ข่าวดี! ยาต้านโควิดตัวใหม่ ฉีดครั้งเดียวปราบได้ทุกสายพันธุ์

10 ก.พ. 2566 – ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กว่า ความหวังยาใหม่ในการรักษาโรคโควิด-19 ผลวิจัยทางคลินิกในสหรัฐพบ “ฉีด” เพียงครั้งเดียว ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสในวงกว้าง (board spectrum) อาจใช้ต่อสู้กับโรคระบาดทางระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารอื่นๆ ในอนาคต

ผลงานวิจัยทางคลินิกของทีมวิจัยจากสหรัฐซึ่งรายงานในวารสาร “The New England Journal of Medicine” เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2566 สรุปได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่มีความเสี่ยงสูงที่จะแสดงอาการรุนแรง (ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนมาแล้ว) เมื่อได้รับการฉีด “เพกเลเต็ด อินเตอร์ฟีรอน แลมบ์ดา (pegylated interferon lambda)” เข้าใต้ผิวหนังเพียงครั้งเดียวพบ “มีความเสี่ยงน้อยกว่า” ในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายใน 28 วัน (หลังได้รับยา) เทียบกับกลุ่มผู้ที่ได้รับยาหลอก (placebo)

เพกเลเต็ด อินเตอร์ฟีรอน เป็นการผสมสารโพลิเอทิลีนไกลคอล (PEG) เข้าไปกับโมเลกุลของอินเตอร์ฟีรอน การเพิ่ม PEG เข้าไปจะช่วยทำให้สามารถปลดปล่อยอินเตอร์ฟีรอนจากบริเวณที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายอย่างช้าๆ ได้

อาสาสมัครที่เข้าร่วมในโครงการได้รับการฉีดยา เพกเลเต็ด อินเตอร์ฟีรอน แลมบ์ดา หรือ PEG-แลมบ์ดา (PEG-lambda) ภายใน “หนึ่งสัปดาห์” หลังจากแสดงอาการของโควิด-19

ผู้ที่ได้รับ PEG-แลมบ์ดาแต่เนิ่นๆ คือภายในสามวันแรกของอาการ จะได้รับประโยชน์สูงสุด: พบว่าอาสาสมัครกลุ่มนี้มีความเสี่ยงลดลงที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในเดือนถัดไป 65% และในบรรดากลุ่มย่อยของอาสาสมัครกลุ่มนี้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน พบความเสี่ยงของการรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลงถึง 89% เมื่อเทียบกับยาหลอก (placebo)

ในกรณีของยาต้านไวรัสยาแพกซ์โลวิดช่วยลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนได้ถึง 89% ตามการทดลองขั้นสุดท้ายที่ช่วยให้ยาตัวนี้ได้รับการอนุมัติการใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน (EUA) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในสหรัฐ (FDA) อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่งระหว่าง PEG-แลมบ์ดา และ แพกซ์โลวิด ก็คือ PEG-แลมบ์ดาจะเป็นการฉีดเพียงครั้งเดียว แต่แพกซ์โลวิด ถูกกำหนดให้ผู้ใช้รับประทานยาเม็ดครั้งละ 3 เม็ด 2 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 5 วัน รวมทั้งหมด 30 เม็ด

ดังนั้นการให้ยา PEG-แลมบ์ดาจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ป่วยที่จะปฏิบัติตามได้ 100% (100% compliance) เพราะฉีดเพียงเข็มเดียว

ขณะที่ แพกซ์โลวิด มุ่งเป้าหมายไปที่การยับยั้งไวรัสโคโรนา 2019 แต่ PEG-แลมบ์ดาตามทางทฤษฎีจะเพิ่มการป้องกันปราการด่านแรกของระบบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคหลายชนิดแบบไม่จำเพาะ และยังไม่ปรากฎว่าไปกระตุ้นให้ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์หรือดื้อยาเหมือนการใช้ยาต้านไวรัสทั่วไป

PEG-แลมบ์ดา ผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ รวมทั้งโอมิครอน ไม่ว่าโปรตีนหนามจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม ซึ่งแตกต่างจากการฉีดวัคซีน และการฉีดโมโนโคลนอลแอนติบอดีเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ซึ่งจะด้อยประสิทธิภาพลงเมื่อไวรัสมีการกลายพันธุ์ทำให้โปรตีนส่วนหนามเปลี่ยนไป

