29 พ.ค. 2566 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 30 ถึง 40 ความดันสูงไม่จัดการ สมองเสื่อมแน่
ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นภัยเงียบที่ผู้คนไม่ค่อยสนใจ ทั้งนี้ มักมีความเข้าใจผิดว่าไม่เห็นมีปวดหัวเลย ก็ไม่จำเป็นต้องวัดความดัน
การที่ไม่ปวดหัวนั้น เป็นเพราะว่าความดันโลหิตนั้นค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น และในที่สุดแล้ว เส้นเลือดที่อ่อนนุ่มก็จะเริ่มแข็งโดยจะมีหินปูนมาจับหรือไม่ก็ตาม และนำไปสู่เส้นเลือดหัวใจตีบตันหัวใจวาย เส้นเลือดสมองตันเกิดอัมพฤกษ์
โดยที่ตัวร้ายนี้สะสมอยู่นานเป็น 10 ปี ค่อยเผยตัว
ความดันสูง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสมอง ทั้งนี้มีหลักฐานชัดเจนขึ้นเรื่อยมา จากการตรวจคอมพิวเตอร์สมอง ด้วยวิธีต่างๆ โดยพบความเชื่อมโยงกันชัดเจนระหว่างความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้ควบคุมตั้งแต่อายุ 30 ถึง 40 ปี กับพยาธิสภาพของอัลไซเมอร์ และสมองเสื่อมอื่นๆ และความเปลี่ยนแปลงผิดปกติในสมองส่วนสีขาว
โดยการวัดการเคลื่อนตัวของน้ำ ตามเส้นใยของสมอง จากตำแหน่งหนึ่งไปยังอีกส่วน (fractional anisotropy) ประสิทธิภาพในการควบคุมปริมาณเลือดไปยังสมองส่วนต่างๆในแต่ละสถานการณ์ และช่องว่างรอบเส้นเลือดในสมอง ที่ปฏิบัติตัวเป็นท่อระบายขยะจากสมองไปทิ้ง และปริมาณของ free water
ความเปลี่ยนแปลงในเนื้อสมอง เส้นใยสมอง และหลอดเลือดในสมอง เหล่านี้มีความผิดปกติสะสมไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงวัยกลางคนที่ไม่ได้คุมความดัน โดยอายุตั้งแต่ 30 ถึง 40 ปี
ความดันโลหิตสูง อยู่ที่ระดับตัวบนคือ 130 และตัวล่างคือ 80 โดยที่ในคนอเมริกันนั้นประมาณกันว่ามีไม่ต่ำกว่า 44 ถึง 46% ที่มีความดันสูงโดยผู้ชายจะพบมากกว่าผู้หญิงอยู่บ้าง แต่เมื่ออายุเกิน 65 ปี ผู้หญิงจะเริ่มพบว่ามีความดันสูงกว่าผู้ชาย เนื่องจากหมดประจำเดือน ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
การที่รู้ตระหนักถึงความสำคัญที่ต้องคุมความดันตั้งแต่แรก จะทำให้ลดภาระในการต้องดูแลสุขภาพได้อย่างมหาศาล
การศึกษานี้รายงานในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน JAMA network open 3 เมษายน 2023 โดยใช้ข้อมูลจากโครงการ kaiser healthy aging and diverse life experiences (KHANDEL) และ the study of healthy aging in African Americans (STAR)
โดยรวบรวมกลุ่มประชากรทั้งเอเชีย คนผิวดำผิวขาว และลาติโน่ ทั้งนี้โดยตั้งสมมติฐานว่าภาวะความดันที่เกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 30 ถึง 40 ปี จะมีผลกระทบกับดัชนีชีวภาพที่บ่งชี้สมองเสื่อม และความคงตัวในสภาพของสมองส่วนสีขาวซึ่งประกอบส่วนใหญ่ด้วยเส้นใยประสาท
โดยการประเมินด้วยภาพคอมพิวเตอร์สมอง
กลุ่มประชากรศึกษาจากทั้งสองโครงการ เริ่มมีการประเมินระหว่างปี 1964 ถึงปี 1985 และติดตามเรื่อยมา จนกระทั่งถึงปี 2017 และปี 2021 โดยมีประชากรในการศึกษานี้ 427 คนด้วยกัน
ผลการศึกษาพบว่า คนที่สูงวัยอายุประมาณ 75 ปี โดยเฉพาะในผู้ชาย จะมีความผิดปกติในสมอง ถ้ามีความดันสูงที่ไม่ได้ควบคุมตั้งแต่ยังอยู่ในวัย 30 ถึง 40 ปี เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีความดันสูง
ความผิดปกติที่เห็นชัดเจนคือ มีปริมาตรของเนื้อเปลือกสมองส่วนสีเทา (cortex) ยุบลงรวมถึงในสมองส่วนหน้าผาก และส่วนขมับ โดยทำให้ปริมาตรของเนื้อสมองนั้นลดลง และทำให้เห็นว่าช่วงโพรงน้ำในสมองมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีความผิดปกติในเนื้อสมองส่วนสีขาว โดยวัดจากประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงการทำงานของสมองส่วนต่างๆ (brain connectivity) และ free water ดังที่กล่าวข้างต้น
การศึกษานี้ แม้ประชากรจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็มีการติดตามที่ดี แม้อาจจะมีข้อจำกัดอยู่ที่การศึกษาด้วยคอมพิวเตอร์สมองนั้น จะกระทำที่จุดเวลาเดียวก็ตาม
แต่ผลของการศึกษานั้น อาจจะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันระหว่างเพศชายและหญิง โดยที่ผู้หญิงนั้นดูว่ามีความเป็นไปได้ที่ฮอร์โมนเพศหญิงจะสามารถป้องกันผลกระทบของความดันสูงต่อการเหี่ยวฝ่อของสมองได้ จนเมื่อฮอร์โมนหมด และเพศสตรี ดูจะมีความแตกต่างกันในตำแหน่งของสมองที่ถูกกระทบจากความดันเมื่อเทียบกับเพศชาย
ความดันโลหิตสูงตัวบนที่เพิ่มขึ้น 5 มิลลิเมตร สัมพันธ์กับปริมาตรที่เหี่ยวลดลงของสมองกลีบขมับ (temporal cortex) ในขณะที่ความดันตัวล่างที่เพิ่มขึ้น 5 มิลลิเมตร จะสัมพันธ์กับความเหี่ยวย่นของสมองบริเวณกลีบข้างขม่อม (parietal cortex)มากกว่า
ผลของการศึกษานี้มีความคล้องจองกับรายงานที่วิเคราะห์รวบรวมการศึกษาประมาณ 30 ชิ้น ที่พบว่าความดันสูงตั้งแต่อายุไม่มากนี้ เกี่ยวข้องกับการเสื่อมของสมองในส่วนหน้าผาก กลีบขมับ กลีบข้างขม่อม และกลีบขมับด้านในที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัส ที่เป็นที่เก็บความจำปัจจุบันหรือความจำระยะสั้น และการศึกษาอีกหลายชิ้นพบความสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของสมองส่วนสีขาวเช่นกัน
ทั้งหลายทั้งมวลเหล่านี้ บ่งชี้ไปถึงความสำคัญที่จะต้องมีการสกรีน หรือคัดกรองภาวะสุขภาพตั้งแต่วัยหนุ่มสาวที่จะเข้าอายุ 30 ปีขึ้นไป และรีบควบคุมให้ได้
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความแต่เรื่องความดันอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของน้ำหนักที่เราเรียกว่าดัชนีมวลกายสภาพความฟิต การใส่ใจออกกำลังกาย
ต้องไม่ริเริ่มบุหรี่อย่างเด็ดขาดและถ้ายังสูบอยู่ต้องเลิกในทันทีทันใด เรียกว่าหักดิบ เพราะไม่มีใครตายจากการหักดิบบุหรี่
เหล้าถ้าดื่มไม่เป็นก็ไม่ต้องเริ่ม ถ้าดื่มอยู่สามารถลดปริมาณเป็นดื่มเพื่อสุขภาพได้คือวันละไม่เกิน 30 กรัมต่อวัน สามารถคำนวณได้จากปริมาณเปอร์เซ็นต์ของแอลกอฮอล์ ต่อปริมาตรของเครื่องดื่มนั้น และเข้าใกล้มังสวิรัติที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
เพียงเท่านี้ประเทศไทยคนไทยจะมั่งคั่งสมบูรณ์และไม่ต้องเสียงบประมาณประเทศ ไปรักษาคนไทยที่เต็มไปด้วยคนป่วย และแถมด้วยว่าเมื่อไหร่จะจัดการฝุ่นพิษมลภาวะทางอากาศและทางอาหารจากสารเคมีปนเปื้อนได้สักที.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เส้นเลือดแตกในสมอง' ทำไมพบบ่อยมากและรุนแรงขึ้น
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เส้นเลือดแตกในสมอง
ไขข้อข้องใจ! ทำไมกินช็อกโกแลตแล้วสุขภาพดี
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กินช็อกโกแลตแล้วสุขภาพดี…… สนใจมั้ย?
รณรงค์เปิดพื้นที่..เข้าใจวัยรุ่น ลดปัจจัยเสี่ยงทำร้ายสุขภาวะ
จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบเยาวชน อายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่อยู่ที่ 12.7% แม้จะลดจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 15.4% แต่ก็ยังมีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น
'หมอสมอง' เตือน! 'บิด เอียง สะบัดหมุน ดัดคอ' เสี่ยงอัมพฤกษ์
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า บิด เอียง สะบัดหมุน ดัดคอ…แล้วก็เสี่ยงอัมพฤกษ์