นายกฯ เตือนประชาชนระวังโรคหูดับ หลังพบผู้ป่วยพุ่ง

นายกฯ ห่วงใยสุขภาพประชาชน หลังกรมควบคุมโรครายงานสถานการณ์โรคหูดับในไทย ปี 65 มีผู้ป่วยแล้ว 349 ราย เสียชีวิต 6 ราย เตือนกินเลี้ยงสังสรรค์ ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง พร้อมเตือนดื่มสุราคลายหนาว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

25 ธ.ค. 2565 – นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยสุขภาพของประชาชน ภายหลังข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคหูดับในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 23 พฤศจิกายน 2565 มีผู้ป่วยโรคหูดับ 349 ราย มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ได้แก่ จ.เชียงใหม่ 2 ราย จ.เชียงราย 1 ราย จ.เพชรบูรณ์ 1 ราย จ.กำแพงเพชร 1 ราย และ จ.หนองคาย 1 ราย โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหูดับ เกิดจากรับประทานหมูดิบ เช่น ลาบหมูดิบ ลาบเลือดดิบ เนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ ปรุงไม่สุก อีกทั้งโรคนี้ยังสามารถติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตา เมื่อได้รับเชื้อโรคไข้หูดับเข้าไปแล้ว ทำให้ผู้ติดเชื้อมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน ถ่ายเหลว คอแข็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยิน ถึงขั้นหูหนวกถาวร ข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อ รุนแรงถึงติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้

นายอนุชา กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้แนะนำให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารในช่วงปีใหม่ โดยเฉพาะการทำอาหารรับประทานกันเองในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน ๆ หากนำเนื้อหมูมารับประทานดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ หรือปิ้งย่างหมูกระทะ ควรระวังโรคหูดับ ดังนี้ 1. ควรรับประทานหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น 2. อาหารปิ้งย่าง ควรมีอุปกรณ์คีบหมูดิบแยกต่างหาก ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบหมูดิบ แล้วนำมารับประทาน และขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” 3. ไม่ควรรับประทานเนื้อหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา 4. ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู 5. ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

“ในช่วงนี้เป็นช่วงปลายปีเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ ที่จะมีงานเลี้ยงสังสรรค์ต่าง ๆ ซึ่งประชาชนนิยมรับประทานอาหารประเภท ชาบู หมูกระทะ กันเป็นจำนวนมาก จึงขอแนะนำให้ควรปิ้งย่าง ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง ไม่รับประทานเนื้อหมูดิบ หรือเลือดหมูสุก ๆ ดิบ ๆ เพื่อป้องกันโรคหูดับที่เกิดจากเชื้อสเตปโตค็อกคัสซูอิส (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่ โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย ซึ่งนอกจากกินเนื้อดิบแล้ว เชื้อนี้ยังสามารถเข้าทางบาดแผล หรือรอยถลอก ขีดข่วนตามร่างกาย หรือทางเยื่อบุตาได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยิน ถึงขั้นหูหนวกถาวรได้ ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังไม่รับประทานเนื้อหมูดิบ เพราะอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคหูดับได้ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายอนุชาฯ กล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า ในช่วงที่ประเทศไทยมีสภาพอากาศหนาวเย็น กรมควบคุมโรคยังได้ออกคำเตือนการดื่มสุราคลายหนาวเสี่ยงอันตรายถึงตาย เพราะการดื่มสุราจะส่งผลให้หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังจะขยายตัวทำให้รู้สึกอบอุ่นขึ้นเพียงชั่วครู่ อุณหภูมิของร่างกายลดลงเสี่ยงการเกิดภาวะไฮโปเทอร์เมีย (ภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิลดต่ำเกิน) หัวใจและสมองไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง รวมทั้งจะทำให้ ง่วง ซึม และอาจหลับไปท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการดื่มสุราคลายหนาว เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าว โดยขอให้เตรียมร่างกายให้พร้อมรับอากาศหนาว ด้วยการสวมเสื้อผ้าหนา ๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำอุ่น ๆ และเครื่องดื่มอุ่น ๆ อาบน้ำอุ่นในอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยเสริมให้ร่างกายอบอุ่นได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไขข้อข้องใจ! ความดันสูงกับ 'ความดันกลางคืน' สำคัญอย่างไร

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ความดันสูงและความดันตอนกลางคืนสำคัญอย่างไร

อย่าตกใจ! ‘หมอยง’ ชี้พบโรคทางเดินหายใจมาก เป็นโรคประจำฤดูกาล จะเริ่มลดหลังเดือนก.ย.

รคทางเดินหายใจ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กนักเรียน จะพบมากในฤดูฝน ตั้งแต่นักเรียนเปิดเทอม ทั้งโควิด 19 ไข้หวัดใหญ่ และมาเดือนนี้เป็นฤดูกาลของ RSV

8 ปัจจัยที่เอื้อต่อผลสำเร็จ ในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน ของระบบสุขภาพไทย

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท เจ้าของรางวัลผู้นำสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยแพร่บทความเรื่อง 8 ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนของระบบสุขภาพไทย มีเนื้อหาดังนี้