3 มี.ค. 2566- นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันที่ 4 มีนาคมของทุกปีเป็นวันอ้วนโลก (World Obesity Day) โดยในปี 2566 สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ “Changing perspectives: Let’s talk about obesity: ปรับเปลี่ยนมุมมอง โรคอ้วนคุยกันได้” มุ่งเน้นการเสริมสร้างความตระหนักรู้และการสื่อสารเกี่ยวกับโรคอ้วนให้กับประชาชน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคอ้วน การป้องกันและการจัดการโรคอ้วนในสังคมไทย ทั่วโลกประชากรจำนวนมากกว่า 4 ล้านคน เสียชีวิตจากการที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยพบว่าคนที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนมีอัตราการตายสูงกว่าคนที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ปัจจุบันโรคอ้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี (MICS)
ในปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 8.8 ในปี 2561 เพิ่มเป็น ร้อยละ 9.2 ในปี 2562 ส่วนเด็กอายุ 6-14 ปี จากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบเด็กมีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 11.7 ในปี 2561 เพิ่มเป็น ร้อยละ 12.4 ในปี 2564 ส่วนวัยผู้ใหญ่อายุ 19 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มอ้วนมากขึ้น
จากคลังข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (HDC) พบว่าเป็นโรคอ้วนหรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กิโลกรัม/เมตร2 มากถึง ร้อยละ 45.6 ในปี 2563 และเพิ่มเป็นร้อยละ 46.2 ในปี 2564 และร้อยละ 46.6 ในปี 2565 ซึ่งเป้าหมายของประเทศไทย มุ่งลดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ในเด็กไม่ควรเกินร้อยละ 10 และควบคุมผู้ใหญ่อ้วนไม่ให้เกิน 1 ใน 3
นพ. อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโรคอ้วนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญของโลกและประเทศไทย โรคอ้วนในทางการแพทย์เรียกว่า Obesity หมายถึง ความผิดปกติของไขมันสะสมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเกณฑ์ของโรคอ้วนในคนไทยสำหรับผู้ใหญ่ อายุ 20 ปีขึ้นไป จะพิจารณาจากค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI (Body mass index) คิดได้จาก น้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง โดยค่า BMI 23 – 24.90 แสดงถึงน้ำหนักเกิน และ ค่า BMI 25 ขึ้นไปแสดงถึงโรคอ้วน สำหรับเด็กจะพิจารณาจากกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตเด็กซึ่งจะแตกต่างตามอายุของ 0-5 ปี และ 6-19 ปี โดยโรคอ้วนควรป้องกันตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก เพราะโรคอ้วนในเด็กจะส่งผล เช่น ขาโก่ง นอนกรน ระบบหายใจ หัวใจ พัฒนาการ และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเอนซีดีในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งข้อมูลของ WHO ยืนยันว่าโรคอ้วนในวัยเด็กนั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ การตายก่อนวัยอันควรและภาวะทุพพลภาพ
ด้านนพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า สาเหตุหลักของการเกิดโรคอ้วน คือ ความไม่สมดุลของพลังงานจากอาหารที่รับประทานเข้าไปกับการใช้งานพลังงานจากร่างกาย ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อ และโรคมะเร็งบางชนิด ดังนั้น ประชาชนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันและจัดการโรคอ้วนด้วยการจำกัดปริมาณอาหารที่มีไขมัน โซเดียมและน้ำตาลสูง เพิ่มการบริโภคผักผลไม้ และธัญพืช และเพิ่มกิจกรรมทางกาย
ดังนั้น กรมควบคุมโรคจึงขอเชิญชวนหน่วยงาน องค์กร จัดรณรงค์วันอ้วนโลกตลอดปี 2566 ภายใต้แนวคิด “Changing perspectives: Let’s talk about obesity : ปรับเปลี่ยนมุมมอง โรคอ้วนคุยกันได้” ผลักดันให้คนไทยใส่ใจกับโรคอ้วน เสริมสร้างความตระหนักรู้และการสื่อสารเกี่ยวกับโรคอ้วนให้กับทุกคน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคอ้วน การป้องกัน และการจัดการโรคอ้วน และเชิญชวนหน่วยงานร่วมติดแฮชแท็ก (Hashtag) #โรคอ้วนคุยกันได้ #WorldObesityDay #สะกิดพิชิตโรคอ้วน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
ไทยติดโควิดรอบสัปดาห์ 353 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 281 ราย ดับเพิ่ม 4 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 287 ราย ดับเพิ่ม 3 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 28 กันยายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 287 ราย
ศูนย์จีโนมฯ จับตาโอมิครอน KP.2.3/XEC ลูกผสมพันธุ์ใหม่ แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โอมิครอน KP.2.3/XEC : ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า