'หมอธีระ' ยกงานวิจัยชี้ หากไม่ป้องกันตัว ต่อให้เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน ก็จะติดเชื้อซ้ำได้

5 พ.ค.2566 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 . ประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 มีเนื้อหาดังนี้

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 46,870 คน ตายเพิ่ม 133 คน รวมแล้วติดไป 687,512,603 คน เสียชีวิตรวม 6,869,108 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.88 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 86.46

...การติดเชื้อซ้ำ เกิดขึ้นได้ไว หากไม่ป้องกันตัว
ความเชื่องมงายเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อครั้งแรก แล้วจะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำได้อีกนานหลายเดือนนั้น ไม่ใช่ความจริง
งานวิจัยหลากหลายชิ้นจากประเทศต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า หากไม่ป้องกันตัว ต่อให้เคยติดเชื้อมาก่อน ก็จะติดเชื้อซ้ำได้ในเวลาไม่นาน
ทีมงานจากฝรั่งเศสได้รายงานการศึกษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ซ้ำ จำนวน 188 ราย ในช่วง Omicron B1-B5 ระบาดในปีที่ผ่านมา เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Emerging Infectious Diseases ฉบับพฤศจิกายน 2022
ชี้ให้เห็นว่า มีกว่าหนึ่งในสี่ (26.6%) ที่ติดเชื้อซ้ำภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน โดยที่มี 15% ที่ติดเชื้อซ้ำภายในเวลาน้อยกว่า 60 วัน
สอดคล้องกับงานวิจัยจากเดนมาร์ก ที่รายงานผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในยุค Omicron เช่นกัน (BA.2) จำนวน 47 คน ที่พิสูจน์ว่าได้ติดเชื้อซ้ำ ภายในระยะเวลา 20-60 วัน หลังจากติดเชื้อครั้งแรก (BA.1)

ทุกวันนี้ยังคงเห็นข่าวลวง ลอยละล่อง เผยแพร่ผ่านทางสื่อสังคมอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราจึงควรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะข่าวลวงดังกล่าวจะบิดเบือนและลดทอนความตระหนักและความรับรู้ต่อความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวัน

การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญมากในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการแพร่เชื้อติดเชื้อจำนวนมาก

...ข้อมูลการรักษาโรคโควิด-19
วารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ Nature Microbiology ฉบับล่าสุด 4 พฤษภาคม 2023 ลงบทความทบทวนความรู้วิชาการที่ดีมาก เกี่ยวกับยารักษาโรคโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากสเตียรอยด์ที่ใช้ในผู้ป่วยหนัก รวมถึงยาแอนติบอดี้หลายชนิดที่มีอยู่ (ซึ่งปัจจุบันสายพันธุ์ไวรัสอย่าง XBB ก็พบว่าดื้อต่อยาแอนติบอดี้แล้ว) ยังมียาต้านการอักเสบประเภท JAK inhibitor
ส่วนยาต้านไวรัสที่มีใช้อยู่นั้นก็เป็นตามที่เราทราบกันคือ Remdesivir, Paxlovid, และ Molnupiravir

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มียามาตรฐานใดๆ ที่ใช้รักษาภาวะ Long COVID โดยขณะนี้กำลังมีการศึกษาวิจัยกันอยู่ทั่วโลก คงต้องติดตามกันต่อไป

...การติดเชื้อแต่ละครั้ง ไม่ว่าครั้งแรก หรือครั้งไหนๆ ก็ล้วนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ป่วยรุนแรง เสียชีวิต และเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ได้
ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี
ไม่แชร์ของกินของใช้กับผู้อื่นนอกบ้าน
หากไม่สบาย ควรตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
โควิด-19 ยังไม่ใช่หวัดตามฤดูกาล แต่การระบาดมากที่เราเผชิญอยู่นี้ มาจากกิจกรรมเสี่ยงที่มีจำนวนมาก และการไม่ได้ป้องกันตัวอย่างดีพอ

อ้างอิง
1. Reinfections with Different SARS-CoV-2 Omicron Subvariants, France. Emerging Infectious Diseases. November 2022.
2. Occurrence and significance of Omicron BA.1 infection followed by BA.2 reinfection. medRxiv. February 2022.
3. Therapeutics for COVID-19. Nature Microbiology. 4 May 2023.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอธีระ’ ห่วงผู้ป่วยโควิดรอบสัปดาห์ มีอาการปอดอักเสบเพิ่มขึ้น

สัญญาณที่น่าเป็นห่วง และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่กระจอก ไม่ได้เป็นไปตามฤดูกาล

อาจารย์หมอ วิเคราะห์การระบาดโควิด มาจาก โอมิครอน สายพันธุ์ JN.1 เป็นหลัก

แม้ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยจะเป็นขาลง แต่จำนวนคนที่ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันยังมีจำนวนไม่น้อย จึงควรใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท

อาจารย์หมอจุฬาฯ วิเคราะห์การระบาดโควิดไทย อยู่ในช่วง ’ขาลง’

ตัวเลขสัปดาห์ล่าสุด 25 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2024 จำนวนผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 462 ราย เสียชีวิต 2 ราย ปอดอักเสบ 263 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 91 ราย