![](https://storage-wp.thaipost.net/2023/02/สมาชิกภาคีเครือข่ายสาธิตการใช้ทางลาด.jpg)
การพัฒนาเมืองที่เต็มไปด้วยถนน ตึกสูง และระบบขนส่งสาธารณะที่ทันสมัย แต่ในสายตาคนพิการและคนสูงวัย หรือแม้แต่นักปั่นจักรยาน พวกเขาต้องเผชิญความยากลำบากจากโครงสร้างพื้นฐานของเมืองไม่ครอบคลุมการเดินทางของคนทุกกลุ่ม เกิดปัญหาความปลอดภัย อุบัติเหตุ มลพิษ และสร้างภาระค่าใช้จ่าย การใช้ชีวิตยากขึ้นหรือเอาตัวรอดในแต่ละวัน สะท้อนคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี เพราะเข้าถึงโอกาสได้อย่างจำกัด สุ่มเสี่ยงจะเป็นภาระของสังคม
ปัจจุบันมีความพยายามปรับปรุงพื้นที่เมืองด้วยแนวคิดออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตและเข้ากับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ มีเสียงจากวงเสวนาเรื่อง“ เมืองในอนาคตควรเป็นแบบไหน เมืองอัจฉริยะ เมืองน่าอยู่ หรือเมืองที่ไม่ทิ้งใคร” ในเวทีประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประขากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันก่อน เพื่อสร้างความตระหนักและผลักดันให้เกิดการปรับสภาพแวดล้อมสำหรับทุกคน ไม่มีใครตกหล่นในสังคม พร้อมทั้งโชว์เมืองดีเด่นของประเทศญี่ปุ่นที่จัดเต็มเพื่อคนพิการ
![](https://storage-wp.thaipost.net/2023/02/คนพิการร่วมส่งข้อเสนอพัฒนาเมือง.jpg)
มาซามิ ทสึจิ ผู้จัดการด้านการวางแผนและประสานนโยบายเทศบาลเมืองอาคาชิ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า เดิมญี่ปุ่นมีเทศบัญญัติออกแบบอาคารเพื่อผู้สูงอายุ ก่อนจะพิจารณาออกเทศบัญญัติออกแบบจราจรที่ลดอุปสรรคในการใช้ถนน ทางเท้า และสถานีรถไฟฟ้า ก่อนจะพัฒนารวมกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อบูรณาการการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล โดยมีการเชื่อมการเดินทางบนทางเท้าและระบบขนส่งทางราง ต่อมาได้ออกกฎหมายขจัดอุปสรรคสำหรับคนพิการ ประกอบกับโตเกียวได้รับคัดเลือกให้จัดพาราลิมปิกและโอลิมปิก เป็นโอกาสส่งเสริมประเทศที่ปลอดอุปสรรคสำหรับคนพิการ
สำหรับเมืองอาคาชิ มาซามิ กล่าวว่า มีการออกกฎหมายท้องถิ่นเพื่อออกแบบพัฒนาเมืองปลอดอุปสรรคคนพิการ เกิดเทศบัญญัติว่าด้วยภาษามือ สร้างสภาพแวดล้อมที่สื่อสารได้ง่าย และให้เกียรติกันและกัน จัดอบรมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการให้แก่เจ้าหน้าที่เทศบาล พร้อมมาตรการอำนวยความสะดวก และมาตรการทางการเงินอุดหนุนการปรับปรุงอาคาร ร้านค้า และกลุ่มผู้ประกอบการที่อยากปรับปรุงสถานที่เพื่อคนพิการ เงินช่วยเหลือจัดซื้ออุปกรณ์อำนวยความสะดวก นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมจัดทำเมนูอาหารอักษรเบลล์เพื่อผู้พิการทางสายตา กระดานเขียนเพื่อสั่งอาหารสำหรับคนพิการทางการได้ยิน รวมถึงสร้างทางลาดสำหรับผู้ใช้งานรถเข็น
“ หลังจากประกาศใช้กฎหมายนี้มีร้านค้ามากกว่า 528 แห่ง ทำโครงการเพื่อของบประมาณจากเทศบาลเมืองอาคาชิ เกิดการตระหนัก ดูแล และปรับเปลี่ยนร้านเพื่อคนพิการมากขึ้นในเมือง การผ่านกฎหมายท้องถิ่น ส่งผลให้สุขภาวะของคนพิการหลากหลายวัยอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ส่วนการขับเคลื่อน Universal Design ผ่านแผนปฏิบัติการออกแบบเมือง บรรจุในแผนแม่บท เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ละเลยประเด็นนี้ ทำให้คนพิการเดินทางได้อย่างอิสระและปลอดภัย ปัจจุบันยังจัดตั้งสภาออกแบบเมืองเพื่อรวบรวมความคิดเห็นพัฒนาเมืองด้วย “ มาซามิ กล่าว
![](https://storage-wp.thaipost.net/2023/02/ปรับปรุงสภาพแวดล้อมรองรับวีลแชร์.jpg)
ในเมืองอาคาชิ ทางเทศบาลยังขอความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมท่องเที่ยว และกรมการค้า เพื่อปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ ทั้งยังประสานงานกับหน่วยงานที่ดูแลขนส่งสาธารณะ ทั้งรถเมล์ แท็กซี่ และบริษัทที่รับผิดชอบระบบสัญญาณจราจร เพื่อคนพิการไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก
