เปิดจดหมาย 'หมอนิธิพัฒน์' ฝาก 3 เรื่อง ถึง 'หมอชลน่าน' ว่าที่รมว.สธ.

1 ก.ย.2566 - รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เขียน จดหมายเปิดผนึกถึงศิษย์รุ่นน้องร่วมบ้านริมน้ำ มีเนื้อหาดังนี้

ถ้าผมนับไม่ผิดพลาด น้องน่าจะเป็นศิษย์รุ่นหลังสี่รุ่น และผมมีสถานะเป็นพี่ซีเนียร์ประจำรุ่นของน้องด้วย พี่ได้ติดตามและชื่นชมผลงานของน้องในทางการเมือง และยินดีที่น้องกำลังจะก้าวขึ้นคุมกระทรวงสาธารณสุข หลังจากยอมลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพื่อไม่ให้คนตราหน้าว่าตระบัดสัตย์เพราะพูดอย่างทำอย่าง มีเรื่องที่อยากฝากจากพี่ถึงน้องร่วมสำนักก่อนเข้ารับภาระกิจสำคัญ ดังนี้

ไม่มียุคสมัยใดแล้วที่กระทรวงสาธารณสุขมีภาพลักษณ์ที่ตกต่ำเช่นในยุครัฐบาลซึ่งเพิ่งหมดอำนาจ ทั้งข้อครหาผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างวิกฤตโควิต การนำข้ออ้างกัญชาทางการแพทย์ไปปลดล็อคกัญชาเสรี การใส่เกียร์ว่างในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเสรี รวมถึงการไม่แข็งขันในการชี้นำสังคมเรื่องพิษภัย PM2.5 และผลักดันนโยบายการควบคุม ส่วนที่หาใบเสร็จยากคือข่าวลือเรื่องการทำลายระบบธรรมาภิบาลในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พี่จึงอยากให้น้องช่วยกอบกู้ศรัทธามหาชนกลับคืนมาโดยพลัน

นโยบาย 30 บาท เป็นสิ่งเดียวที่พี่เห็นชอบเป็นอย่างยิ่งกับพรรคการเมืองที่น้องเคยร่วมงานมากว่า 20 ปี แต่ในระยะหลังถูกฝ่ายการเมืองเข้าแทรก ทำให้นโยบายประชานิยมเข้ามานำหน้าหัวใจหลักของความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมกับทรัพยากรสุขภาพของประเทศ การนำเสนอสิทธิประโยชน์มากมายโดยไปสร้างความตึงเครียดหน้างานและความตึงตัวด้านงบประมาณของโรงพยาบาลในระบบ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีทัศนคติด้านลบต่อนโยบาย 30 บาท ซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับการดำเนินนโยบายนี้ให้พอเพียงและยั่งยืนในระยะยาว พี่อยากเห็นน้องเข้าไปถอดชนวนระเบิดลูกนี้ และถ้าเป็นได้อยากเห็นกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ชี้นำสังคมเพื่อขับเคลื่อนการมีระบบประกันสุขภาพเดียวให้กับประชาชนไทยทุกคนอย่างเสมอภาค หรือรวมกองทุน 30 บาท กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนประกันสังคมเข้าด้วยกันแล้วบริหารอย่างโปร่งใสยึดโยงกับผลประโยชน์ประชาชน และอย่างมีสำนึกในการใช้ทรัพยากรสุขภาพที่สมเหตุสมผลตามหลักวิชาการและหลักความเท่าเทียม

สุดท้ายในฐานะหมอปอด พี่อยากฝากน้องในอีกสามเรื่อง คือ

1. เร่งรัดปฏิรูประบบควบคุมวัณโรคแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ เพราะปัจจุบันมีความลักลั่นของหน่วยงานย่อยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากมาย โดยขาดส่วนนำซึ่งมีความมุ่งมั่นในเชิงนโยบาย (political commitment) ที่จะนำพาประเทศไปสู่การควบคุมวัณโรคให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายในปี พ.ศ. 2578 ตามยุทธศาสตร์ END TB ขององค์การอนามัยโลก

2. แสดงบทบาทการเป็นผู้นำในการควบคุมสารพิษและมลพิษในอากาศที่คนเราหายใจเข้าไป เริ่มจากควันบุหรี่มวนที่ทำให้เกิดโรคมากมายต่อมนุษย์ บุหรี่ไฟฟ้าที่เริ่มแสดงตัวให้เห็นว่าร้ายแรงไม่ยิ่งหย่อนกว่าบุหรี่มวนแต่ถูกตกแต่งให้รูปลักษณ์ดูซอฟท์ลง ควันจากการสูบกัญชารวมถึงการเสพหรือบริโภคในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ทางการแพทย์ หากร่างกายได้รับเกินขนาดจะเป็นผลร้ายต่อระบบประสาท ระบบการหายใจ และอวัยวะสำคัญอื่นทั่วร่างกาย ท้ายสุดคือมลพิษในอากาศโดยเฉพาะ PM2.5 ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการผลักดันพรบ.อากาศสะอาด เพื่อจะได้มีหน่วยงานอิสระขับเคลื่อนการควบคุมแหล่งผลิตมลพิษพร้อมประทังการสูญเสียต่อสุขภาพและเศรษฐกิจในระหว่างมาตรการควบคุมยังไม่เห็นผลเต็มร้อย

3. แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่านโยบายสุราเสรี ต้องเป็นไปเพื่อตัดตอนนายทุนที่ผูกขาดการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ในบ้านเมืองนี้ แต่ต้องไม่ส่งเสริมให้คนเข้าถึงสุราโดยง่าย และต้องปกป้องเยาวชนจากสิ่งมอมเมาสมอง เมื่อเหล้าเข้าปากจนเกินขนาดแล้ว ปอดเราอาจอักเสบจากการสูดสำลัก และอาจช้ำหรือถึงขั้นฉีกขาดหากเกิดอุบัติเหตุจากยานพาหนะ รวมทั้งทำให้ภูมิต้านทานในปอดลดลงจนเกิดปอดอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียและวัณโรคปอดได้

หวังว่าพี่คงไม่ได้เรียกร้องกับน้องมากเกินไป และขอฝากทิ้งท้ายไว้ว่า คำพูดเมื่อออกจากปากแล้วจะเป็นนายเรา การบิดพลิ้วไม่ว่ากรณีใดๆ เปรียบเสมือนอนาคตที่กำลังตกต่ำเฉกเช่นอาทิตย์อัสดง

นิธิพัฒน์ เจียรกุล ศิริราช 88
#จากพี่สู่น้องร่วมบ้านริมน้ำ
#คำพูดเป็นนายคน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หายใจโล่ง PM 2.5 ทั่วปท.อยู่เกณฑ์มาตรฐาน ‘กทม.’ ระดับดี วัดได้ 11.8 - 29.5 มคก./ลบ.ม.

รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ณ 17:00 น ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมาก – ปานกลาง

‘อิ๊งค์’ โชว์30บ. เวทีผู้นำเอเปก

นายกฯ อิ๊งค์โชว์ผลงาน 30 บาทรักษาทุกที่ บนเวทีผู้นำภาคเอกชนเอเปก พร้อมชวนลงทุนด้านธุรกิจดูแลสุขภาพในไทย มั่นใจหลังให้นโยบาย “บีโอไอ”