ปัญหาผู้สูงอายุไทยเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องมีการแก้ไขอย่างจริงจัง ปัจจุบันสังคมไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลสถิติในปี 2563 ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 18 ของประชากรทั้งประเทศ หรือราว 12 ล้านคน และคาดว่า ปี 2565 ไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 เรียกได้ว่า ไทยมีเวลาเหลือน้อยเต็มทีในการเตรียมความพร้อมและพัฒนาระบบเพื่อรองรับผู้สูงอายุไทยก่อนสาย
จากสถานการณ์ผู้สูงอายุที่ไทยต้องเผชิญ งานเปิดคลังความรู้มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย”องค์ความรู้เพื่อการพัฒนา สูงอายุอย่างมีคุณค่าในบริบทไทย” ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักการงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีการนำเสนอผลงานวิจัยและเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ เพื่อเตรียมรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานศักยภาพและโอกาสของผู้สูงวัย
เวทีนี้ชวนทุกภาคส่วนใส่ใจผู้สูงอายุ พร้อมเสนอแนะให้รัฐและท้องถิ่นพิจารณาปรับปรุงนโยบายและมาตรการต่างๆ ลดช่องว่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อสร้างสังคมของผู้สูงอายุให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ลดอัตราผู้สูงวัยที่ถูกทอดทิ้ง จนกระทั่งปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมบางส่วนเชื่อว่า การดูแลผู้สูงอายุต้องอยู่บ้านพักคนชราหรือศูนย์ฟื้นฟูดูแลจะดีที่สุดต่อสุขภาพคนแก่
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ปาฐกถาพิเศษในงานว่า สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำมาก การพัฒนาเป็นประโยชน์ต่อคน 1 % เท่านั้น แต่คน 99 % ไม่ได้ประโยชน์ สังคมเมืองเป็นสังคมแบบตัวใครตัวมันและเหลื่อมล่ำสุดๆ นำมาสู่ปัญหาลูกโซ่ การพัฒนาแบบแยกส่วน ทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา ที่ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ทำให้เสียสมดุล มีหลายชีวิตถูกทอดทิ้ง โดยเฉพาะคนสูงอายุ เด็ก และคนพิการ
“ ผู้สูงอายุรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ ถูกทอดทิ้งเปลี่ยวเหงา ยากจน และต้องรับบริการทางสุขภาพแพงสุดๆ เงินที่เก็บไว้มาทั้งชีวิต ถูกปล้นจากการเจ็บป่วย ขณะที่ลูกไม่ได้อยากทิ้งพ่อแม่ แต่ต้องทำงานตัวเป็นเกลียว เมื่อแก่ด้วย จนด้วย และป่วยด้วย จึงน่าสลดใจ นี่คือ โจทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องคิด จะมีการพิจารณาปรับปรุงโรงพยาบาลในสังกัดสาธารณสุข โรงพยาบาลในชุมชน เพื่อให้บริการผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและทั่วถึงได้อย่างไร ต้องพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ชุมชนของประเทศไทย “ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ เสนอแนวทางเพื่อให้คนสูงวัยไทยใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ
มาตรการทางนโยบายสาธารณะที่มีอยู่ของประเทศไทยยังไม่เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ผู้สูงอายุ เป็นประเด็นสำคัญที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) แสดงความวิตก ในขณะที่ตัวเลขผู้สูงอายุไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สถานะสุขภาพของผู้สูงอายุไม่ดี มีทั้งป่วยโรคสมองเสื่อม และอยู่ในภาวะติดเตียง