PEG-แลมบ์ดา เป็นโปรตีนสังเคราะห์เลียนแบบแลมบ์ดาอินเตอร์ฟีรอน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ร่างกายมนุษย์สร้างขึ้นตามธรรมชาติหลั่งออกมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวเมื่อถูกไวรัสรุกราน โปรตีนอินเตอร์ฟีรอนจะเข้าขัดขวางการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้แทบทุกชนิดที่รุกล้ำเข้ามาภายในเซลล์ นอกจากนี้โปรตีนอินเตอร์ฟีรอนยังส่งสัญญาณไปยังเซลล์ข้างเคียงว่าไวรัสได้บุกรุกร่างกาย กระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันแบบลูกโซ่

อินเตอร์ฟีรอนเป็นยาต้านไวรัสตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในวงกว้าง (board spectrum) เป็นปราการด่านแรกของร่างกายป้องกันภัยคุกคามจากไวรัส โดยไม่คำนึงว่าไวรัสจะกลายพันธุ์ไปอย่างไรก็ตาม การวิจัย PEG-แลมบ์ดา เดิมมุ่งเน้นไปที่การรักษาไวรัสตับอักเสบเป็นหลัก แต่จากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่ามีศักยภาพในการต่อต้านไวรัสโคโรนา 2019 ร่วมด้วย

อันเป็นที่มาของทดลองทางคลินิกครั้งนี้ ซึ่งอาศัยผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ เกือบ 2,000 คน ที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล 12 แห่งในบราซิล และอีก 5 แห่งในแคนาดา ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจคือภายในเจ็ดวันหลังจากผู้ติดเชื้อเริ่มมีอาการ ผู้ป่วยจะได้รับการสุ่มให้ได้รับการฉีด PEG-แลมบ์ดา หรือยาหลอกเพียงครั้งเดียว พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับ PEG-แลมบ์ดา น้อยกว่า 3% ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เทียบกับเกือบ 6% ของผู้ที่ได้รับยาหลอก นั่นแสดงถึงความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ลดลง 51% สำหรับผู้ที่ได้รับยา PEG-แลมบ์ดา

ผลลัพธ์ดียิ่งขึ้นไปเมื่อผู้ป่วยได้รับยา PEG-แลมบ์ดา ภายในสามวัน — คือพบผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเหลือเพียง 1.9% เทียบกับ 3.1% ในกลุ่มยาหลอก อันหมายถึงสามารถลดความเสี่ยงลง 58%

จากการติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ PEG-แลมบ์ดา พบว่ามีน้อยมาก ไม่สามารถแยกได้ว่าอาสาสมัครคนใดได้รับยา PEG-แลมบ์ดา และคนใดได้รับยาหลอก สรุปคือมี “ผลข้างเคียงไม่แตกต่างกัน”

“ความปลอดภัย” เป็นข้อกังวลเมื่อทำการใช้ “ยาอินเตอร์ฟีรอน” เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าอินเตอร์ฟีรอนสามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย (cytokine storm) ที่เป็นอันตรายอาจถึงเสียชีวิตได้

ตัวอย่างเช่น อินเตอร์ฟีรอนอัลฟา (alfa-interferon) ซึ่งถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีและมะเร็ง พบว่าเป็นพิษต่อระบบอวัยวะต่างๆ เนื่องจาก อินเตอร์ฟีรอนอัลฟา สามารถเข้าจับกับเซลล์ได้หลากหลายชนิดในร่างกาย ต่างจาก PEG-แลมบ์ดา ที่จะเข้าจับกับเซลล์เฉพาะในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันเกินเลยในเนื้อเยื่อประเภทอื่น รวมทั้งเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อหรือเซลล์ภูมิคุ้มกัน

ผลการทดลองของโครงการนี้นอกจากสามารถยืนยันประสิทธิผลของยา PEG-แลมบ์ดา ในการต่อต้านโควิด-19 แล้วยังบ่งชี้ว่ายานี้ยังใช้ได้ผลกับไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือ ไวรัส RSV (ไวรัสระบบทางเดินหายใจในระบบทางเดินหายใจหรือไม่) อีกด้วย

ขณะนี้ PEG-แลมบ์ดา ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาขององค์การอาหารและยาของสหรัฐ คาดว่าอีกไม่นานคงจะมีให้ใช้กันแพร่หลายในโรงพยาบาล

Early Treatment with Pegylated Interferon Lambda for Covid-19
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2209760.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19

‘เศรษฐา’ ลาป่วยติดโควิด กลับมาปฎิบัติงานวันที่ 19 มิ.ย.นี้

นายกรัฐมนตรี ได้พบแพทย์ หลังจากมีอาการป่วย อ่อนเพลียเล็กน้อย ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผลการตรวจพบว่าติดโควิด

ทุบสถิติปีนี้! ไทยติดโควิดใหม่รายสัปดาห์ทะลุ 2.7 พันคน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล