'หมอยง' แจงแนวทางฉีดวัคซีนโควิด 'เข็มกระตุ้น' ต่อจากนี้

19 ธ.ค. 2565 – ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19 ปัญหาที่ถูกถามบ่อย เรื่องการฉีดวัคซิน โควิด 19

เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว 3 เข็ม 4 เข็ม หรือ 5 เข็ม แล้วจะต้องฉีดวัคซีน covid-19 อีกไหม ??

คำว่าฉีดวัคซีนมาแล้วจำนวนเข็มให้นับรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด ถึงแม้ว่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตาย ของจีน ก็ให้นับรวมด้วย วัคซีนทุกชนิดที่ฉีดไม่แตกต่างกัน สามารถให้ข้ามชนิดกันได้

อยากให้ทุกคนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม และเมื่อให้มานานแล้วเกิน 4 เดือนขึ้นไป จะให้เข็ม 4 ก็ไม่ว่ากัน

ในรายที่ได้ 4 เข็มมาแล้ว จะให้เข็มต่อไปขอให้พิจารณาดังนี้

ถ้าร่างกายแข็งแรงปกติดี อายุน้อย เช่น น้อยกว่า 60 ปี ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้เพิ่มอีก ถึงแม้ว่าจะติดโรค ความรุนแรงของโรคก็จะน้อยมาก

การจะให้ต่อไปในเข็มที่ 5 เราจะคำนึงในการให้ดังนี้

1.ในผู้ที่มีร่างกายเปราะบางและอ่อนแอมากๆ ผู้สูงอายุมากๆ โรคเรื้อรัง เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคทางปอดและหัวใจ รวมทั้งโรคสมอง ผู้ป่วยติดเตียง ควรจะได้รับวัคซีนต่อไป ถ้าให้วัคซีนเข็มที่ 4 มานานแล้วเกิน 6 เดือน ก็สามารถกระตุ้นเข็มต่อไปได้

2.การให้วัคซีนเข็มที่ 5 ขอให้พิจารณาสภาวะร่างกายของเรา ถ้าเราแข็งแรงดี ก็ไม่จำเป็น แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอมากๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว ก็ควรจะมีการกระตุ้น

3.ในกรณีที่ได้วัคซีนมาแล้ว 3 – 4 เข็มหรือมากกว่า แล้วเกิดการติดเชื้อ การติดเชื้อนั้น ถือว่าเป็นการฉีดวัคซีนอีก 1 เข็ม โดยธรรมชาติ ดังนั้นผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นเป็นภูมิต้านทานแบบลูกผสม ที่มีประสิทธิภาพสูง

ผู้ที่ติดเชื้อแล้ว จะฉีดวัคซีนอีกไหม เราจะปฏิบัติดังนี้

1) ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนมาเลย แล้วติดเชื้อ จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนต่อไป โดยเข็มแรกให้ห่างจากการติดเชื้อประมาณ 2 – 3 เดือน แล้วฉีดเข็มที่ 2 ที่ห่างจากการติดเชื้อ 6 – 12 เดือนก็จะได้ภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์

2) ถ้าฉีดวัคซีนมาแล้ว 1 เข็มแล้วติดเชื้อ ให้ฉีดวัคซีนเข็มต่อไปห่างจากการติดเชื้อประมาณ 3 ถึง 6 เดือน ถือว่าได้รับ 3 เข็ม(การติดเชื้อนั้น ถือว่าเป็นการฉีดวัคซีนอีก 1 เข็มโดยธรรมชาติ) ให้นับรวมการติดเชื้อเป็นการฉีดโดยธรรมชาติ 1 เข็ม และถ้าจะฉีดเข็มต่อไปก็ควรห่างอย่างน้อยอีก 4 – 6 เดือน โดยหลักการยิ่งห่างยิ่งดี

3) ถ้าได้รับวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม แล้วติดเชื้อ ก็ถือว่าได้รับวัคซีนมาแล้ว 3 เข็ม (ธรรมชาติฉีดให้เรา 1 เข็ม) ถ้าจะฉีดวัคซีน เพิ่มอีก 1 เข็ม ควรจะห่างจากการติดเชื้อ 6 เดือน แต่ถ้าเราเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงมากๆ จะกระตุ้นที่ 4 เดือนก็ได้

4) ถ้าได้รับวัคซีนมาแล้ว 3 เข็มขึ้นไป แล้วติดเชื้อ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะเป็นภูมิต้านทานที่มีระดับสูงมาก ในคนที่แข็งแรงดี ไม่จำเป็นที่จะต้องกระตุ้น ยกเว้นกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีร่างกายอ่อนแอมากๆ ถ้าจะกระตุ้นก็ควรห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 6 เดือน

หลักการทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว จะไม่ใช้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี เพราะการให้ mRNA วัคซีน ในเด็ก ผลข้างเคียง ระยะสั้นและระยะยาวจะเป็นสิ่งที่จะต้องคำนึงถึง

ในเด็กที่แข็งแรงดี ให้ฉีดวัคซีนตามกำหนดเท่านั้น และถ้ามีการติดเชื้อ ก็ถือว่าเป็นการได้รับภูมิต้านทานแบบสมบูรณ์ ลูกผสม ที่มีภูมิต้านทานที่ดีมาก เราจะไม่ให้เข็ม 4 กับ 5 ในเด็ก

การจะฉีดวัคซีนกระตุ้น อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงคือการระบาดของโรค ถ้าเอาระบาดมาก ความเสี่ยงของเราก็สูง ก็ควรได้รับการกระตุ้น เช่นในช่วงนี้ การระบาดอยู่ในขาขึ้น และถ้าหลังกุมภาพันธ์ไปแล้วอยู่ในขาลงก็จะอยู่ในภาวะที่รอได้ โดยจะมีการระบาดอีกครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายน เมื่อถึงตอนนั้นค่อยพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนอีกครั้งหนึ่ง ตามฤดูกาลแบบไข้หวัดใหญ่

ขอย้ำอีกทีการนับจำนวนเข็มการฉีดวัคซีน ไม่แยกชนิดของวัคซีน ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนอะไรมาก็ขอให้นับจำนวนเข็มทั้งหมด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอยง’ ชี้ไข้เลือดออกปีนี้ การระบาดจะน้อยกว่าปีที่แล้วมาก

ขณะนี้จะเข้าสู่เดือนกรกฎาคมแล้ว การระบาดของไข้เลือดออกยังน้อยกว่าปีก่อนๆมาก และมีแนวโน้มว่าการระบาดจะน้อยลงกว่าปีที่แล้วมาก

‘เศรษฐา’ ลาป่วยติดโควิด กลับมาปฎิบัติงานวันที่ 19 มิ.ย.นี้

นายกรัฐมนตรี ได้พบแพทย์ หลังจากมีอาการป่วย อ่อนเพลียเล็กน้อย ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผลการตรวจพบว่าติดโควิด

'หมอยง' ชวนฟังบรรยาย 20 มิ.ย. รับมือ RSV ฤดูกาลนี้

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า RSV กำลังจะระบาด