ประธานมูลนิธิ มส.ผส. บอกว่า แม้จะไม่มีฐานข้อมูลผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งอย่างละเอียดและเป็นระบบ ภาคสาธารณสุขมองแค่เรื่องติดบ้าน ติดเตียง ติดสังคม แต่จากการศึกษาพบผู้สูงอายุไม่ได้รับการเอาใจใส่จากหลายประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบครอบครัว พ่อแม่อยู่กันแค่ 2 คน ครอบครัวเล็กลง ครอบครัวผู้สูงอายุที่อยู่ด้วยกันเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุที่ติดเตียงกว่าครึ่งดูแลโดยผู้สูงอายุ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายจึงนำมาสู่การสำรวจเพื่อให้มีฐานข้อมูลที่ลึกซึ้งเพื่อให้เห็นภาพของครัวเรือนไทย ผู้สูงอายุเป็นภาระหรือเป็นพลัง แต่ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้การสำรวจหยุดชะงักไป แต่งานจะเดินต่อ เพื่อให้ท้องถิ่นเข้าถึงข้อมูลนี้เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงกับชุมชน
“ ผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าครึ่ง น่าเป็นห่วงผู้สูงอายุอยู่ในฐานะยากลำบาก ผู้สูงอายุที่ยังต้องทำงานมีจำนวนมาก และทำงานด้วยความยากลำบาก รายได้ไม่พอ ได้งานไม่เหมาะ คนทำงานกว่าครึ่งอยู่ในภาคเกษตร จำนวนหนึ่งเป็นผู้ใช้แรงงาน ไม่ใช่เจ้าของธุรกิจ แล้วยังพบเคสผู้สูงอายุที่หิวโหยไม่มีกิน อยู่ในบ้านที่ไม่เหมาะ “ นพ.สมศักดิ์ สะท้อนชีวิตผู้สูงอายุของไทย
ในช่วงโควิด-19 สุขภาพกายและสุขภาพใจของผู้สูงอายุก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ประธานมูลนิธิคนเดิมระบุทั้งถูกปรับลดเงินเดือน รายได้ลดลง ตกงาน สูญเสียอาชีพ ไม่สามารถออกไปโรงพยาบาล เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ และความช่วยเหลือต่างๆ ผู้สูงอายุติดเตียงไม่ได้รับยา ไม่ได้รับบริการวัคซีนป้องกันโควิดที่ครอบคลุมสำหรับข้อเสนอแนะและการจัดการปัญหาที่จะเกิดประโยชน์ให้ผู้สูงอายุไทยใช้ชีวิตสบายหลังเกษียณนั้น นพ.สมศักดิ์ บอกมีเป้าหมายสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การพัฒนาการจัดระบบบริการสุขภาพที่ยังเป็นช่องว่างอยู่ในปัจจุบัน เพื่อลดผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงในอนาคต แม้จะป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ เส้นเลือดสมองแตก การหกล้ม สมองเสื่อม ผู้ป่วยติดเตียง หากมีระบบบริการสาธารณสุขที่ดี จะไม่พิการ สุขภาพดีขึ้น ลดการพึ่งพิงได้ รวมถึงผู้สูงอายุที่ป่วยหนัก ระยะสุดท้ายของผู้สูงอายุควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เป็นภาระ ซึ่งปัจจุบันไม่มีการออกแบบระบบนี้
“ ความท้าทายในการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุปีหน้า คือ การออกแบบระบบทำให้ผู้สูงอายุที่มีร่างกายเสื่อมถอยได้รับการดูแล ถ้าเจ็บป่วยถึงขั้นพิการต้องสร้างการดูแลต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูร่างกายโดยเร็ว ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุที่ป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล เมื่อพ้นขีดอันตราย จะให้กลับบ้าน ทั้งที่ควรมีระบบส่งต่อโรงพยาบาลในชุมชน เป็นการฟื้นฟูดูแลสุขภาพระยะกลาง ควบคู่การให้คำแนะนำการดูแลและการกายภาพผู้สูงอายุให้กับสมาชิกในครอบครัว ก่อนผู้สูงอายุจะกลับไปรักษาตัวที่บ้านระยะยาว “
ภาพ:เปาโล
ในไทยมีการสำรวจพบผู้สูงอายุที่ป่วยระยะสุดท้ายกว่าร้อยละ 80 เข้าสู่การรักษาแบบสู้ตาย แทนที่พวกเขาควรเข้าสู่การรักษาแบบประคับประคอง ประธาน มส.ผส. บอกว่า ถ้าจัดระบบบริการสุขภาพและการวิเคราะห์วางแผน พร้อมให้คำปรึกษา ผู้สูงอายุที่ป่วยหนักจะได้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ในบ้านกับสมาชิกในครอบครัว ก่อนที่จะเสียชีวิต
