'นักไวรัสวิทยา' ไม่ฟันธง โควิด XBB.1.16 เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการตาแดง มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

'นักไวรัสวิทยา'ไม่ฟันธง โควิด XBB.1.16 เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการตาแดง มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

19 เม.ย.2566 - ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

ผมถูกถามประเด็นเรื่องอาการตาแดงในเด็กกับโควิด XBB.1.16 ว่าคิดยังไง ผมนึกถึงตอนเรียนวิทยาศาสตร์ใหม่ๆขึ้นมาทันทีว่า นักวิทยาศาสตร์ควรเริ่มต้นจากการสังเกต ตั้งคำถาม ตั้งสมมติฐาน ทดสอบสมมติฐาน และ สรุปผลตามที่เราได้ข้อมูลมา แต่วันนี้ดูเหมือนสมมติฐานถูกตั้งและกลายเป็นข้อสรุปไปเรียบร้อยแล้วโดยไม่มีการทดสอบสมมติฐานใดๆทั้งสิ้น ซึ่งผมไม่สามารถเห็นด้วยกับข้อสมมติฐานที่ยังไม่มีข้อมูลการทดสอบได้ครับ

ประเด็นคือ อาการตาแดงในเด็กสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นเช่น Adenovirus และ อีกประเด็นคือ ไวรัสโรคโควิด-19 ติดเยื่อบุตาและทำให้เกิดตาแดงได้ เป็นองค์ความรู้ที่มีรายงานมาตั้งแต่ช่วงเริ่มมีการระบาดแล้ว ไม่ใช่เป็นคุณสมบัติของไวรัสสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด ข้อสังเกตที่พบว่า มีเคสตาแดงสูงขึ้นถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่เกี่ยวกับไวรัส Adenovirus หรือ เชื้ออื่นๆ ก็อาจตั้งสมมติฐานได้ว่า XBB.1.16 ที่เป็นสายพันธุ์หลักในอินเดียอาจมีส่วนเกี่ยวกับอุบัติการดังกล่าว สิ่งที่ต้องทดสอบก่อนสรุปคือ ไวรัสตัวนี้มีคุณสมบัติจำเพาะที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในเยื่อบุตาได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆจริงหรือไม่

การติดเชื้อของไวรัสเข้าสู่ตาสามารถเกิดขึ้นด้วยกลไกเดียวกับการติดเซลล์ปกติทั่วไป ถ้าติดที่ตาได้ดี แต่ติดเซลล์อื่นไม่มีความแตกต่าง โอกาสที่ไวรัสจะมีอะไรพิเศษคงน้อย ทำให้ต้องคิดต่อว่า อาจเกี่ยวกับองค์ประกอบอื่นๆที่เป็นคุณสมบัติของตาที่ปกติสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดี ทำให้อุบัติการณ์พบได้น้อยในอดีต ไวรัสจะติดเซลล์เยื่อบุตาได้ต้องผ่านด่านพอสมควรบริเวณที่เรียกว่า Tear film ซึ่งมีน้ำตา และ องค์ประกอบโปรตีนสำคัญๆ เช่น IgA ที่จำเพาะต่อสไปค์ของไวรัส และ โปรตีนต้านเชื้อโรค เช่น Lipocalin, Lactoferrin และ Lysozyme ซึ่งเชื่อว่ามีคุณสมบัติต้านการติดเชื้อไวรัสได้ การที่ไวรัสสามารถเข้าติดเชื้อได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ อาจเป็นเพราะ 1. หนีภูมิจาก IgA ในน้ำตา หรือ หนีการยับยั้งโปรตีนต่างๆในน้ำตาได้ ซึ่งล้วนเป็นสมมติฐานที่เป็นไปได้ แต่ต้องผ่านการทดสอบด้วยการทดลอง ก่อนจะสรุปผลอะไรๆได้

ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นข้อสังเกต และ สมมติฐาน ผมยังไม่เห็นข้อมูลใดๆที่ทดสอบสมมติฐานดังกล่าวที่มากเพียงพอที่จะสรุปว่า XBB.1.16 เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการตาแดง มากกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ จึงให้ได้แต่สมมติฐานที่เป็นไปได้เท่านั้น ส่วนข้อสรุปคงหาได้จาก news story ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่นักวิทยาศาสตร์ทำกันเป็นปกติครับ

ปล. ภาพประกอบ (ขอยืมมาจากบทความในวารสาร Frontiers Physiology) เหมือนจะมีอะไรผิดพลาดเล็กน้อย IgA ควรหันอีกด้านมาจับไวรัส ตามภาพส่วนที่จับกับไวรัสทำอะไรไวรัสไม่ได้เลย

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อึ้ง! นักไวรัสวิทยายกผลงานวิจัยไอร์แลนด์ชี้ 'อัลไซเมอร์' อาจเกิดจากจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค)