'เพื่อนพาวิ่ง' จุดนับพบสร้างมิตรภาพกับคนพิการ

เป็นครั้งแรกที่สวนลุมพินีจัดทำจุดนัดพบ”เพื่อนพาวิ่ง” เพื่อสนับสนุนการออกกำลังกายของคนพิการที่ไม่สามารถวิ่งคนเดียวได้ ทั้งนักวิ่งตาบอด  หูหนวก  ออทิสติก หรือคนพิการที่ใช้วีลแชร์ เพื่อให้คนพิการมีสุขภาพดี  โดยจะมีปุ่มสำหรับกดสัญญาณ เพื่อให้ผู้ที่วิ่งอยู่บริเวณโดยรอบสวนลุมพินีได้ทราบว่า มีคนต้องการเพื่อนพาวิ่ง(Guide Runner)  อยู่ตรงจุดนัดพบแห่งนี้ และสามารถพาออกไปวิ่งด้วยกันได้อย่างปลอดภัย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.2564

จุดเริ่มต้นการเปิดจุดนัดพบ”เพื่อนพาวิ่ง” นี้ กรุงเทพมหานครร่วมกับเฟซบุ๊ก วิ่งด้วยกัน โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ตัวแทนนักวิ่งพิการ ทีมนักออกแบบจาก Plan B และหน่วยงาน กทม.ที่เกี่ยวข้อง ออกแบบและพัฒนาจัดทำ จุดนัดพบ “เพื่อนพาวิ่ง” เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้งานจริง โดยแบ่งรูปแบบออกเป็นฟังก์ชันสำหรับเพื่อนรอวิ่ง  ประกอบด้วย  เบรลล์บล็อก (Braille Block) นำทางจาก MRT สีลม ไปยังจุดนัดพบ “เพื่อนพาวิ่ง”  ป้ายนำทางนักวิ่ง ด้านหน้าประตู 4 สวนลุมพินี และจุดนัดพบ “เพื่อนพาวิ่ง” จะมีปุ่มกด เพื่อเรียกอาสาสมัครเพื่อนพาวิ่ง ที่นั่งพักรอเพื่อนพาวิ่ง จุดนั่งพักสำหรับนักวิ่งวิลแชร์ เสียงสำหรับนำทางนักวิ่งตาบอด มายังจุดนัดพบเพื่อนพาวิ่ง หลังคาขนาดกว้างพิเศษเพื่อป้องกันแดดและฝน ราวกั้นกันตก

อีกฟังก์ชันสำหรับเพื่อนพาวิ่ง ได้แก่ เสาไฟแจ้งเตือน เมื่อมีคนต้องการ เพื่อนพาวิ่ง  ป้ายประชาสัมพันธ์วิธีการเป็นเพื่อนพาวิ่ง ซึ่งคนที่สนใจเป็นเพื่อนพาวิ่งพานักวิ่งคนพิการไปวิ่งด้วยกันสามารถติดต่อนัดหมายวันเวลาที่สะดวกผ่านกลุ่มเฟซบุ๊ก “วิ่งด้วยกัน” เป็นกลุ่มวิ่งที่มีสมาชิกทั้งคนไม่พิการและคนพิการกว่า 20,000 คน ในเวลานี้ พวกเขาและเธออยากเป็นเพื่อนพาวิ่งให้คนพิการ

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และความเท่าเทียมกันของประชาชน ดังนั้น แบบจุดนัดพบเพื่อนพาวิ่ง ที่สวนลุมพินี จะเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้จริง ตนได้นำเสนอแบบของจุดนัดพบที่จะช่วยให้คนพิการสามารถวิ่งออกกำลังกายเท่าเทีบมกับคนอื่น และได้เปิดรับความคิดเห็น ข้อแนะนำเพิ่ม รวมถึงได้รับข้อแนะนำดีๆ จากชัยพร ภูพารัตน์ ผู้อำนวยการสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาให้จุดนัดพบใช้ประโยชน์ได้สูงสุด อยากให้อดใจรอ แล้วพบจุดนัดพบเพื่อนพาวิ่ง ธ.ค.นี้ แน่นอน

คนพิการมาวิ่งกับคนไม่พิการได้ สะท้อนผ่าน นวคุณ พจน์ชพรกุล ผู้ประสานงานกลุ่มวิ่งด้วยกัน มูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม  บอกว่า 7 ปีที่แล้วอยากทำกิจกรรมให้คนตาบอดได้ออกกำลังกาย  โดยหาวิธีที่ง่ายที่สุด คือ การวิ่ง ไม่มีกฎกติกา มีรองเท้าวิ่งคู่เดียว ไม่มีค่าใช้จ่ายมาก ชวนคนตาบอดมาวิ่งด้วยกัน และเปิดรับอาสาสมัคร Guide Runner เพื่อนพาวิ่ง  เริ่มต้นที่สวนลุมพินีเป็นแห่งแรก ผลตอบรับดีมาก คนพิการชื่นชอบมาก จัดกิจกรรมทุกเดือน  จากกิจกรรมเพื่อคนตาบอดขยายมาเป็นคนพิการทุกประเภท กลุ่มอาสาสมัครเติบโตขึ้น จนสร้างชุมชนออนไลน์เพจ”วิ่งด้วยกัน”  ไม่พาวิ่งที่สวนลุมแห่งเดียว แต่รวมสวนสาธารณะทั่วไป แล้วแต่คนพิการและคนไม่พิการนัดหมายกัน ขยายไปจัดงานวิ่ง ในต่างหวัด เหนือ อีสาน ใต้

งานวิ่งด้วยกันจะเกิดขึ้นอีกครั้งเช้าวันเสาร์ที่ 4 ธ.ค.นี้ วิ่งฉลองวันคนพิการสากล เป็นงานวิ่งด้วยกันกรุงเทพฯ ครั้งที่ 65  ณ ลานตะวันยิ้ม สวนลุมพินี ที่ประจำ  ส่วนงานวิ่งใหญ่ประจำปี ระยะทาง 10 กิโลเมตร คาดว่า จะจัดเดือน มี.ค. ปี 2565 แต่ก็ขึ้นกับสถานการณ์โควิด-19  

“ เพื่อนพาวิ่งเริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพ แต่ได้มิตรภาพระหว่างคนพิการและไม่พิการ  ใช้เวลาร่วมกันกลายเป็นเพื่อนกัน คนพิการมีเป็นล้าน แต่บางคนไม่เคยมีเพื่อนพิการเลย วิ่งเสร็จ พูดคุยกันชวนไปทำกิจกรรมต่อ นัดวิ่งนักซ้อมโดยไม่ต้องรองานวิ่ง ที่สำคัญคนพิการกล้าใช้พื้นที่ในสังคม เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ได้พบคนพิการวิ่งดีกว่าเรา บางคนพัฒนาไปวิ่งมาราธอน ทัศนคติคนไม่พิการต่อคนพิการเปลี่ยนแปลงไป คนพิการเองรับรู้สังคมเปิดรับ พร้อมช่วยเหลือ แสดงถึงน้ำใจคนไทย  “  นวคุณ บอก

สำหรับการเปิดจุดนัดพบเพื่อนพาวิ่ง ผู้ประสานงานกลุ่มวิ่งด้วยกันบอกว่า ทางกลุ่มร่วมเสนอแนะเพื่อพัฒนาจุดนัดพบนี้ เดิมที่สวนลุมมีศาลาจุดพักคอยสำหรับคนพิการ ประกอบด้วยเสาสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ มีอักษรเบรลล์ คนพิการ จะนั่งคอยรอวิ่ง รออาสาสมัครพาวิ่ง อย่างพี่โจ้นักวิ่งตาบอดใช้การถือป้าย เพื่อคนที่สนใจพาวิ่งนำวิ่งให้  แต่บางครั้งไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า  ใช้เวลารอเป็นชั่วโมง จุดนัดพบที่จะเปิดบริการน่าจะอำนวยความสะดวกให้ทั้งคนพิการและไม่พิการ เกิดประโยชน์ เราเห็นแบบแล้วรู้สึกพอใจ อยากเห็นของจริงที่สวนลุมแล้ว 

