ส่งต่อ’Food Waste’ ชุมชนอิ่มท้อง

วันที่ 16 ตุลาคมที่จะถึงนี้ เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) ในสังคมไทยยังมีคนอดอยาก ขณะที่ยังมีอาหารส่วนเกินและอาหารที่ขายไม่หมดถูกทิ้งทุกวัน  นอกจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังกลายเป็นทรัพยากรที่เสียเปล่า ทั้งที่ยังมีผู้คนจำนวนมากต้องการอาหาร ซึ่งการส่งต่อกระจายอาหารเหล่านี้ให้กับผู้คนที่ยากไร้ในชุมชน กลุ่มเปราะบางต่างๆ เป็นอีกแนวทางแบ่งปันและสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหา เพราะขยะอาหารเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นความรับผิดชอบของทุกคน

ทั้งนี้ วันอาหารโลก (World Food Day) เกิดขึ้นโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ  ปีนี้ชูแนวคิดหลัก  “Water is life, Water is food, Leave No One Behind” หรือ”น้ำคือชีวิต น้ำคืออาหาร ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการเดินหน้าโครงการธนาคารอาหารและโครงการ Food Waste อย่างเอาจริงเอาจังในหลายภาคส่วน 

เนื่องในวันอาหารโลกปีนี้นำมาสู่การจัดกิจกรรมกระตุ้นสังคมให้เกิดความตื่นตัวและเข้าใจปัญหาขยะอาหารอย่างถูกต้อง รวมทั้งแสดงเจตนารมย์ต่อการแก้ไขปัญหาอย่างมุ่งมั่น และสร้างความร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกรุงเทพมหานครร่วมกับมูลนิธิ สโกลารส์ ออฟซัสทีแนนซ์ (SOS) จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับคุณค่าและประโยชน์ของอาหารส่วนเกิน บริเวณเชิงสะพานพระราม 8 ฝั่งบางพลัด มีการส่งต่ออาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังรับประทานได้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในชุมชนบางพลัด เมื่อวันก่อน  บรรยากาศเต็มไปด้วยรอยยิ้ม

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กิจกรรมวันอาหารโลกจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญของอาหารและความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องการเพื่อการดำรงชีวิต อาหารที่ดีมีประโยชน์จะช่วยให้เรามีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี กิจกรรมทำอาหารร่วมกันในวันนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงความสำคัญของอาหารแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้พนักงาน จิตอาสา และทีมงานมูลนิธิฯ ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่นอีกด้วย  เพื่อให้สอดคล้องกับธีมปีนี้ เราจึงส่งต่ออาหารที่ดีมีประโยชน์เพื่อแทนคำขอบคุณให้แก่กลุ่มเจ้าหน้าที่ของ กทม. จากสำนักงานเขตบางพลัด มีทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธา ซึ่งมีหน้าที่ด้านรักษาความสะอาด และดูแลงานระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ คลองสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงกลุ่มคนไร้บ้านที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเขตบางพลัด  แม้จะเป็นอาหารส่วนเกินแต่มีคุณภาพดี ทุกคนอิ่มท้อง มีความสุข มีพละกำลังในการดูแลแหล่งน้ำอันจะเป็นชีวิต และอาหารของพวกเรา  แล้วก็ยังช่วยชุมชนที่มีรายได้น้อยมีอาหารเพียงพอ

 มูลนิธิ SOS ถือเป็นองค์กรแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาพยายามสร้างระบบที่เป็นรูปธรรมในการส่งต่ออาหารส่วนเกิน ที่บางคนคิดว่าแค่ทิ้งก็หมดเรื่อง  ธนาภรณ์ อ้อยอิสรานุกุล ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการอาวุโส SOS กล่าวว่า มูลนิธิฯ  สนับสนุนผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านอาหาร โดยการรับและบริจาคอาหารส่วนเกินที่มีคุณภาพดีสู่กลุ่มเปราะบางในสังคมอย่างเท่าเทียม เริ่มปฏิบัติงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2559   เราริเริ่มการทำโครงการรักษ์อาหาร (Food Rescue Program) อย่างเป็นระบบ ผ่านการสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

“  การมีอาหารไม่เพียงพอต่อการบริโภค ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตโดยตรง รูปแบบในการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ จะสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการดำเนินงานในพื้นที่ ตั้งแต่ทำงานจนถึงปัจจุบัน มูลนิธิ SOS ได้กอบกู้ และส่งต่ออาหารส่วนเกินไปแล้วกว่า 6.7 ล้านกิโลกรัม หรือคิดเป็นจำนวน 28.5 ล้านมื้อ มีส่วนยกระดับคุณภาพชีวิจคนด้วยอาหารที่ดี    วันอาหารโลกยังต้องกระตุ้นให้เกิดความตระหนักและเกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาความอดอยากหิวโหยและทุพโภชนาการความสำคัญของอาหารแก่ประชาชนรวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาในการจัดการและการกระจายอาหาร “ ธนาภรณ์เน้นย้ำ

ยกตัวอย่างรูปแบบกิจกรรมที่ต้นน้ำมาจาก Food Waste เพื่อส่งต่อชุมชน     SOS ร่วมกับ Lotus และ กทม. เปิดครัวรักษ์อาหารในโครงการ ไม่เทรวม X กินได้ไม่ทิ้งกัน ชวนอาสาจากชุมชนคันนายาวมาทำกิจกรรมประกอบอาหาร โดยใช้วัตถุดิบที่จำหน่ายไม่หมดจากโลตัส โก เฟรช มารังสรรค์เป็นเมนูอิ่มอร่อย ภายใต้โครงการครัวรักษ์อาหาร และโครงการ ไม่เทรวมของกรุงเทพมหานคร และ โครงการกินได้ไม่ทิ้งกันของโลตัส จากงานนี้ สามารถเสิร์ฟอาหารได้ถึง 895 มื้อ ซี่ง SOS และ โลตัส ได้ทำงานร่วมกันในฐานะพาร์ทเนอร์มากว่า 6 ปีแล้ว โอกาสนี้ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดตัวโครงการ “ไม่เทรวม x กินได้ไม่ทิ้งกัน” ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต ของกทม. ณ โลตัส โก เฟรช สาขานวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม อีกด้วย

อีกกิจกรรมมีการเก็บกู้อาหารจากเหล่าห้างร้าน และพาร์ทเนอร์ที่ได้จัดเตรียมอาหารส่งต่อชุมชน กว่า 20 จุด จากนั้นนำไปแจกจ่ายให้กับชุมชนรุ่งมณีพัฒนา  ซึ่งสามารถส่งมอบอาหารรวม 350 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 1,470 มื้อ  แต่ละกิจกรรมร่วมด้วยช่วยกันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงอาหาร

การแบ่งปันยังขยายไปในสถานศึกษา เกิด Student of Sustenance เป็นชมรมที่เกิดจากความตั้งใจของน้องๆ นักเรียนจาก 2 โรงเรียน ได้แก่ KIS International School Bangkok และ Ruamrudee Internationnal School เกือบ 80 คน ที่อยากร่วมกลุ่มกันทำภารกิจส่งต่อมื้ออาหารให้กับชุมชนกับมูลนิธิ มีการระดมทุนและบริจาคอาหาร  ซึ่งล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ มีแรงบันดาลใจ อยากช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้น  

ในวันอาหารโลก มูลนิธิ SOS ชวนทุกคนร่วมรณรงค์และส่งต่อความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสังคมไทยภายใต้แคมเปญ “แชร์ความรักษ์วันอาหารโลก” ผ่านการสร้างการ์ดระดมทุนผ่านเว็บเทใจ สนับสนุนโครงการรักษ์อาหารของมูลนิธิ กิจกรรมนี้จัดต่อเนื่องเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2566 เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการทำงานและส่งต่อความช่วยเหลือให้กับสังคม โดยเป็นนักระดมทุนผ่านการเปิดการ์ดบน เทใจ เพื่อสนับสนุนโครงการรักษ์อาหาร

นักระดมทุนสามารถนำการ์ดนี้ไปแชร์ต่อหรือโพสต์บนโซเชี่ยลมีเดียเพื่อให้เพื่อนๆ ครอบครัวและคนรอบข้างแชร์ต่อเพื่อบริจาคเงินสนับสนุนให้กับมูลนิธิ SOS โดยเริ่มต้นที่ 5 บาทเท่ากับ 1 มื้อ สำหรับทุกการบริจาคผ่านโครงการสามารถแจ้งลดหย่อนภาษีทางแพลตฟอร์มเทใจ   วิธีร่วมแคมดปญ เริ่มจากลงชื่อเป็นนักระดมทุนผ่านฟอร์มเทใจ รอทีมงาน SOS ประสานงานด้านรายละเอียดการสร้างการ์ด รับลิงก์การ์ดของนักระดมทุน และ QR Code จากนั้นโพสต์แชร์ส่งต่อการระดมทุนผ่านโซเชียลมีเดีย จะ Instagram หรือ Facebook  พร้อมติด แฮ็ชแท็ก #SharingSOS #WFD2023 แท็กเพจของมูลนิธิ SOS แคมเปญนี้ตั้งเป้าการระดมทุน 200,000 เพื่อสนับสนุนโครงการรักษ์อาหาร สมัครเข้าร่วมได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 5 พฤศจิกายนนี้

ร่วมส่งต่อความสุขผ่านการแบ่งปันอาหารส่วนเกินสู้ความหิวกันได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สร้าง'ศาสนทายาท' สานพระราชปณิธานในหลวง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาและทรงสนพระทัยศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงแสดงสั่งสอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระไตรปิฎก ทรงมีพระราชประสงค์ส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีเพื่อให้เข้าถึงพระไตรปิฎก