ห่วง 3 เรื่องใหญ่! 'วิกฤตโลกร้อน' ไม่ใช่มีเพียงโรคร้าย

11 ส.ค. 2566 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความว่า วิกฤตโลกร้อนไม่ใช่มีเพียงโรคร้าย

สภาวะโลกร้อนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอากาศสุดขั้ว (drastic climate change) แห้งแล้ง ร้อนสุดขีด ฝนตกหนัก น้ำท่วม บางพื้นที่กลับหนาวเย็น

เหล่านี้กระทบระบบนิเวศทั้งมนุษย์และสัตว์รวมทั้งแมลง ทำให้มีการย้ายถิ่นฐานเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

แต่ในขณะเดียวกันนำเชื้อที่ซ่อนอยู่ในตัวออกไปแพร่ รวมทั้งเชื้อต้องมีวิวัฒนาการ ในการปรับตัวกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ และกระโดดข้ามสิ่งมีชีวิตจากตระกูลเดียวกันเป็นตระกูลอื่น

นอกจากนั้นยังมีเชื้อแฝงที่อยู่ในขั้วโลกน้ำแข็งและละลายตัว รวมทั้งเชื้อที่มีอยู่เดิม เช่น แหล่งน้ำในถ้ำโบราณที่มีอายุเป็นล้านปี โดยพบว่ามีแบคทีเรียมากมายโดยที่แต่ละกลุ่มดื้อยาปฏิชีวนะที่มนุษย์ใช้อยู่ขณะนี้เรียบร้อยแล้ว เป็น antimicrobial resistance

ทั้งนี้ เนื่องจากแบคทีเรียแต่ละกลุ่มนั้น ต้องสู้กันเองและแต่ละกลุ่มปล่อยพิษที่จะทำลาย กันและกัน ดังนั้นต้องมีกลไกในการไม่ให้ตนเองสูญพันธุ์

จุดวิกฤตที่สำคัญของมนุษย์

1.ต้นทุนสุขภาพอ่อนด้อยลงอย่างมาก เต็มไปด้วยโรค NCD (noncommunicable disease) หรือ เมตาบอลิค ซินโดรม ที่ทำให้เปราะบางและติดเชื้อง่ายและตายง่ายแม้เชื้อที่เข้ามาไม่ได้รุนแรงนัก โดยถึงไม่ได้ติดเชื้ออวัยวะพังก็หนักอยู่แล้ว

2.มนุษย์ที่ติดเชื้อโควิดจะมีความอ่อนด้อยหรือแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกันไม่มากก็น้อย

โรคเดิมที่เคยคุมอยู่กลับรุนแรงขึ้นใหม่ โดยเฉพาะโรคแพ้ภูมิตนเองที่เป็นทั้งตัว เช่น โรคพุ่มพวง หรือเป็นเฉพาะในสมองหรือเส้นประสาทหรือที่เกิดขึ้นกับกระดูกข้อต่อและเส้นเอ็น รวมถึงโรคเมตาบอลิคทั้งหลาย เบาหวานความดันหัวใจโรคหลอดเลือดต่างๆ และมะเร็งเกิดปะทุขึ้นมาง่ายๆ หรือรักษาสงบไปแล้วเกือบโผล่ขึ้นมาอีก

ที่ไม่ควรเกิดในอายุน้อยกลับพบมากขึ้น ไม่ว่างูสวัด โรคผิวหนังต่างๆ และติดเชื้อต่างๆ ได้มากขึ้นง่ายขึ้น

และงูสวัดที่เกิดขึ้น ยังเพิ่มความเสี่ยงของหัวใจวายและอัมพฤกษ์หลังจากนั้นเป็นเวลาอีกหลายปี

สมองเสื่อมที่ควรเห็นแสดงอาการเมื่ออายุ 60 หรือ 65 ไปแล้วกลับแสดงให้เห็นตั้งแต่อายุ 40 กว่า ถึง 50

ทั้งนี้ยังรวมถึงมนุษย์บางคนที่คราวเคราะห์ร้ายฉีดวัคซีนไปเกิดแพ้ ทำให้มีปรากฏการณ์ ภาวะอ่อนด้อยสุขภาพเหมือนกับที่ติดเชื้อโควิดไปทุกประการดังขัางต้น

เช่น รายงานในวารสาร PLOS NTD (4/8/2023) จากประเทศอังกฤษ พบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อน หลังจากได้วัคซีน กลับมีการปะทุของโรคเรื้อน หรือมีอาการลุกลามขึ้น

