมาช่วยลดความเครียด และความหิวระหว่างการประชุม “ของว่างที่เสิร์ฟกันส่วนใหญ่มักจะมีแคลอรี่สูง บางเมนูมีปริมาณสูงพอๆกับการกินอาหาร1 มื้อ ยิ่งถ้าเป็นคนทานครบ3 มื้อเท่ากับเราเติมส่วนเกินเข้าไปเยอะ ก็จะทำให้อ้วน ฉะนั้นหากปรับเปลี่ยนเมนูของว่างให้มีแคลอรี่ต่ำ และหาจัดเวลาลุกขึ้น Exercise บ้างในท่าเคลื่อนไหวที่เหมาะสม ซึ่งหากองค์กรเข้าใจและนำปฏิบัติใช้ ถือเป็นการส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพที่ดีพร้อมกับการมีสุขภาพจิตดีด้วย” ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวเสริมถึงการทำงานนี้ว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือการสานพลังภาคีเครือข่ายร่วมกันผลักดันให้เกิดการจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพและเกิดการขยายผลไปทั่วประเทศ
ด้าน รศ.เพชร รอดอารีย์ รองประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง และหัวหน้าโครงการส่งเสริมการประชุมที่ดีต่อสุขภาพ ได้เสนอ 3 ทางรอดในการลดพุง ลดโรค ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที 1.ควรขยับร่างกาย 3-5 นาที ทุก 50-60 นาที ลดความเสี่ยงการเกิดโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดคอ บ่า ไหล่ และหลัง 2. รับประทานอาหารว่างที่เสิร์ฟระหว่างการประชุมไม่เกิน 10% ของพลังงานที่ควรได้รับต่อ 1 วัน หรือ ไม่เกิน 200 กิโลแคลอรี 3. กำหนดวาระการประชุมให้แน่นอน มีเวลาเริ่มต้น พัก และสิ้นสุด เพื่อลดความเครียดและช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยับเขยื้อนร่างกาย ไม่นั่งนานจนเกินไป
โดยภายในงาน Healthy +Active Meeting Grand Opening “สุขภาพดีได้ในห้องประชุม” ได้มีการเปิดตัวภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สมาคมโรงแรมไทย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย งานโภชนาการ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมถึง กลุ่มผู้ประกอบการอาหาร ได้นำชุดอาหารว่าง ที่มีการเปลี่ยนสูตรเพื่อสุขภาพ มาออกบูทพร้อมให้ชิม เช่น ครัวการบินไทย (พัฟฟ์แอนด์พาย) กาโตว์เฮ้าส์ เดลิเค้ก มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ สำหรับ องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน บริษัท รวมทั้งผู้สนใจส่งตัวอย่างอาหารว่างมารับการตรวจประเมิน เพื่อขอรับป้ายกำกับ “อาหารว่างตามคำแนะนำเพื่อสุขภาพ” สามารถติดตามและสอบถามข้อมูลได้ทางเฟซบุ๊คแฟนเพจ เครือข่ายไร้พุง www.raipoong.com และ อีเมล [email protected]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมกิจการเด็กและเยาวชน จับมือ มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว-สสส. จัดเสวนาสะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 68 เสริมแกร่งความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิเด็ก
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ม.ค. 2568 ที่โรงแรมแมนดาริน กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ชี้คนไทย"พร่อง"กิจกรรมทางกาย สสส.รณรงค์สร้างสุขกระฉับกระเฉง
โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 เฉลี่ย 3 แสนคนต่อปี คิดเป็น 75% ของสาเหตุการตายทั้งหมด ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูง
รณรงค์ "กินให้หมดจาน" 50ร้านต้นแบบช่วยลดขยะ
รู้หรือไม่?!?..... มีสถิติระบุว่า ขยะอาหารโลกพุ่งกว่า 1 พันล้านตัน ภาพขยะกองสูงเป็นภูเขาที่รอฝังกลบ กว่าครึ่งคือขยะอาหาร คนไทยเพียงคนเดียวผลิตขยะสูงลิ่ว 146 กก./คน/ปี
“รองนายกฯ ประเสริฐ” สั่งเดินหน้าคุมเข้มลดเจ็บ-ตายปีใหม่ เฝ้าระวัง “นักซิ่งเยาวชน” หลังพบดื่มแล้วขับ “เจ็บ-ตาย” เฉลี่ยชั่วโมงละ 3 คน เล็งเชื่อมข้อมูลทำระบบ “ใบสั่งออนไลน์”
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
"สิทธิในอาหาร..เพื่อชีวิตที่ดี" ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดัน
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร