'บุหรี่' มีอะไรเลวร้าย! มากกว่าที่คุณคิด

17 เม.ย. 2566 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า บุหรี่มีอะไรเลวร้าย …มากกว่าที่คุณคิด

“สารกัมมันตรังสี” มีในบุหรี่จริงและจะเข้าไปกับควันที่อัดเข้าไปในปอด ฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ

แต่ก่อนจะอัดมวนต่อไปนะครับ แต่ละอึกจะได้สารกัมมันตรังสี Polonium 210 ไปด้วย พร้อมกับสารพิษก่อมะเร็งอีกมากมาย ประมาณว่าถ้าสูบวันละ 30 ตัวต่อวัน จะได้ขนาดรังสีเท่ากับไปเอกซเรย์ปอด 300 ครั้งต่อปี (วารสาร Scientific American 2011)

รายละเอียดได้นำไปเป็นหลักฐานให้สมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา ความจริงบริษัทบุหรี่ทราบเกี่ยวกับ Polonium 210 มาเกือบ 50 ปีแล้ว แต่เก็บเป็นความลับมาตลอด

นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบ Polonium ในบุหรี่ครั้งแรก คือ Vilma R. Hunt และคณะที่ Harvard ซึ่งได้พัฒนาเทคนิคในการตรวจจับ Radium และ Polonium (สารทั้ง 2 ชนิดค้นพบโดย Pierre และ Marie Curie ในปี 1898) โดยในปี 1964 เธอได้ค้นพบโดยบังเอิญในเถ้าบุหรี่ของเพื่อนในที่ทำงาน โดย Polonium จะสลายรวมอยู่ในควันบุหรี่ Hunt และ Edward P. Radford ได้ตีพิมพ์เผยแพร่การค้นพบ Polonium ในควันบุหรี่ ในวารสาร Science

อย่างไรก็ตาม การที่จะพิสูจน์ว่ามี Polonium ตกค้างในทางเดินหายใจของคนสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อเสียชีวิตและทำการตรวจศพ ผนังเยื่อบุของปอดและหลอดลมจะสลายไปในเวลา 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น

อย่างไรก็ตามเป็นที่โชคดีที่สามารถตรวจจับได้ว่ามีสาร Polonium ตกค้างหนาแน่น อยู่บริเวณหลอดลมใหญ่ที่จะแยกไปยังปอดทั้ง 2 ข้าง โดยจะปลดปล่อยอนุภาคอัลฟาออกมา

ในช่วงระยะเวลาอีก 10 ปีต่อมา ถึงได้ค้นพบว่า Polonium 210 เป็นผลจากการย่อยสลายของ Lead 210 ตรงกับที่ Radford และ Hunt ได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า Polonium เป็นไอโซโทป (Isotope) จาก Radon 222 และ Lead 210 จากบรรยากาศและจะสะสมอยู่ที่ใบยาสูบ

อีกวิธีเกิดจากการที่ต้นยาสูบดูดซึม Lead 210 จากในดินที่อุดมด้วยปุ๋ยเร่งการเติบโตที่มี Uranium ปะปนอยู่

ในปี 1966 คณะนักวิจัยจากกระทรวงเกษตรสหรัฐ และคณะกรรมการ Atomic Energy ได้ทดสอบปุ๋ย 2 ชนิด ชนิดแรกเป็น “ซุปเปอร์ฟอสเฟต” (Superphosphate) ที่ขายทั่วไป และอีกชนิดที่เตรียมพิเศษ โดยมีแต่แคลเซียมฟอสเฟตบริสุทธิ์ ผลที่ได้ พบว่าปุ๋ยที่ขายทั่วไปมี Radium 226 มากกว่าถึง 13 เท่า

และเมื่อนำไปให้ต้นยาสูบจะพบว่า ในยาสูบจะมี Polonium มากกว่าถึง 7 เท่า และจากการที่ในดินอุดมไปด้วยปุ๋ยที่มี Uranium phosphate (Uranium 238) จะทำให้เกิดการปลดปล่อย Radon 222 เข้าไปในชั้นบรรยากาศ (Edward Martell แห่ง National Center for Atmospheric Research in Boulder, Colorado, 1974)

และ Radon จะสลายเป็น Lead 210 ซึ่งจะสะสมในใบยาสูบโดยผ่านการเกาะติดที่ขนเล็กๆ (trichomes) ที่ใบยาสูบ

ผลจากการค้นคว้าศึกษาทำให้เกิดความกังวลถึงอันตรายที่ Polonium จะก่อให้เกิดมะเร็งทั้งในปอดและในที่ต่างๆ เนื่องจากได้รับสารกัมมันตรังสีต่อเนื่องเป็นเวลานานเป็นปีๆ จากการสูบบุหรี่ แม้ว่า Polonium จะมีในบุหรี่แต่ละตัวไม่มากก็ตาม ในปี 1974 เป็นที่ยืนยันในสัตว์ทดลอง โดยที่ 94% ของตัวหนู hamster ที่ได้รับ Polonium เข้าในทางเดินหายใจจะเกิดเนื้องอกในปอด ทั้งนี้ปริมาณของ Polonium ที่ได้รับอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนักโดยไม่ก่อให้มีการอักเสบของเนื้อเยื่อด้วยซ้ำ

หลังจากปี 1974 เป็นต้นมา ได้มีการค้นพบสารก่อมะเร็งต่างๆ ในบุหรี่ อาทิ Polycyclic aromatic hydrocarbons และ Nitrosamines แต่เป็นที่ประมาณการณ์ว่า Polonium 210 เป็นตัวการทำให้เกิดมะเร็งปอดอย่างน้อย 2% และเป็นไปได้ที่ทั้ง Polonium และสารก่อมะเร็งตัวอื่นๆ อาจจะเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกันอีกด้วย ทำให้เกิดเป็นมะเร็งในอัตราที่สูงขึ้นไปอีก

ความร้ายแรงและพิษของบุหรี่เหล่านี้ เป็นที่รับทราบเป็นอย่างดีของบริษัทบุหรี่ ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยในสังกัด

ความเพิกเฉยของบริษัทมาถูกเปิดโปง ตั้งแต่ต้นปี 1990 เป็นต้นมา ที่มีกฎหมายในสหรัฐ บังคับให้บริษัททั้งหลายใน 46 รัฐ ยอมรับว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายและเป็นสิ่งเสพติด และในขณะเดียวกันบริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลที่ตนเองรู้ต่อสาธารณะ

ในข้อมูลเป็นล้านชิ้นมีอยู่หลายพันรายการที่แสดงว่า Polonium เป็นหัวข้อที่บริษัทบุหรี่ให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 1964 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นวันสำคัญที่บริษัทต้องติดคำเตือนบนซองบุหรี่ และในโฆษณาว่าการสูบบุหรี่เป็นภัยต่อสุขภาพ

โดยเฉพาะหลังจากที่ Radford และ Hunt ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับ Polonium ในเดือนมกราคมปีเดียวกัน ทำให้บริษัทถึงกับต้องมีการวิจัยเกี่ยวกับ Polonium เป็นล่ำเป็นสัน

รายงานภายในของบริษัท Philip Morris ตั้งแต่ปลายปี 1970 ตลอดจนถึงทศวรรษ 1980 ระบุถึงผลการศึกษาซึ่งตอกย้ำถึงภัยของ Polonium นักวิทยาศาสตร์ของบริษัทเองพยายามจะตีพิมพ์รายงานดังกล่าวในวารสาร Science แต่ถูกระงับไปในกลางเดือนกรกฎาคม 1978

นอกจากนั้นบริษัทบุหรี่ในสหรัฐ ยังคงศึกษาต่อถึงกระบวนการที่จะกำจัด Polonium อาทิ ใส่สารบางอย่างในยาสูบซึ่งจะทำปฏิกิริยากับตะกั่ว และ Polonium เพื่อกันไม่ให้แพร่เข้าไปในควันบุหรี่ หรือมีตัวกรอง Polonium ในควันบุหรี่ หรือการล้างใบยาสูบด้วย hydrogen peroxide และการใช้ปุ๋ยซึ่งมีปริมาณของ Uranium 238 น้อยลงหรือการกำจัดขนซึ่งจับ Lead ที่ผิวของใบยาสูบ

ทั้งนี้เป็นข้อมูลจากการให้ปากคำของ William A. Farone อดีตผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัท Philip Morris และเป็นผู้เปิดเผยเงื่อนงำต่างๆแก่สาธารณชน

ในปัจจุบัน Farone เป็นที่ปรึกษาให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA)

ในปี 1975 นักวิทยาศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข T.C. Tso ได้เสนอว่า Polonium จะสามารถถูกขจัดไปโดยกระบวนการเริ่มแรกที่ตัวปุ๋ยเองซึ่งจะลดปริมาณได้ถึง 30-50% และการล้างใบยาสูบจะยังสามารถขจัดได้อีก 25% ซึ่งถ้าร่วมกับตัวกรองก้นบุหรี่ ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการลดปริมาณของ Polonium มากยิ่งขึ้น

บันทึกของ R.J. Reynolds ผู้บริหารบริษัทบุหรี่ระบุว่า กระบวนการขจัด Polonium เหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางรายได้ และเป็นผลทำให้ไม่มีการดำเนินการใดๆ

การปิดเงื่อนงำอันตรายของบุหรี่ การปฏิเสธที่จะทำการขจัดสารพิษ Polonium จากบุหรี่ แสดงให้เห็นถึงความชั่วร้ายของบริษัทบุหรี่ต่อสาธารณชน

การที่ประธานาธิบดี Obama ของสหรัฐ เสนอกฎหมายในการป้องกันและควบคุมบุหรี่และผ่านสภาในเดือนมิถุนายน 2009 (Family smoking prevention and tobacco control act) เปิดโอกาสให้สมาคมมะเร็งของสหรัฐ สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับ พิษในบุหรี่จากบริษัทบุหรี่ได้มากยิ่งขึ้น

ในทางปฏิบัติแล้ว Polonium น่าจะเป็นพิษที่สามารถถูกกำจัดได้ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับพิษตัวอื่นๆ เช่น Tar หรือ Carbon monoxide และสารก่อมะเร็งตัวอื่นๆ

งานวิจัยของบริษัทบุหรี่ในระยะมากกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ควรจะถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์และกระบวนการขจัดไม่ได้มีผลต่อ Polonium ตัวเดียว ยังสามารถขจัด Lead Arsenic และ Cadmium ออกไปได้ด้วย

ถึงแม้ในอนาคตเราจะสามารถขจัด Polonium ได้แล้ว แต่แน่นอนสารก่อมะเร็งมากหลายยังอยู่ในบุหรี่

เลิกดูดเถอะครับ อาจยังไม่สาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ถึงสหรัฐ เตรียมประชุมเอกอัครราชทูต-กงสุลใหญ่ หารือภาคธุรกิจ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา

PRINC ปักหมุดอีสานล่าง เตรียมเปิด “ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา” แห่งแรกของศรีสะเกษ ธ.ค. นี้ มุ่งครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาโรคมะเร็งและให้บริการครบวงจร

โรคมะเร็งเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ กระทบชีวิตของประชาชนเป็นอันดับที่ 1 ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 ซึ่งครอบคลุมจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ตอนล่าง จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร (ที่มา: กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข, มี.ค. 66)