การยกระดับคุณภาพของการบริการด้านสาธารณสุข ผ่านโครงการชุมชนสุขภาพดีประสบการณ์ของประเทศไทย

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับ เพราะเป็นการบริการด้านสุขภาพของรัฐที่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนทุกส่วน ทุกคนในสังคมควรได้รับการประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียมกันบนหลักการสำคัญที่ว่า  บริการที่จำเป็นด้านสุขภาพเป็นของทุกคน

อย่างไรดี ในทางปฎิบัติ ยังมีปัญหาในการดำเนินการในโครงการนี้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในคนบางกลุ่ม ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึง  กลุ่มผู้ที่มีความพิการทางสติปัญญา ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะคนผู้พิการทางสติปัญญามีปัญหาทางสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น คนกลุ่มที่มีความพิการทางสติปัญญานี้มีโอกาสที่จะเสียชีวิตก่อนอายุ 50 ปีมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า         มีโอกาสเป็นโรคไขข้ออักเสบมากกว่าคนกลุ่มอื่น 3 เท่า  เป็นโรคหัวใจมากกว่า 2 เท่า เบาหวานมากกว่า 5 เท่า

ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับผู้พิการทางสติปัญญาแล้ว การเข้าถึงการบริการสุขภาพถ้วนหน้ายังเป็นสิ่งที่ยากลำบากกว่าคนทั่วไป ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นไม่ใช่แต่ในประเทศไทย แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม ยังมีความไม่เท่าเทียมกันอีกมาก  ทั้งนี้เป็นเพราะความพิการทางสติปัญญาทำให้คนกลุ่มนี้มักจะไม่สามารถดูแลเอาใจใส่สุขภาพของตนเองได้อย่างละเอียด บางคนมีปัญหาในการสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆมากกว่าคนทั่วไป  ในหลายกรณีพบว่า กว่าจะตรวจพบปัญหา มักจะอยู่ในระดับที่ร้ายแรงแล้ว

เพื่อการแก้ไขปัญหานี้ ในระดับนานาชาติได้มีความคิดริเริ่มจากองค์กรสเปเชียลโอลิมปิคสากล ให้มีการจัดทำโครงการ Healthy Communities หรือ โครงการชุมชนสุขภาพดี ให้กับผู้พิการทางสติปัญญา เพื่อให้ผู้พิการทางสติปัญญาได้สามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น และยั่งยืนขึ้น  โดยหวังว่า โครงการนี้จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้นในการประกันสุขภาพ

ได้มีการเริ่มดำเนินการโครงการชุมชนเพื่อสุขภาพดีนี้ ในปี 2555 ภายใต้องค์กรสเปเชียลลิมปิคสากล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Golisano Foundation หรือ มูลนิธิโกลิซาโน โดยในครั้งแรกมีการทดลองดำเนินการใน 8 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ที่มีสมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทยเป็นแกนหลักในการประสานงาน  โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะขยายการบริการสุขภาพให้ครอบคลุมถึงผู้พิการทางสติปัญญามากขึ้น  มีการนำองค์กรระดับท้องถิ่นมาร่วมมือมากขึ้น และสร้างความตระหนักถึงปัญหาของผู้พิการทางสติปัญญาให้สังคมได้รับรู้มากขึ้น    

ในประเทศไทยโครงชุมชนสุขภาพดี เป็นความร่วมมือระหว่าง สเปเชียลโอลิมปิคไทย กับหน่วยงานรัฐ และยูนิเซฟ  จัดให้มีระบบการดูแลสุขภาพผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ด้วยการพัฒนาระบบและเครื่องมือในการคัดกรอง และประเมินสุขภาพผู้พิการทางสติปัญญา  ซึ่งมีความเฉพาะและแตกต่างจากบุคคลทั่วไป โดยมีเป้าหมายว่า จะให้ระบบการดูแลสุขภาพที่รัฐมีอยู่นั้น ให้บริการสำหรับผู้พิการทางสติปัญญาที่เทียบเท่าหรือดีกว่าคนไข้ทั่วไปที่ไม่พิการ  ที่สำคัญคือ ให้บุคลากรสาธารณสุขมีความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลคนไข้ที่พิการทางสติปัญญา ซึ่งรวมถึงการสื่อสาร และให้ความสะดวกสำหรับผู้พิการทางสติปัญญา ได้เข้าถึงบริการทางสาธารณสุข

ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ 10 ของการจัดทำโครงการนี้ มีประเทศทั่วโลก 75 ประเทศได้มีการจัดทำโครงการชุนชนสุขภาพดีขึ้น โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมี 17 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ  โดยในปีนี้ได้มีการจัดการประชุมเรื่อง Healthy Communities Expo ขึ้นเป็นการประชุมออนไลน์ 2 วันเต็ม มีผู้เข้าร่วมจากภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคนี้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งผู้บริหารโครงการสเปเชียลโอลิมปิค  องค์กรด้านสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน นักกีฬาและครอบครัว  การจัดให้มีงาน Expo นี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของโครงการชุมชนสุขภาพดี ได้มีการยกย่องผู้มีส่วนร่วมโครงการนี้จากประเทศต่างๆ และให้การศึกษากับผู้ที่สนใจจะหาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้มีการยกตัวอย่างประเทศไทยหลายครั้ง โดยเฉพาะ Annemarie Hill ซึ่งเป็น Vice President ของ Global Health Operations, Special Olympics International ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยว่า “..เราได้เริ่มโครงการทดลองนี้ในปี 2555 และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องของโครงการชุมชนสุขภาพดี โดย(สเปเชียลโอลิมปิคไทย)ได้มีการตั้งมาตรฐานการทำงานโครงการนี้ไว้สูงมาก  และสิ่งที่ทำให้ดิฉันดีใจ คือ ในเวลาต่อมาจนปัจจุบัน ได้มีการรักษามาตรฐานการทำงานที่สูงเช่นนี้ไว้ ในองค์กรสเปเชียลโอลิมปิคต่างๆที่ได้เข้ามาร่วมกับเรา”

ในงาน Expo นี้ประเทศไทยได้รับเกียรติให้นำเสนอ “Best Practices” หรือ แนวทางปฎิบัติที่ดีในการดำเนินโครงการนี้  โดยในประเทศไทยได้ดำเนินการโครงการชุมชนสุขภาพดีในสถานศึกษาเป็นหลัก  โดยจัดให้มีการตรวจคัดกรองสุขภาพเป็นประจำทุกปีให้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาที่อยู่ในโรงเรียน  โดยใช้บุคคลการทางสาธารณสุขที่ความเป็นมืออาชีพเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการหลัก  โดยจัดให้มีการคัดกรองสุขภาพในเรื่องต่างๆ รวมถึงการให้การศึกษากับครอบครัวอีกด้วย

คุณรัชนีวรรณ บุลกุล ซึ่งเป็น National Director ของสเปเชียลโอลิมปิคไทย ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการนี้มาจากการร่วมมือ 4 องค์กร อันได้แก่ สถาบันราชานุกูล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมอนามัย และ ยูนิเซฟประเทศไทย  โดยมีการเริ่มทดลองโครงการนี้ใน 6 จังหวัดเพื่อปี 2556 และในปี 2564 ได้ขยายผลไปสู่ 51 จังหวัดในการดำเนินการโครงการชุมชนสุขภาพดีนี้ ซึ่งมีผลต่อนักกีฬามากกว่า 3 หมื่นคน  นอกจากนี้ มีการทำวิจัยโดย  ดร. เพลิน ประทุมมาศ เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของโครงการนี้ ซึ่งรวมถึงข้อแนะนำเพื่อให้มีการจัดทำโครงการแบบยั่งยืน  ที่สำคัญโครงการนี้ได้สร้างความตระหนักให้บุคคลากรทางการแพทย์ในเรื่องผู้พิการทางสติปัญญา และได้มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมากจากทั้งภาครัฐและเอกชน

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารขององค์กรขององค์การยูนิเซฟประเทศไทย คุณณัฐฐา กีนะพันธ์ ได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของยูนิเซฟ โดยการสนับสนุนเงินทุนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี รวมถึงช่วยประสานกับภาครัฐบาล และการจัดให้มีการประเมินโครงการนี้

อนึ่ง ด้วยการที่มีการตระหนักถึงความต้องการบริการสุขภาพของผู้พิการทางสติปัญญาที่แตกต่างกับคนทั่วไป และความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 ของคนกลุ่มนี้มีมากกว่าทุกกลุ่ม ทำให้มีการให้ความสำคัญเป็นลำต้นในการให้คนกลุ่มผู้พิการทางสติปัญญาเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อน

โดยสรุป จากการเก็บข้อมูลจากทั่วโลก พบว่าโครงการชุมชนสุขภาพดีได้ช่วยให้ผู้พิการทางสติปัญญามีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  การที่มีการคัดกรองสุขภาพหลากหลายทำให้ลดจำนวนคนไข้ที่ต้องส่งต่อลงไป การเข้าถึงบริการสาธารณสุข จึงถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครอบครัวและระบบสาธารณสุข  การที่เข้าไปดำเนินการแต่แรก (early intervention)  และการติดตามอย่างต่อเนื่องที่เหมาะสม จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ทุกคน

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร. นริศ ชัยสูตร
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

นายกสมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย

                

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' ยกตัวอย่างคนป่วยวัคซีนโควิด รายแล้วรายเล่า ถ้านิ่งเฉยไม่ควรเป็นแพทย์หรือมนุษย์

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ตัวอย่างของคนป่วย รายแล้วรายเล่า ไม่จบไม่สิ้นนำมาแสดงบางราย ทั้งนี้เป็นที่หมอดูเองและร่วมดูทั้งสิ้น