ส่วนแผนแม่บทเมือง เธอระบุประเด็นสำคัญสร้างความร่วมมือกับประชาชน รวมถึงคนพิการในพื้นที่ จนท.กับประชาชนเดินสำรวจร่วมกัน จัดตั้งระบบบริการให้คำปรึกษาในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและสถานที่ รวมถึงการจัดกิจกรรมที่คนพิการเข้าถึงได้
“ เราไม่ใช่แค่ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานหรือกายภาพ เพราะจะไม่สามารถขจัดอุปสรรคสำหรับคนพิการได้ทั้งหมด ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกคน เป็นการเปลี่ยนทัศนคติ มีผลต่อจิตใจ เพื่อขยายแนวคิดออกแบบเมืองเพื่อทุกคน อีกทั้งเราไม่ได้ผลักดันในทุกสถานที่พร้อมๆ กัน แต่จัดลำดับความสำคัญ เน้นพื้นที่สาธารณะที่มีคนใช้งานจำนวนมาก เช่น สถานีรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ ตู้บริการขายตั๋วอยู่ในระยะที่ผู้ใช้รถเข็นเอื้อมถึง สวนสาธารณะ และศูนย์การค้า ระบุเส้นทางเชื่อมต่อ ก่อนจะปรับปรุง ส่วนอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ต้องออกแบบตามที่กฎหมายกำหนด “ มาซามิ ย้ำเมืองต้องส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ
![](https://storage-wp.thaipost.net/2023/02/ดำรงฤทธิ์-พรหมณีวัฒน์-เสนอภาพกรุงเทพฯ-ในอนาคต.jpg)
เมืองกรุงเทพฯ ขยับอย่างไร ดำรงฤทธิ์ พรหมณีวัฒน์ ผู้อำนวยการทางส่วนวิศวกรรมทาง 2 สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้ปรับปรุงทางเท้าให้โล่ง สะอาด เป็นระเบียบ สร้างทางเท้าที่มีคุณภาพ คงทน พัฒนาทางเลียบคลองให้เดินไป ปั่นปลอดภัย ปัจจุบันปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าพระรามที่ 1 เพื่อเป็นฟุตบาทต้นแบบ และเตรียมจะปรับย่านสุขุมวิท และอนุสาวรีย์ชัยต่อไป ก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าย่านบางกะปิ คลองแสนแสบ เป็นจุดเชื่อมต่อท่าเรือใกล้เคียง อย่างบางกะปิและวัดศรีบุญเรือง พัฒนาพื้นที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองกับสายสีส้ม สู่ท่าเรือคลองแสนแสบ ซึ่งวีลแชร์ใช้ได้ ส่วนอุโมงค์ทางลอดถนนมหาราชและถนนหน้าพระลานซึ่งเปิดใช้งานบางส่วน มีลิฟต์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ
“ ความคืบหน้าการปรับปรุงสถานที่ราชการให้สอดคล้องตามหลักอารยสถาปัตย์ ขณะนี้ปรับปรุงแล้ว 30 เขต อีก 20 เขต ไม่ได้ปรับปรุง เพราะเป็นพื้นท่าหรือกายภาพไม่อำนวย นอกจากนี้ ปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัดอีก 28 แห่ง เหลืออีก 40 แห่ง ส่วนสูนย์เยาวชน สำนักงานต่างๆ โรงพยาบาลในสังกัดอยู่ระหว่างการสำรวจ และวางแนวทางออกแบบเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการได้“ ดำรงฤทธิ์ บอก
![](https://storage-wp.thaipost.net/2023/02/ผู้สูงอายุ-กลุ่มประชากรเปราะบาง.jpg)
แม้ว่าจะเห็นทางเท้าใน กทม. หลายพื้นที่มีความชำรุดและยากลำบากในการเดินเท้า แต่ ผอ.ให้ข้อมูลกทม. จัดทำแบบมาตรฐานทางเท้าใหม่ หนุนแผนพัฒนากรุงเทพฯ 20 ปี หลักๆ ลดระดับคันหินราวตื้นให้สูง 10 เมตร ปรับระดับทางเข้าออกอาคารให้สามารถเดินสัญจรได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด และเพิ่มความแข็งแรงทางเท้ามากขึ้น รวมถึงปรับ Slope ทางเชื่อม ทางลาดให้เป็น 1:12 ตามมาตรฐานสากล มีการอำนวยความสะดวกให้คนตาบอดเดินทาง ผ่านแผ่นเตือนและแผ่นนำทาง ปรับปรุงฝาท่อระบายน้ำ ปูเสมอผิวทางเท้า เพื่อให้เดินสะดวกและง่ายขึ้น
“ เมืองกรุงเทพฯ ในอนาคต การใช้งานของผู้สูงอายุ คนพิการ จะสะดวกมากขึ้น ซึ่งต้องพัฒนานวัตกรรมออกแบบและปรับปรุงก่อสร้างต่างๆ ให้เหมาะกับทุกคนในสังคม “ ดำรงฤทธิ์ ให้ภาพ กทม. เมืองไม่ทิ้งใคร
![](https://storage-wp.thaipost.net/2023/02/นิทรรศการกระตุ้นการออกแบบเมืองเพื่อทุกคน.jpg)
สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายจากการประชุมครั้งนี้ มีการเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำแผนบูรณาการเพื่อพัฒนาเมืองน่าอยู่และไม่ทิ้งใคร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เมือง พื้นที่สาธารณะและการเดินทาง โดยเฉพาะถนน ทางเท้า ทางข้ามถนน ตามแนวคิดถนนที่สมบูรณ์ของทุกตน โดยใช้แนวคิดการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล และแนวคิดเมืองอัจฉริยะ ,จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเมืองที่ไม่ทิ้งใคร หรือเพิ่มเข้าไปในโครงสร้างเดิม เช่น คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของคนทั้งมวลในการพัฒนาเมือง,พิจารณาออกเทศบัญญัติหรือกฎหมายท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเมืองน่าอยู่ และพิจารณาจัดทำโครงการนำร่อง 1 จังหวัด 1 ทางเท้ากว้าง 1 ทางข้ามปลอดภัย เพื่อเป็นก้าวแรกสู่ถนนที่สมบูรณ์ของทุกคน และพัฒนาเมืองวิถีใหม่ ที่เน้นการเดิน ปั่นจักรยาน และขนส่งสาธารณะซึ่งปลอดภัย มีค่าใช้จ่ายน้อย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเมือง
![](https://storage-wp.thaipost.net/2023/02/ผู้พิการร่วมแลกเปลี่ยนเมืองในอนาคต.jpg)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ลดเค็ม ลดโรค" เปลี่ยนพฤติกรรม ลดเสี่ยงโรค NCDs
"เค็มน้อย ก็อร่อยได้" วลีสั้นๆ แต่เต็มไปด้วยพลังในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไทย ให้หันมาลดการบริโภคโซเดียม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
สสส. จัดใหญ่ ใส่สุด สานพลัง สื่อโทรทัศน์คับคั่ง พัฒนา 7 รายการน้ำดี ผลิตคอนเทนต์สร้างสุข ร่วมสื่อสารสร้างความเข้าใจ-เข้าถึง
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 4 ก.พ. 2568 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดโครงการ คอนเทนต์สร้างสุข ว่า สสส. มุ่งสร้างความตระหนักรู้เพื่อให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพ
ภาคประชาสังคมผนึกกำลังกู้วิกฤตโลกร้อน ชี้กลุ่มเปราะบางเสี่ยงรับผลกระทบมากสุด
ในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล ปี 2567 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และภาคีเครือข่าย
PMAC 2025: สสส. ผนึกกำลัง ภาคีเครือข่าย ยกระดับสุขภาวะทางปัญญา รับมือวิกฤตโลก ภัยเงียบจากความเหงา-โดดเดี่ยว เทียบเท่าสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน ดื่มเหล้า 6 แก้ว
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา ภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์สุขภาวะทางปัญญา ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และ 7 องค์กร คือ
วุุฒิสภา สานพลัง สสส.-ภาคี 15 องค์กร จัดงาน “Sang Sook - Happiness is All Around Festival” หนุนองค์ความรู้ สว.-ข้าราชการ-ลูกจ้าง ใช้วางแผนดูแลสุขภาพกาย-ใจ หลังพบ ปี 67 บุคลากรเสี่ยงป่วยโรค NCDs พุ่ง 64.98%
ที่อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลัง สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และภาคีเครือข่าย 15 องค์กร จัดงาน “Sang Sook - Happiness is All Around Festival” ภายใต้โครงการรัฐสภาร่วมใจรวมพลังสร้างสุข : การเสริมสร้างศักยภาพเพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐสภาองค์กรแห่งความสุข เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรวุฒิสภา มีองค์ความรู้
ผกก.ดัง 'หวอ วรวิทย์' ร่วมเปิดมุมมอง ตั้งคำถามเกี่ยวกับ 'สิทธิการตายดี'
ช่องวัน31 ร่วมกับ Peaceful Death, สสส. และ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร จัดงานสัมมนา “การุณยฆาตกับการสร้างเสริมสุขภาวะ ในระยะสุดท้ายของชีวิต” จากวรรณกรรม สู่ซีรีส์ "การุณยฆาต" Spare Me Your Mercy