20 ม.ค. 2566 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 184,854 คน ตายเพิ่ม 876 คน รวมแล้วติดไป 672,392,899 คน เสียชีวิตรวม 6,737,823 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.03 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 90.18
…อัปเดตจาก WHO
องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่รายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อคืนนี้ 19 มกราคม 2566
หากเทียบกับ 4 สัปดาห์ก่อนหน้า พบว่ารอบเดือนที่ผ่านมา ทั่วโลกมีจำนวนเสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้น 20%
ตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2565 ถึง 16 มกราคม 2566 พบว่าสายพันธุ์ Omicron ครองสัดส่วนการระบาด 99.9% โดยเป็นตระกูลของ BA.5 ราว 70.5% ส่วน BA.2 นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยตรวจพบ 15.7%
ณ ปัจจุบัน สายพันธุ์ย่อยที่ทาง WHO จับตามองอย่างใกล้ชิด ได้แก่
BF.7
BQ.1.x (รวมถึง BQ.1.1)
BA.2.75.x (รวมถึง BA.2.75.2 และ CH.1.1)
XBB.x (รวมถึง XBB.1.5)
สถานการณ์ปัจจุบัน BQ.1.x ครองสัดส่วนสูงสุดถึง 54.37% กระจายไปแล้ว 110 ประเทศทั่วโลก
ในขณะที่ XBB.x ซึ่งดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุดนั้น แม้สัดส่วนตรวจพบราว 8.36% แต่ตรวจพบมากถึง 87 ประเทศแล้ว โดยสายพันธุ์ย่อยอย่าง XBB.1.5 ก็มีอัตราการขยายตัวของการระบาดเร็วในหลายประเทศทั่วโลก และพบแล้วใน 38 ประเทศ ทั้งนี้ XBB.1.5 นี้มีการกลายพันธุ์ที่ทำให้มีคุณสมบัติทั้งดื้อต่อภูมิคุ้มกัน และความสามารถในการจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์เป้าหมายได้แน่นขึ้นกว่าเดิม ทำให้แพร่ได้ง่ายมากขึ้น
…ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตทั้งระยะสั้นและระยะยาว
Wan EYF และคณะ จากสหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารการแพทย์โรคหัวใจระดับสากล Cardiovascular Research เมื่อ 19 มกราคม 2566 โดยทำการติดตามกลุ่มประชากรที่เคยติดเชื้อโควิดไปนาน 18 เดือน
สาระสำคัญคือ การติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
…เด็กเล็ก หากติดโควิดและไวรัสอื่นพร้อมกัน จะเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงมากขึ้น
Agarthis NT และคณะจากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ระดับสากล Pediatrics เมื่อ 18 มกราคม 2566 พบว่า เด็กเล็กต่ำกว่า 5 ขวบ หากตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ร่วมกับไวรัสทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น RSV, Rhinovirus, Enterovirus ฯลฯ จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงมากขึ้นราว 2 เท่า
…ผลการศึกษาต่างๆ ข้างต้น ตอกย้ำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่
ติดเชื้อแล้ว ไม่ใช่แค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วย ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ยังเป็นเรื่องจำเป็น และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อลงไปได้มาก
อ้างอิง
1.WHO Weekly Epidemiological Update. 19 January 2023
2.Covid-19: What do we know about XBB.1.5 and should we be worried? BMJ. 19 January 2023
3.Wan EYF et al. Association of COVID-19 with short- and long-term risk of cardiovascular disease and mortality: a prospective cohort in UK Biobank. Cardiovascular Research. 19 January 2023
4.Agarthis NT et al. Codetections of Other Respiratory Viruses Among Children Hospitalized With COVID-19 . Pediatrics. 18 January 2023.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โควิดพุ่ง! ติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 3,039 ราย ดับ 1 คน 'เชียงใหม่' ป่วยสูงสุด
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน