'WHO-FDA' ชงใช้สายพันธุ์ XBB ต้นแบบผลิตวัคซีนโควิด

16 มิ.ย. 2566 – ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) ประสานเสียงเสนอให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เปลี่ยนมาใช้โอมิครอนสายพันธุ์เดียว XBB เป็นหัวเชื้อหรือต้นแบบในการผลิต “วัคซีนโมโนวาเลนต์” พร้อมแนะนำให้ประเทศต่างๆ ควรเตรียมตัวเปลี่ยนมาใช้วัคซีน XBB เพื่อทันต่อการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเกิดอาการรุนแรงหากติดเชื้อกลายพันธุืในปีหน้า พ.ศ. 2567 แทนการใช้วัคซีน 2 สายพันธุ์ (ไวรัสอู่ฮั่น+โอไมครอน BA.4/BA.5) หรือ “วัคซีนไบวาเลนต์” ซึ่งได้มีการนำมาใช้ในช่วงปีนี้ พ.ศ. 256ุุ6

อย่างไรก็ดีข้อเสนอแนะจาก WHO และ FDA เป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น ประเทศต่างๆ และผู้ผลิตวัคซีนพิจารณาเองว่าจะดำเนินการหรือไม่ หาดำเนิการจะใช้วัคซีนชนิดใด หรือผลิตวัคซีนด้วยโควิดสายพันธุ์ใด อย่างไรก็ตามคำแนะนำของ WHO และ FDA เป็นการบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าวัคซีนโควิด สายพันธุ์ XBB ชนิดโมโนวาเลนต์น่าจะเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการปกป้องผู้คนจากโควิด-19 ที่จะมีการระบาดในปีหน้า

องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (US FDA) แถลงว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ให้เห็นว่าวิวัฒนาการของไวรัสโคโรนา 2019 ชะลอตัวหรือลดลง

วัคซีนโควิด-19 ในอนาคตควรเป็นวัคซีนสายพันธุ์เดียว หรือวัคซีนโมโนวาเลนต์ (covid-19 monovalent vaccine) ที่กำหนดเป้าหมายไปที่โอมิครอน XBB.1.5, XBB.1.16 หรือ XBB.2.3

เนื่องจากปัจจุบันพบสายพันธุ์ย่อย XBB มากกว่า 95% ของสายพันธุ์ไวรัสที่หมุนเวียนระบาดอยู่ในสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566
สายพันธุ์ XBB หลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากกว่าสายพันธุ์ย่อยโอมิครอนก่อนหน้า และปัจจุบันคิดเป็นประมาณ 95% ของผู้ป่วยโควิดทั่วโลก

ในสหรัฐอเมริกา พบสายพันธุ์ XBB จำนวน 8 สายพันธุ์คิดเป็นกว่า 98% ของผู้ป่วยทั้งหมดในปัจจุบัน โดยมี 3 สายพันธุ์หลักโอไมครอน XBB.1.5 จำนวน 40% และ XBB.1.16 ประมาณ 18% และ XBB.2.3 ประมาณ 6% ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทยพบสายพันธุ์โอไมครอนจากฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) ระหว่าง 1 พฤษภาคม-15มิถุนายน 2566 จำนวน 658 ราย พบเป็นสายพันธุ์

โอมิครอน XBB ประมาณ 95.6%

XBB.1.5 ประมาณ 17.5%

XBB.1.16 ประมาณ 35.6%

XBB.1.9 ประมาณ 13.5%

XBB.2.3 ประมาณ 4.7%

โอมิครอน XBB.1.16, XBB.1.9 และ XBB.2.3 คาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นมาและแทนที่ XBB.1.5 ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2566

การประเมินประสิทธิผลของวัคซีนสองสายพันธุ์ (covid-19 bivalent vaccine) ล่าสุดในผู้ใหญ่ชี้ให้เห็นว่าการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด-19 ลดลงจาก 62% ใน 2 เดือนแรกหลังการฉีดวัคซีนเหลือเพียง 24% ใน 4 เดือนหลังจากการฉีดวัคซีน ดังนั้นประชาชนในกลุ่มเปราะบางจึงควรพิจารณาเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น

องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เปลี่ยนไปผลิตวัคซีนสายพันธุ์ XBB แบบโมโนวาเลนต์ในฤดูกาล 2566-2567 คำแนะนำนี้มาจากความจริงที่ว่าสายพันธุ์ XBB เป็นสายพันธุ์ที่โดดเด่นของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกในขณะนี้ และพวกมันสามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าและหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า ซึ่งหมายความว่าผู้ที่เคยได้รับวัคซีนหรือติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้าโอไมครอน XBB ยังจะไวต่อการติดเชื้อและมีอาการป่วยจากสายพันธุ์ XBB ได้ วัคซีนสายพันธุ์ XBB ชนิดโมโนวาเลนต์จะมีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนรุ่นเดิมในการปกป้องผู้คนจากการติดเชื้อโอไมครอนและป้องกันอาการรุนแรงจากการติดเชื้อโอไมครอนกลายพันธุ์ที่จะระบาดในอนาคต

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศต่างๆ ยังใช้วัคซีนไบวาเลนต์ที่มีอยู่ต่อไปตลอดฤดูกาล 2565-2566 แต่ควรเริ่มวางแผนปรับเปลี่ยนไปใช้วัคซีนสายพันธุ์ XBB ชนิดโมโนวาเลนต์ในฤดูกาล 2566-2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตวัคซีนมีเวลาเพียงพอในการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนใหม่

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารขององค์การอาหารและยา (FDA) ที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้กล่าวว่าหลักฐานที่มีอยู่บ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 ในปีนี้ควรกำหนดให้สายพันธุ์ XBB เป็นหัวเชื้อหรือต้นแบบในการผลิตวัคซีนในปี 2566-2567 ทั้งยังแนะนำให้ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เปลี่ยนไปผลิตวัคซีนสายพันธุ์ XBB แบบวัคซีนโมโนวาเลนต์สำหรับฤดูกาล 2566-2567 เช่นเดียวกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและยาเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวิธีการพัฒนาและการใช้วัคซีนโควิด-19 เป็นสัญญาณว่าไวรัสกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ในอนาคต

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้ใช้สายพันธุ์เก่ามาเป็นหัวเชื้อร่วมกับสายพันธุ์ใหม่ (วัคซีนไบวาเลนต์) แม้ผลกระทบทางคลินิกจะยังไม่ชัดเจนแต่มีหลักฐานในหลอดทดลองบ่งชี้ว่าหากใช้สายพันธุ์เดิมฉีดกระตุ้นซ้ำๆจะทำให้การสร้างแอนติบอดีของเม็ดเลือดขาวต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ไปเล็กน้อยลดประสิทธิภาพลง (การประทับตราภูมิคุ้มกัน: immune imprinting) จึงควรใช้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่เท่านั้นในการผลิตวัคซีนในอนาคต

การฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนที่ใช้ไวรัสตัวเดิมซ้ำๆ อาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีกล่าวคือเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การประทับตราภูมิคุ้มกัน: Immune imprinting” เป็นกระบวนการที่ระบบภูมิคุ้มกันของเราเรียนรู้จดจำรูปลักษณ์ของไวรัสที่ใช้ผลิตวัคซีน เช่น ในกรณีของวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ไวรัสดั้งเดิมอู่ฮั่นมาโดยตลอด ข้อดีคือจะช่วยให้ร่างกายของเราตอบสนอง(สร้างแอนติบอดี) ได้เร็วขึ้นหากพบไวรัสตัวเดิมอีกในอนาคต อย่างไรก็ตามหากร่างกายเรากลับพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยจากสายพันธุ์เดิม เช่น XBB ระบบภูมิคุ้มกันอาจยังคงจดจำรูปแบบเดิมของไวรัสสายพันธุ์เก่าที่เรียนรู้จากการรับวัคซีน “ไม่มูฟออน” ทำให้ไม่สร้างแอนติบอดีต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือสร้างน้อย อุบัติการณ์นี้พบได้ในหลอดทดลองแต่ยังไม่มีความชัดเจนในระบบร่างกายมนุษย์

คำแนะนำของ WHO และ FDA เป็นขั้นตอนเชิงบวกในการต่อสู้กับโควิด-19 พวกเขาจะช่วยให้แน่ใจว่าผู้คนสามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่มีอยู่ และจะช่วยปกป้องผู้คนจากสายพันธุ์ที่อันตรายที่สุดของไวรัสในอนาคต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'คารม' บอกรัฐบาลเฝ้าระวังโรคไอกรนใกล้ชิดผู้ปกครองไม่ต้องห่วง

'คารม' เผยรัฐบาลร่วมบูรณาการเฝ้าระวังโรคไอกรนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในโรงเรียน เน้นย้ำเฝ้าระวัง ติดตามอย่างเข้มงวด ป้องกันการแพร่ระบาด ขอผู้ปกครองอย่าเป็นกังวล