'จุลินทรีย์ในลำไส้' นั้นสำคัญไฉน! ทำไมโยงหลายโรค-สมองเสื่อม

23 มิ.ย. 2566 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า จุลินทรีย์ในลำไส้…ที่มาและที่จะไปต่อ (ตอนที่ 2)

การจัดระยะการดำเนินโรค Braak staging ยังมีเช่นกันในโรคอัลไซเมอร์ ตั้งแต่ปี 1991 และจัดแบ่งระยะที่หนึ่งถึงสองระยะที่สามถึงสี่และระยะที่ห้าถึงหกตามตำแหน่งของสมองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติและโปรตีนพิษเหล่านี้จะมีการเคลื่อนย้ายส่งผ่านไปสู่สมองส่วนต่างๆ เป็นระเบียบ ตามลักษณะของโรคแต่ละชนิด

ลักษณะการเคลื่อนย้ายส่งผ่านโปรตีนพิษเหล่านี้จะพบได้ในสมองเสื่อมประเภทต่างๆ ด้วย เช่น frontotemporal dementia (FTD) progressive Supranuclear palsy (PSP) amyotrophic lateral sclerosis (ALS)

โปรตีนเหล่านี้เป็นอันตราย โดยจะมีตัวรับสัญญาณอันตรายในเซลล์ที่พยายามที่จะคลี่คลายโปรตีนเหล่านี้ โดยกำจัดทิ้งหรือจะคลายตัวให้เป็นปกติและนำไปใช้ใหม่ ทั้งนี้จะสู้ไหวหรือไม่ขึ้นอยู่กับชะตากรรม พันธุกรรมที่เกิดมา อายุและโรคประจำตัวอื่นๆโดยเฉพาะที่ทำให้เกิดการอักเสบ

หลักฐานที่เชื่อมโยงลำไส้เส้นประสาทและสมองที่สำคัญ คือไส้ติ่ง โดยคนที่ผ่าตัดไส้ติ่งจะลดความเสี่ยงของโรคพาร์กินสันได้ประมาณ 20% โดยเฉพาะถ้าอยู่ในชนบทอยู่กับธรรมชาติจะลดลงได้ถึง 25.4% และ ถึงแม้ว่าจะเกิดเป็นขึ้นมาก็จะเกิดอาการช้ากว่า 3.6ปี สำหรับผู้ที่ผ่าไส้ติ่งไปแล้วนานกว่า 30 ปี ซึ่งตรงกับข้อมูลอีกหลายรายงาน ที่ แม้ว่าไส้ติ่งของคนปกติจะมีโปรตีนของพาร์กินสันอยู่ก็ตาม แต่ปริมาณโปรตีนของคนที่เป็นพาร์กินสันส์นั้นจะมากกว่าถึง 4.5 เท่า

เส้นประสาทที่เชื่อมโยงลำไส้กับสมองคือเส้นที่ 10 โดยพบว่าถ้ามีการตัดเส้นประสาทเส้นนี้ในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร ถ้าตัดเป็นบางส่วนจะไม่ช่วยลดความเสี่ยงพาร์กินสันเทียบกับตัดทั้งอยู่ยวง

ในปี 2013 รายงานที่สำคัญอย่างยิ่งในวารสาร Nature Medicine พิสูจน์ความสำคัญของจุลินทรีย์ในลำไส้ โดยอาหารที่มีโคลีน ฟอสฟาทิดิลโคลีน คาร์นิทีน (L-carnitine) มาก ได้แก่เนื้อแดง ไข่แดง เมื่อตกไปถึงลำไส้จะถูกจุลินทรีย์ย่อยและเปลี่ยนไปเป็นสารที่ก่อการอักเสบในร่างกายและเส้นเลือด คือ TMA ซึ่งถูกเปลี่ยนเป็น TMAO ในตับ

และแสดงให้เห็นชัดเจนว่า คนที่กินเนื้อเมื่อทดลองให้กิน แอล-คาร์นิทีน จะมีการผลิตสารอักเสบในระดับที่สูงกว่าคนที่เป็นมังสวิรัติหรือกินพืชผักผลไม้เป็นหลัก และที่สำคัญก็คือมีแบคทีเรียตระกูลดีและเลวต่างกัน เมื่อทำการตรวจอุจจาระและมีความสัมพันธ์กันกับทั้งชนิดของอาหารที่กินเป็นประจำและระดับของสารอักเสบ TMAO และระดับของสารอักเสบนี้เองยังสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัด คนที่จะเกิดเรื่องเป็นหัวใจวาย เส้นเลือดหัวใจตันเส้นเลือดสมองตัน

การให้หนูกินแอล-คาร์นิทีน นานๆ จะไปเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้และผลิตสารอักเสบ รวมกระทั่งทำให้เกิดมีเส้นเลือดแข็งและตีบ และในหนูที่มีจุลินทรีย์ที่ดี แม้จะให้อาหารที่มีสารเหล่านี้อยู่จะไม่เกิดผลร้าย

ทั้งหมดนี้เป็นการเชื่อมโยงชนิดประเภทของอาหารส่วนประกอบในอาหาร จุลินทรีย์ในลำไส้ การเกิดสารอักเสบย้อนกลับเข้าไปทำร้ายร่างกายและเส้นเลือด

รายงานที่มาคู่กัน ในวารสารนิวอิงแลนด์เจอนัล ในปีเดียวกันได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกันถึงอาหารที่มีโคลีน เลซิติน จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคของเส้นเลือดในร่างกาย

