3 มี.ค. 2566 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า วิตามินดี…ความจริงที่ควรทราบ
ข้อมูลทั้งหมดนี้ มาจากการสัมภาษณ์ Dr JoAnn Manson ในวันที่ 12 ตุลาคม2022 ใน Medscape Neurology
ท่านเป็นศาสตราจารย์ ทางอายุรศาสตร์ ที่โรงเรียนแพทย์ Harvard and Brigham and Women’s Hospital และได้แถลงอธิบายผลของการวิจัยล่าสุด โดยเฉพาะที่เป็นการศึกษาทางคลินิกในแบบ randomized controlled trials ซึ่งเป็นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม ในเรื่องของการเสริมวิตามินดี และสรุปข้อที่ควรประพฤติ ปฏิบัติ สำหรับในการแนะนำและรักษาทางคลินิกและสำหรับประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ คุณหมอ เป็นผู้อำนวยการของโครงการศึกษาวิจัย ทางคลินิกที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ Vitamin D and Omega-3 trial (VITAL) โดยได้ให้ข้อมูลดังต่อไปนี้ โดยชี้ว่า เป็นเวลานานมากแล้ว ที่คนทั่วไปจะเข้าใจว่าวิตามินดีนั้น เปรียบเสมือนเป็นยาหรือกระสุนวิเศษ ที่สามารถที่จะรักษาโรคหรือภาวะทางสุขภาพเจ็บป่วยเรื้อรังได้ ตั้งแต่ มะเร็ง โรคทางหัวใจและเส้นเลือด เบาหวาน กระดูกหัก สมองเสื่อม ไปจนกระทั่งถึง ภาวะหดหู่ซึมเศร้า
ข้อมูลที่นำมาอ้างอิงเป็นหลักฐานนั้น นำมาจากการศึกษาและสังเกต (observational study) จากการที่คนจะมีความเสี่ยงต่อโรคหรือภาวะดังกล่าวลดลง ถ้ามีระดับของ 25 -hydroxy vitamin D สูง
โดยแท้จริงแล้ว ข้อมูลทางระบาดวิทยานั้น แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์กัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน ที่การขาดวิตามินดีจะทำให้เป็นโรคง่าย หรือการที่มีระดับวิตามินดีสูง หรือการเสริมเพิ่มขึ้นจะทำให้เป็นการต้านทานโรคหรือหายจากโรค ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีระดับวิตามินดีในเลือดสูง อาจจะเป็นเพราะว่ากินอาหารสุขภาพเป็นหลัก หรืออาจจะอยู่นอกบ้าน ตากแดดเป็นประจำและอีกทั้ง ยังมีการออกกำลังเป็นประจำซึ่งทั้งหลายเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงต่อโรคลดลง
เมื่อมีการศึกษาวิจัยและทดลองอย่างเป็นระบบมากขึ้น ที่เกี่ยวข้องกับวิตามินดี ปรากฏว่าข้อมูลที่เชื่อกันมาแต่แรกกลับ เป็นว่าวิตามินดีนั้น ไม่ได้ผลในภาวะของโรคหัวใจเส้นเลือด โรคมะเร็ง เบาหวาน สมองเสื่อม ภาวะหดหู่ซึมเศร้า และภาวะสุขภาพต่างๆ และที่สำคัญคือรวมถึงเรื่องกระดูกหัก
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลปัจจุบันเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่า วิตามินดีนั้นไม่สำคัญต่อสุขภาพ เพียงแต่ว่ามนุษย์ต้องการ วิตามินดีในปริมาณน้อยถึงปานกลางเท่านั้น โดยที่วิตามินดี จะถูกควบคุมอัตโนมัติจากระบบในร่างกายอยู่แล้ว ดังนั้นปริมาณที่ไม่มากนี้ ก็เพียงพอแล้วต่อความต้องการ
และเป็นที่มา ที่สถาบันแห่งชาติ ได้ให้คำแนะนำไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งสิ้น อาทิ National Academy of Medicine. US preventive services task force และอีกจากหลายองค์กรทางวิชาชีพ
*ทั้งนี้ โดยที่ข้อแนะนำที่สำคัญอีกประการ ก็คือ การที่ต้องตรวจคัดกรองทุกราย ถึงการขาดวิตามินดีนั้น รวมทั้งถึงการให้วิตามินดี เสริมแบบเหวี่ยงแห เป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาเป็นข้อบ่งชี้ในการปฏิบัติ
ใน randomized trials ต่างๆ ของวิตามินดี รวมกระทั่งถึงการศึกษาในโครงการ VITAL ไม่ได้แสดงว่า วิตามินดีมีผลในการลดโรคหรือภาวะบกพร่องทางสุขภาพต่างๆ
แต่มีอยู่สองสภาวะที่การให้วิตามินดีเสริมนั้นอาจมีประโยชน์หรือมีสัญญาณ (signal) นั่นก็คือ ในโรคที่มีภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวน ได้แก่ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคสะเก็ดเงิน พบว่าวิตามิน ดี นั้นทำให้ ลดความเสี่ยงได้ถึง 22% และลดการแพร่กระจายอย่างรุนแรงในสภาวะที่เป็นมะเร็งไปแล้ว ได้ 17%
ทั้งนี้ในเรื่องของมะเร็ง ใช้วิตามินดีในขนาด 400 ถึง 800 หน่วยต่อวัน หรือ 2000 หน่วยต่อวัน ในโครงการ VITAL
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ปริมาณของวิตามินดีได้ขนาดน้อยก็เป็นที่เพียงพอแล้ว และในประชาชนที่สุขภาพดีอยู่แล้วไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจวัดหาระดับของวิตามินดีหรือต้องใช้วิตามินเสริม
*โดยสรุปวิตามินดีไม่ควรต้องใช้เสริม ยกเว้นแต่ ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงจริงๆ ซึ่งได้แก่ คนสูงอายุที่อยู่ในสถานพักฟื้นคนชราซึ่งอาหารการกินไม่พอเพียง และไม่สามารถออกไปนอกบ้านถูกแสงแดดได้
*และในกลุ่มคนที่มีภาวะกระเพาะอาหารและลำไส้มีการดูดซึมผิดปกติ เช่นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง Crohn’s disease. Celiac disease คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะ
*และในคนที่มีโรคกระดูกพรุนและต้องใช้ยาสำหรับโรคกระดูกพรุนอยู่แล้ว ในกลุ่มคนและผู้ป่วยเหล่านี้ การให้แคลเซี่ยมและวิตามินดี จะเป็นสิ่งที่จำเป็นและสมเหตุสมผล โดยไม่ได้ให้กับประชาชนทั่วไปทั้งหมด
ในประชาชนทั่วไปนั้น สิ่งที่ต้องส่งเสริมอย่างยิ่ง คือ อาหารสุขภาพและแหล่งของวิตามินดียังรวมกระทั่ง ถึงปลามันๆ และในเห็ดต่างๆ
และจากนี้เป็นต้นไป น่าจะมีการติดฉลากที่อาหาร ที่บอกว่ามีปริมาณวิตามินดีเท่าไร เพื่อที่จะได้วิตามินดีจากอาหารแทน และต้องปฏิบัติตัวอย่างสม่ำเสมอในการอยู่นอกบ้าน ตากแดด ออกกำลัง แล้วต้องจำขึ้นใจให้ได้ว่าการใช้เสริมต่างๆ นั้น จะไม่มีทางทดแทนอาหารสุขภาพและสไตล์การดำเนินชีวิตและการออกกำลังอย่างผาสุกไปได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
70 ยัน 90 ปี เพียงเดินเพิ่ม 500 ก้าว ลดเสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจ-สมองตีบ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 70 ยัน 90 ขวบ เพียงเดินเพิ่มแค่ 500 ก้าว
'แต๊งค์ พงศกร' หุ่นพัง-งานหาย! ตัดสินใจแปลงร่างเพื่อครอบครัว
แต๊งค์-พงศกร มหาเปารยะ รับเคยปาร์ตี้หนักจนลงพุง หนักถึง 80 กิโลกรัม แม้แต่เพื่อนในวงการยังจำหน้าไม่ได้ ทำให้งานจ้างหาย สุขภาพย่ำแย่ สู่การตัดสินใจแปลงร่างพลิกชีวิต มุ่งมั่นลดน้ำหนักได้ถึงเดือนละ 10 กิโล จนทวงคืนร่างทองภายใน 4 เดือนได้สำเร็จ โดยเจ้าตัวเปิดใจผ่านรายการ "คนแปลงร่าง"
‘หมอธีระวัฒน์’ แนะอาหารช่วยชีวิต นมไม่พร่องไขมันกลับดี
อาหารสุขภาพช่วยชีวิต และทำให้มนุษย์เรา ไม่ต้องเป็นหม้อยาที่โดนโยนยาเป็นกำเข้ามา และแน่นอนโด๊ปยาเป็นกำก็ไม่รอด
‘NCDs’ ไม่ใช่ปัญหาระดับบุคคล แต่เกี่ยวโยง ‘สภาพแวดล้อมทุกมิติ’ ปรับ Ecosystem สร้างสุขภาพดีคือทางออก
การขับเคลื่อนเพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ของประเทศไทยก่อนหน้านี้ โดยมีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นแม่งานหลัก ดูเหมือนว่