2) กลไกการสร้างโอกาสและเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุให้มีงานทำ และสร้างระบบเตรียมพร้อมสร้างงานเพื่อผู้สูงอายุ องค์กรส่วนท้องถิ่นสามารถขับเคลื่อนบทบาทนี้ได้ นพ.สมศักดิ์ ขยายความว่า เราอยากเห็นสังคมที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุยังคงอยู่ในการทำงานต่อเนื่อง นานที่สุด และทำงานอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี จากข้อมูลพบว่า ผู้สูงอายุไม่ได้รอการจ้างงาน หรืออยากเป็นลูกจ้าง ท้องถิ่นต้องจัดทำข้อมูลผู้สูงอายุ สร้างแรงจูงใจการทำงานให้กับแรงงานผู้สูงวัย ออกแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น เหมาะกับความต้องการ และวัย จับคู่อาชีพกับผู้สูงอายุในชุมชน บางชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ผู้สูงอายุสามารถทำหน้าที่มัคคุเทศก์ หรือปราชญ์เล่าเรื่องราวชุมชนได้ นี่คือ การส่งเสริมแรงงานนอกระบบ
3)ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เน้นการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมต่อคุณภาพชีวิต รัฐต้องส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจในการปรับบ้านให้เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับคนทุกวัย รวมถึงผู้สูงอายุ ผลักดันให้มีการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมชุมชนให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่อาศัยในที่เดิมได้อย่างต่อเนื่อง รัฐต้องจัดบริการเหล่านี้ ไม่ต้องฟรี แต่ต้องมีทุกคน อยู่บ้านก็ไม่ลำบาก ถ้าพัฒนาระบบจัดรถโดยสารรับส่งผู้สูงวัย
“ จากงานวิจัยนโยบายการสร้างบ้านพักคนชราหรือการทำซีเนียร์คอมเพล็กซ์ โครงการที่พักอาศัยครบวงจรให้ผู้สูงอายุ น่าจะผิดทิศทาง ทั้งไม่ตอบโจทย์ เพราะบ้านพักคนชราลงทุนสูง และออกแบบให้คนสูงอายุที่ดูแลตัวเองได้ แต่ข้อเท็จจริงสุขภาพจะแย่ลงเรื่อยๆ จนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และผิดกลุ่มเป้าหมาย ไม่ตอบโจทย์ รัฐควรลงทุนสร้างบริการ ไม่ใช่สร้างบ้าน ทำให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านได้นานขึ้น ที่พักอาศัยครบวงจรมีแต่คนรวยที่เข้าถึง “ นพ.สมศักดิ์ ย้ำต้องพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ผู้สูงวัยมีความสุข
คลังความรู้เพื่อการพัฒนาครั้งนี้ ยังรณรงค์สร้างทัศนคติใหม่ๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เพื่อให้สังคมเห็นว่า ผู้สูงอายุยังมีพลังและมีศักยภาพเป็นผู้ผลิตในตลาดแรงงานได้ รวมถึงสนับสนุนให้ผู้สูงอายุอยู่ในที่อยู่อาศัยเดิม ในครอบครัว ชุมชน พร้อมส่งเสริมค่านิยมเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ เพราะทุกวันนี้ผู้คนในสังคมหลงลืมเรื่องความกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีพระคุณและให้ความสำคัญกับครอบครัวลดลง ทั้งหมดนี้เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอประเวศ' แนะ 7 ข้อให้นายกฯทำให้สำเร็จ ไม่งั้นไทยเกิดโกลาหลใหญ่แน่
สิ่งที่นายกรัฐมนตรีจะต้องทำให้สำเร็จภายในอายุของรัฐบาลนี้มิฉะนั้นจะเกิดโกลาหลใหญ่แผ่นดินไทย (Great Chaos Thailand)
วิจัยเฝ้าระวัง รับมือ ก.ย.-ต.ค.เสี่ยงน้ำท่วมสูง
สถานการณ์อุทกภัยสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งประสบอุทกภัยหนักสุด ส่งผลกระทบกับประชาชนแล้วกว่า 2 ล้านคน ส่วนภาคอีสานเริ่มเจอน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมถึงพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดต่างๆ ในภาคกลางยังต้องเฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศ
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระราชดำรัสการแก้ปัญหาประเทศสำเร็จด้วยงานวิจัย
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” หรือ Thailand Research Expo 2024 ซึ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
“โครงการนำร่องอาสาสมัครวัยเก๋า” รุ่นที่ 1 รองรับสังคมผู้สูงอายุให้เข้ามาทำงานในพิพิธภัณฑ์
เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แถลงข่าว NSM พร้อมเดินหน้าผลักดันศักยภาพ มุ่งเน้นสร้างสังคมผู้สูงอายุให้มีคุณภาพ