“ สวนลุมพินีเป็นพื้นที่เหมาะสมจัดทำจุดนัดพบเพื่อนพาวิ่ง เพราะคนพิการเดินทางสะดวกด้วยบีทีเอส เอ็มอาร์ที รถโดยสารประจำทาง หรือแม้แต่รถยนต์ส่วนตัว ก็มีจุดจอดรถ มีการปรับปรุงทางลาดสำหรับนักวิ่งวีลแชร์มากขึ้น ปกติก็มีนักวิ่งพิการมาทำกิจกรรมที่สวนลุมเป็นประจำ  เมื่อมีจุดนัดพบชัดเจนจะเพิ่มโอกาสมากขึ้น มีไกด์รันเนอร์มารอ  จะกระตุ้นให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมมากขึ้น “  นวคุณ บอกและอยากให้เพิ่มจุดนัดพบเพื่อนพาวิ่งในสวนสาธารณะทั่วกรุงเทพฯ

ในฐานะตัวแทนมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม บอกด้วยว่า    กรุงเทพมหานครยังต้องปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตอย่างสะดวกและปลอดภัยของคนพิการ อยากกระตุ้นให้ทุกเมืองให้ความสำคัญกับสิทธิคนพิการที่เท่าเทียมกัน  หากคนพิการออกมาสู่สังคมมากขึ้น จะผลักดันให้ทุกองค์กรจะปลูกสร้างหรือจัดงาน กิจกรรมที่รองรับคนพิการ  ระบบขนส่งสาธารณะ จุดเชื่อมต่อเพื่อการเดินทางของคนพิการที่ใช้งานได้จริง  ส่งต่อแนวคิดกระจายให้ทั่วสังคมไทย

สำหรับคนที่อยากเป็นไกด์รันเนอร์พาคนพิการวิ่งออกกำลังกาย  ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เชื่อว่า หลายคนมีคำถามในใจ นวคุณบอกว่า ถ้าชอบวิ่งก็มาได้แล้ว ไม่ต้องวิ่งเก่ง ทางกลุ่มจะจับคู่กับคนพิการที่วิ่งใกล้เคียงกัน

“ จะอาสาเป็นไกด์รันเนอร์ต้องเปิดใจ  นักวิ่งคนตาบอดต้องการแค่คนนำ เราแค่เป็นตาให้คนพิการ หรือวีลแชร์หลายๆ คน ต้องการความช่วยเหลือในช่วงที่ทางไม่สะดวก  ส่วนนักวิ่งหูหนวก ใช้ชีวิตได้เหมือนเรา วิ่งได้เหมือนเรา สิ่งที่ต้องปรับเข้าหากัน คือ การสื่อสาร  สุดท้ายก็ได้เพื่อนใหม่วิ่งด้วยกัน “  นวคุณ บอก

สำหรับคนที่มีแนวทางต้องการเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงและพัฒนาจุดนัดพบ “เพื่อนพาวิ่ง” สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/earthpongsakornk/posts/644239800319252 เพื่อความสะดวกของผู้ใช้งานจริง ไม่ใช่เป็นศาลานัดพบร้าง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงานกาชาดปี 2567

11 ธ.ค. 2567 เวลา 17.00 น.  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี       สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานกาชาดประจำปี 2567 ภายใต้

'ลีลาศรื่นรมย์' เปิดฟลอร์ย้อนความทรงจำ

สภากาชาดไทย โดย คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม คณะกรรมการอำนวยการจัดงานกาชาดประจําปี 2566 เหรัญญิกสภากาชาดไทย และประธานในพิธี คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์ฯ และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมการแผนกจัดการแสดงบนเวทีลีลาศสวนลุมพินี 

สนุกย้อนวันวานงานวันกาชาด 100 ปี

เป็นเทศกาลความสุขส่งท้ายปีกับงานวันกาชาด 100 ปี ประจำปี 2566 ชวนมาย้อนวันวานงานกาชาด พร้อมแต่งกายชุดไทย นุ่งโจม ห่มสไบ ภายใต้แนวคิด “ รื่นรมย์สุขฤดี ณ ที่แห่งการให้ #RedCrossFairCenturyOfCharity”เนื่องในวาระพิเศษการจัดงานครบเป็นครั้งที่ 100 ของสภากาชาดไทย พบกับการออกร้านค้าราคาพิเศษ และบูธกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ กว่า 200 หน่วยงาน และยังมีโซนเครื่องเล่น