4 ธ.ค. 2566 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “พิชิตสมองเสื่อมด้วยยาเบาหวานลดน้ำหนัก” โดยระบุว่า
โรคสมองเสื่อมไม่ใช่โรคที่ยกธงขาวยอมแพ้อีกต่อไปแล้วนะครับ ดังที่หมอได้เรียนให้ทราบเสมอมาว่า ในปัจจุบันนี้การรู้ตัวว่ามีสมองเสื่อมแม้ยังไม่มีอาการ ถือเป็นโอกาสทองของชีวิตที่ทำการป้องกันชะลอและจนกระทั่งถึงรักษาแม้เมื่อเริ่มมีอาการแล้วก็ตาม
กระบวนการในการวินิจฉัยได้มีการประกาศจากสมาคมอัลไซเมอร์ของสหรัฐและนานาชาติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2023 โดยใชัการตรวจเลือดเป็นสำคัญ
จุดใหญ่ใจความของการใช้ยา เหล่านี้เป็นการค้นพบโดยอาศัยรากฐานของการเกิด การดำเนินโรคของภาวะสมองเสื่อม และคัดเลือกยาที่แม้ว่าจะไม่ได้ใช้กับสมองเสื่อมโดยตรง แต่กลับพบกลไกว่าสามารถขัดขวางการอักเสบ การก่อตัวของโปรตีนพิษแบบต่างๆ และทำให้มีการขจัดออกไปได้ รวมทั้งทำให้เซลล์สมองมีชีวิตยืนยาวขึ้น
ทั้งนี้จัดเป็นยาที่ขยายขอบเขตการใช้จากดั้งเดิมและเรียกว่า repurpose drug และที่ได้นำเรียนก่อนหน้าในคอลัมน์สุขภาพหรรษาคือการใช้ยาละลายเสมหะแก้ไอที่ ชื่อว่า Ambroxol ตลอดจนยานอนหลับที่ออกฤทธิ์ต่อ Orexin
ยาอีกกลุ่ม ในบทนี้จะเป็นการติดตามการใช้ยาที่รักษาเบาหวานและในขณะเดียวกันช่วยลดน้ำหนักด้วยว่าจะมีผลในการยับยั้งภาวะสมองเสื่อมได้หรือไม่ และถือเป็นรายงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งจากประเทศเดนมาร์ก โดยได้ย้ำความสำคัญของโรคสมองเสื่อมโดยที่ในปี 2022 มีประชากรโลกที่มีอาการของสมองเสื่อมแล้ว 55 ล้าน คนและ ในปี 2050 ประมาณว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 152 ล้านคน และต้องใช้งบประมาณถึง 818 พันล้านดอลลาร์
โดยรายงานนี้ เผยแพร่ในวารสาร Alzheimer’s and dementia ซึ่งเป็นวารสารทางการของสมาคมอัลไซเมอร์ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2022 [treatment with glucagon like peptide-1 (GLP-1) receptor agonist (RA) and incidence of dementia:data from pooled double-blind randomized controlled trials and nationwide disease and prescription registers)
รายงานชิ้นนี้เจาะลึกลงไปถึงผู้ใหญ่ที่เป็นเบาหวาน (แบบที่ 2) โดยที่ทราบกันอยู่แล้วว่า เบาหวานจะเร่งทำให้มีสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1.6 เท่า ทั้งนี้รวมถึงที่เสื่อมจากภาวะเส้นเลือดตีบตันทั่วไป และจากโรคอัลไซเมอร์ ประมาณการว่าทั่วโลกมีคนที่เป็นเบาหวานชัดเจนแล้วอย่างน้อย 7 ล้านคน
ยาในกลุ่ม GLP-1 RA ใช้กันแพร่หลายในการรักษาเบาหวานและอ้วน โดยที่สามารถลดระดับน้ำตาลและน้ำหนักและลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางเส้นเลือดหัวใจและสมอง ในขณะเดียวกันมีความเป็นไปได้ว่าสามารถที่จะช่วยในเรื่องของความจำและประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ทั้งนี้จากผลการศึกษาในหนูที่ปรับแต่งให้ไม่มีตัวรับของ GLP-1 ปรากฏว่าสมองแย่ลงการเรียนรู้ด้อยและทำให้กลับคืนคืนดีได้หลังจากที่มีการถ่ายยีนส์ GLP-1 เข้าในสมองส่วนความจำ hippocampus
GLP-1 จัดเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญโดยที่มีตัวรับอยู่ในสมองหลายตำแหน่งรวมทั้งที่บริเวณ striatum nucleus accumbens และ hippocampus
การศึกษาในระยะต่อมาในสัตว์ทดลองโดยการให้ยา liraglutide ได้ผลในการช่วยทั้งความจำและการเรียนรู้และเพิ่มจำนวนเซลล์ประสาทในสมองส่วน CA1 ของ hippocampus และยังลดโปรตีนพิษอมิลอยด์เบต้า (Abeta) และที่สำคัญก็คือยังป้องกันการก่อตัวขยุ้มกระจุกของโปรตีนทาว
ด้วยเหตุผลและหลักฐานดังกล่าว ยาในกลุ่มนี้ จัดเป็นแนวหน้าที่สำคัญอีกตัวที่มีใช้ในการรักษาและป้องกันอัลไซเมอร์
ข้อมูลในมนุษย์เบื้องต้นที่มีอาการของอัลไซเมอร์แล้วทั้งในระยะเริ่มแรกจนถึงปานกลาง แสดงว่า liraglutide เพิ่มประสิทธิภาพของสมองในการใช้กลูโคสให้เป็นพลังงาน
รายงานนี้ถือเป็นรายงานที่ใหญ่มาก ที่เป็นการศึกษาแบบ RCT (randomized controlled trial) ด้วย กับข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ
โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่นานมีการวิเคราะห์การศึกษา ในโครงการ REWIND (Researching cardiovascular events with Weekly Incretin in Diabetes) และพบว่ายา duraglutide อาทิตย์ละครั้ง สามารถลดความเสื่อมของสมองในคนที่เป็นเบาหวานอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ที่มีโรคเส้นเลือดหัวใจและสมองร่วมด้วย โดยมีระยะเวลาของการติดตามเฉลี่ยอยู่ที่ 5.4 ปี และมีคะแนนสมองจากการวัดด้วย MoCA และDSST ดีกว่าคนที่ไม่ได้รับยา โดยความเสี่ยงของความเสื่อมลดลง 14%
รายงานชิ้นนี้ได้จากทั้งสองแหล่ง ได้แก่ ข้อมูลสุขภาพทั้งประเทศ โดยเป็นการวิเคราะห์จากข้อมูลทั้งประเทศเดนมาร์ก ตั้งแต่ปี 1995 จนกระทั่งถึง 2017 และระบุคนที่เริ่มที่ได้รับยาเบาหวานกลุ่มที่สอง (second line treatment) และยังควบรวมข้อมูลที่ได้จากโครงการศึกษาการใช้ยากลุ่มนี้ ได้แก่ LEADER ยาliraglutide จำนวน 9340 คน โครงการ SUSTAIN-6 ยาฉีด semaglutide จำนวน 3297 คน และ PIONEER 6 ยากิน semaglutide จำนวน 3183 คน
จำนวนคนในการศึกษาทั้งสามโครงการ มีจำนวน 15,820 ราย และเป็นคนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีโรคทางเส้นเลือดหัวใจและสมองแล้ว และมีการจัดแบ่งครึ่งต่อครึ่งโดยได้รับยาหลอกและยาจริงด้วย
และในข้อมูลแห่งชาติมีจำนวน 120,054 ราย ที่มีการรักษาด้วยยาเบาหวานในระดับที่สอง (ซึ่งไม่รวมยาเบาหวาน metformin) มาอย่างน้อยห้าปี
ผลของการศึกษาดังรายงานพบข้อมูลสอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์จาก RCT หรือจากข้อมูลการติดตามระบบสุขภาพแห่งชาติ ว่า ประโยชน์ที่ได้จากยากลุ่มนี้เป็นไปตามที่มีการรายงานก่อนหน้าของโครงการ REWIND ในการลดอุบัติการของโรคสมองเสื่อมและเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยเบาหวานมียาที่สามารถป้องกันสมองเสื่อมได้
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับยาในระดับที่สองตัวต่างๆ แล้ว ยาในกลุ่มนี้เท่านั้นที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับสมองเสื่อม ในขณะที่อินซูลิน ยากลุ่ม sulfonylureas DPP-4 inhibitors และ meglitinides ไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ไม่ได้มีการวิเคราะห์ถึงยา metformin ซึ่งเป็นยามาตรฐานในระดับที่หนึ่งของประเทศเดนมาร์ก และมีการพิสูจน์แล้วหลายรายงานว่า ช่วยชะลอหรือป้องกันสมองเสื่อมในคนเบาหวานได้
สำหรับกลไกที่อาจจะอธิบายคุณสมบัติของยากลุ่มนี้นั้นยังมีในเรื่องของการลดการอักเสบในสมองและการปกป้องรักษาสุขภาพของเส้นเลือดทั้งร่างกายและในสมองรวมทั้งประสิทธิภาพในการลดการดื้ออินซูลิน
อย่างไรก็ตาม จึงมีความเป็นไปได้ว่ายาในกลุ่มนี้ไม่ได้ขัดขวางการเกิดสมองเสื่อมโดยผ่านทางภาวะผิดปกติของเส้นเลือด ทั้งนี้เนื่องจากอัตราของการลดสมองเสื่อมจากยากลุ่มนี้ มีผลในคนที่ไม่ได้มีความเสี่ยงมากมายหรือเกิดโรคทางเส้นเลือดไปแล้ว
นอกจากนั้นคุณสมบัติในการลดสมองเสื่อมดูเหมือนไม่ได้แปรตามน้ำหนักตัวที่ลดลงด้วยซ้ำ แสดงว่ากลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้น่าจะมีความหลากหลาย และอาจสามารถนำมาใช้ได้ในคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวานหรือน้ำหนักเกินด้วยซ้ำด้วยความระมัดระวัง
ยาในการป้องกันชะลอและรักษาสมองเสื่อมยังมีอยู่อีกมากมายและอยู่ในการศึกษาในมนุษย์ระยะที่สามนับสิบตัว และควรจะได้ผลชัดเจนในประมาณปี 2024
ทั้งนี้ ในผู้ป่วยที่ไม่มีทางเลือกและได้รับทราบข้อมูลหลักฐานเหล่านี้อย่างชัดเจนจากหมอ โดยเฉพาะหมอทางสมอง และมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการรักษาโดยยาเหล่านี้ โดยที่มีการพิสูจน์ความปลอดภัยและขนาดที่ใช้แล้ว ในการศึกษาระยะที่หนึ่งและสองในมนุษย์ และเมื่อมีการใช้ ต้องมีการยอมรับและเข้าใจกันทั้งหมอ คนไข้และครอบครัว และมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอ
โรคสมองเสื่อมไม่ใช่โรคที่ยกธงขาวยอมแพ้ อีกต่อไปแล้วนะครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หมอธีระวัฒน์’ อธิบายชัด ภาวะที่นอนแล้วลุกขึ้น มีความดันโลหิตร่วง
การตรวจโดยให้นอน 20 นาที และค่อยๆลุกขึ้น เปรียบเทียบความดันขณะนอนและขณะลุกขึ้น
'เส้นเลือดแตกในสมอง' ทำไมพบบ่อยมากและรุนแรงขึ้น
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เส้นเลือดแตกในสมอง
ไขข้อข้องใจ! ทำไมกินช็อกโกแลตแล้วสุขภาพดี
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กินช็อกโกแลตแล้วสุขภาพดี…… สนใจมั้ย?
'หมอสมอง' เตือน! 'บิด เอียง สะบัดหมุน ดัดคอ' เสี่ยงอัมพฤกษ์
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า บิด เอียง สะบัดหมุน ดัดคอ…แล้วก็เสี่ยงอัมพฤกษ์
'วาคีน ฟีนิกซ์' น้ำหนักตัวหายไปกว่า 20 กิโลเพื่อบท 'โจ๊กเกอร์'
วาคีน ฟีนิกซ์ต้องลดน้ำหนักกว่า 20 กิโลเพื่อเล่นบท “โจ๊กเกอร์” ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Joker: Folie A Deux’ และเขายังเปิดเผยด้วยว่า ภาคต่อของเรื่องนี้ยังเรียกร้องอะไรอีกมากมายจากนักแสดงอย่างเขาด้วย