3.ความแออัดของการบริการในระบบสุขภาพทั้งในผู้ป่วยนอกและในหอผู้ป่วยใน โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ ที่มีปัญหามาเนิ่นนานและถ้ามีเชื้อถูกนำเข้าในสถานพยาบาลที่แออัดอยู่แล้วจะกลายเป็นหม้อเพาะเชื้อใบใหญ่ เกิดติดต่อลุกลามได้ง่ายและแพร่ออกไปสู่ชุมชนภายนอก

เชื้อโรคที่เบ่งบานมากขึ้นทั้งโรคเก่าปะทุใหม่โดยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมให้เก่งขึ้นรวมทั้งโรคใหม่เอี่ยมที่วิวัฒน์มาจากสภาวะโลกร้อน เมื่อเข้ามนุษย์ที่อ่อนแอและสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้จะยิ่งระบาดได้ง่ายขึ้น

ทางแก้ที่ง่ายที่สุด

1.ทำสุขภาพแต่ละคนให้แข็งแรง ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าต้องกินอาหารสุขภาพผักผลไม้กากไย ลดแป้ง งดเนื้อสัตว์บก แทนด้วยปลา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดบุหรี่เด็ดขาด ถ้ายังดื่มๆ ในปริมาณสุขภาพแอลกอฮอล์ไม่เกิน 30 กรัมต่อวัน

2.คนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วทั้งที่สุกงอมหรือกำลังจะสุกงอม อวัยวะเริ่มจะพังหัวใจเริ่มจะวายรวมทั้งไต ให้หันกลับไปดูข้อหนึ่งและไม่พึ่งแต่ยาอย่างเดียว ซึ่งตัวเองจะกลายเป็นสนามรบของยา และยาตีกันเอง

3.การวินิจฉัยโรคติดเชื้อต้องควบรวมศูนย์บัญชาการหนึ่งเดียวประสานข้อมูลจากท้องถิ่นและโรงพยาบาลทุกระดับเพื่อให้ทราบสถานการณ์ที่ยกระดับขึ้นอย่างผิดปกติ และที่สำคัญคือต้องได้มาซึ่งกระบวนการวินิจฉัยเชื้อทั้งที่มีอยู่แล้วและชื่อที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนอย่างรวดเร็วที่สุด และแน่นอนถ้าราคาถูกเข้าถึงได้

ไม่ใช่ลงไปลุยหาเชื้อไม่รู้จักชื่อในสัตว์ป่า กลับกลายเป็นนำเชื้อร้ายจากป่าสู่ชุมชนมนุษย์และเอาเชื้อในมนุษย์ กลับใส่เข้าไปในสัตว์ป่าเกิดผสมรวมกันเป็นเชื้อใหม่

ในมนุษย์ที่ติดเชื้อเกิดโรคไปแล้ว ปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่าครึ่งที่ไม่รู้ว่าเป็นเชื้ออะไรโดยเฉพาะไวรัส

ดังนั้นการได้มาถึงสาเหตุของโรคถึงชนิดของเชื้อในคนที่เกิดโรคแล้วเป็นเรื่องสำคัญที่สุด รู้เร็วรักษาเร็วช่วยชีวิตและกันไม่ให้เกิดระบาดในวงกว้าง

และแน่นอนต้องทำให้โรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลร้าง ไอซียูเงียบเหงา ศูนย์หัวใจศูนย์ล้างไตเจ๊งกันระนาว นั่นหมายถึงสุขภาพของมนุษย์คนไทยถึงจุดที่สามารถปกป้องตนเองได้จากโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อแล้ว

ความฝันหลังจากดูคนไข้เสร็จ วันที่ 11 สิงหาคม 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไขข้อข้องใจ! ความดันสูงกับ 'ความดันกลางคืน' สำคัญอย่างไร

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ความดันสูงและความดันตอนกลางคืนสำคัญอย่างไร

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 5 อัปเดตเส้นทางพายุโซนร้อน 'พระพิรุณ'

นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “พระพิรุณ” ฉบับที่ 5 (145/2567) โดยมีใจความว่า

อุตุฯ เตือนฝนฟ้าคะนอง 36 จังหวัด รับมือท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ประกอบกับพายุโซนร้อน

พยากรณ์อากาศ 10 วันล่วงหน้า พบสัญญาณการก่อตัว 'พายุไต้ฝุ่น'

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า