เส้นเลือดยังมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสมองเช่นเดียวกัน ดังในรายงานในวารสาร Nature communications ปี 2016 ที่พบว่าความผิดปกติของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ เริ่มต้นประการแรก จากเส้นเลือดที่ไม่สามารถปรับตัวส่งเลือดไปยังสมองได้ตามความเหมาะสม (vascular dysregulation) ก่อนหน้าที่จะมีการสะสมของโปรตีนพิษในสมองด้วยซ้ำ

ซึ่งวงจรของสมองเสื่อม จึงประกอบไปด้วยการอักเสบในร่างกายซึ่งกระทบกับเส้นเลือดในสมอง เป็นการยิงเป้า hit 1 และ ต่อด้วย hit 2 คือการผลิตโปรตีนบิดเกลียวเพิ่มขึ้นและระบบการกำจัดลดลง นำไปสู่การทำงานแปรปรวนของระบบประสาทและถ้าไม่ได้ถูกแก้ไข เส้นประสาท เซลล์ประสาท เสียหาย ตาย สมองเหี่ยวฝ่อเกิดเป็นอาการสมองเสื่อมเต็มขั้น

บทบาทของจุลินทรีย์ในลำไส้ยังถูกค้นพบ เพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้นมาตั้งแต่ปี 2000 จนกระทั่งถึงปี 2022 ทั้งนี้โดยที่คนที่ถูกกำหนดชะตากรรมว่าจะมีสมองเสื่อมจะมีจุลินทรีย์ในลำไส้ผิดปกติทั้งในด้านการขาดความหลากหลายของชนิดของจุลินทรีย์และประเภทกลุ่มที่มีอยู่นั้น กลายเป็นพวกที่หน้าตาดุร้ายร้อนแรง สร้างการอักเสบ (dysbiosis) ดังรายงานในปี 2016 เป็นต้น ที่เป็น Escherichia/Shigella แทนที่จะเป็น Eubacterium rectale และยังสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ในหนูที่ปรับแต่งพันธุกรรมเหนี่ยวนำให้เป็นสมองเสื่อมแบบในคน รวมทั้งทำให้เป็นหนูที่ปราศจากเชื้อ (germ free) จะมีโปรตีนพิษไม่มากนัก แต่เมื่อใส่แบคทีเรียที่ได้จากหนูธรรมดาหรือหนูสมองเสื่อมเข้าไปในลำไส้ จะมีการผลิตโปรตีนพิษเพิ่มมากขึ้นในทันที

ในมนุษย์ เช่นในรายงานปี 2020 จากคณะนักวิทยาศาสตร์อิตาเลี่ยนพบว่าการสะสมตัวของโปรตีนพิษ อมิลอยด์ มีความสัมพันธ์กับสารไม่ดีที่แบคทีเรียในลำไส้ผลิตขึ้นโดยการวัดระดับ lipopolysaccharide (LPS) กรดไขมันสายสั้น acetate valerate butyrate และสารที่ เหนี่ยวก่อให้เกิดการอักเสบและตัวที่ชี้วัด การทำงานผิดปกติของเซลล์หลอดเลือด จากนั้นนำไปเปรียบเทียบเพื่อหาความสัมพันธ์กับการตรวจ PET scan และทดสอบการทำงานของสมอง

ลักษณะความเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตากลุ่มของจุลินทรีย์ ทั้ง ระดับ phylum class และ genus ยังมีการศึกษา ในคนไข้สมองเสื่อมอัลไซเมอร์ใน Kazakhstan เช่นกัน แลดูคล้ายกับว่าจะมีแบบแผนเฉพาะในเชื้อชาติเข้ามาด้วย และรวมทั้งการศึกษาชนิดประเภทของจุลินทรีย์ในลำไส้ยังมีความสัมพันธ์กับโรค พาร์กินสันส์ และโรค สมองเสื่อมที่ชื่อว่า diffuse Lewy body (DLB) และแม้แต่ DLB ที่เริ่มเป็นหรือที่เป็นเต็มเหนี่ยวแล้ว จะมีหน้าตาของจุลินทรีย์ต่างกันชัดเจน

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเพื่อที่จะให้ทราบรูปแบบของจุลินทรีย์ในโรคทางสุขภาพต่างๆ และโรคสมองเสื่อมและการปรับเปลี่ยนรูปแบบอาหาร ส่วนประกอบของอาหารเวลาที่จะกินอาหาร จะกินน้อยกินมากเพียงใด และกินระยะเวลาเท่าใดใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บิดสะบัดคอระวังอัมพฤกษ์! ‘หมอธีระวัฒน์’ แนะวิธีแก้เมื่อยคอด้วยตัวเองที่ถูกต้อง

เรื่องใกล้ตัวที่เป็นท่าบริหารประจำหรือที่ทำ เวลาเมื่อย หรือเป็นกระบวนการในการนวดคลายเมื่อย ดัดเส้น รวมทั้ง เป็นกรรมวิธีในการบำบัดทางกายภาพและจัดกระดูก

'เส้นเลือดแตกในสมอง' ทำไมพบบ่อยมากและรุนแรงขึ้น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เส้นเลือดแตกในสมอง

ไขข้อข้องใจ! ทำไมกินช็อกโกแลตแล้วสุขภาพดี

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กินช็อกโกแลตแล้วสุขภาพดี…… สนใจมั้ย?

'หมอสมอง' เตือน! 'บิด เอียง สะบัดหมุน ดัดคอ' เสี่ยงอัมพฤกษ์

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า บิด เอียง สะบัดหมุน ดัดคอ…แล้วก็เสี่ยงอัมพฤกษ์