โควิด 'XBB.1.5' จ่อขยับสายพันธุ์หลัก ในอเมริกา-ยุโรป ก.พ.นี้

23 ม.ค. 2566 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 128,373 คน ตายเพิ่ม 635 คน รวมแล้วติดไป 673,294,559 คน เสียชีวิตรวม 6,746,068 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ รัสเซีย และเม็กซิโก เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.1 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.94

…อัปเดตสถานการณ์สายพันธุ์ไวรัส

รายงานจาก GITHUB สรุปสถานการณ์สายพันธุ์ไวรัสทั่วโลกเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา สรุปว่า XBB.1.5 จัดเป็นสายพันธุ์ไวรัสที่แข็งแรงที่สุด (viral fitness) ที่มีการระบาดอยู่ในปัจจุบัน

แม้ปัจจุบันจะครองสัดส่วนหลักในแถบตะวันออกของอเมริกา แต่คาดว่า XBB.1.5 จะเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐอเมริกาภายในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์

ในขณะที่แถบยุโรปยังพบในสัดส่วนน้อยราว 5% ณ ช่วงสัปดาห์แรกของปีนี้ แต่ด้วยค่าเฉลี่ยของการระบาดทวีคูณ (doubling time) ราว 10 วัน หากเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ XBB.1.5 เป็นสายพันธุ์หลักได้ตั้งแต่ปลายกุมภาพันธ์

อย่างไรก็ตาม XBB.1.5 อาจไม่ใช่ตัวเดียวที่ครองการระบาด แต่ต้องแข่งขันกับสายพันธุ์อื่นๆ ในแต่ละพื้นที่ด้วย จึงไม่น่าจะเห็นภาพรวมการระบาดที่ครองด้วย XBB.1.5 ตัวเดียวเดี่ยวๆ

สายพันธุ์อื่นๆ ที่พบมากในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ XBF ในออสเตรเลีย, CH.1.1 ในนิวซีแลนด์และสหราชอาณาจักร รวมถึง BQ.1* + S:346T + S:144- ในเดนมาร์ก ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร

…ถ้าประเมินสถานการณ์ของไทย แนวโน้มจะเป็นซุปสายพันธุ์ที่หลากหลาย เพราะปัจจัยหลักมาจากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากในหลายเดือนที่ผ่านมา สัดส่วนหลักของสายพันธุ์ย่อมแปรผันตามจำนวนคนเดินทางจากภูมิภาคนั้นๆ

…อัปเดต Long COVID

Bowyer RCE และคณะ จากสหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารสากล European Journal of Epidemiology เมื่อ 21 มกราคมที่ผ่านมา

ทำการวิเคราะห์ลักษณะของอาการผิดปกติภายหลังจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 จากฐานข้อมูลวิจัย 9 แหล่ง

สาระสำคัญคือ อาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า (Fatique) ปัญหาด้านความคิด/ความจำ/สมาธิ (Difficulty concentrating, memory loss) และอาการปวดกล้ามเนื้อ (Muscle pain) ถือเป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วย Long COVID โดยกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน

…การป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน เรียน หรือเดินทางท่องเที่ยว จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง

  1. Variant report 2023-01-19. GITHUB. 19 January 2023.
  2. Bowyer RCE et al. Characterising patterns of COVID-19 and long COVID symptoms: evidence from nine UK longitudinal studies. European Journal of Epidemiology. 21 January 2023.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน

'อุ๊งอิ๊ง' ประชุมเอกอัครราชทูตกงสุลใหญ่-ทีมไทยแลนด์ประจำภูมิภาคอเมริกา ยันรัฐบาลอยู่ครบเทอม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 พ.ย.(ตามเวลาท้องถิ่น ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 15 ชั่วโมง)