อัปเดตผลวิจัย วัคซีนโควิดรุ่นใหม่ 'Bivalent'

5 ธ.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ธันวาคม 2565…วันพ่อแห่งชาติ… เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 258,416 คน ตายเพิ่ม 461 คน รวมแล้วติดไป 649,895,046 คน เสียชีวิตรวม 6,646,222 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอาร์เจนติน่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.61 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 86.76

…ประสิทธิภาพ และเงื่อนเวลาคือสิ่งสำคัญในการศึกสงครามโรค ไม่ว่าจะประเทศไหนในโลกก็ตาม

การวางแผนเรื่องยาและวัคซีน สำหรับรักษาและป้องกันโรคใดๆ นั้นถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะกำหนดผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพของประชากรในสังคมนั้น

หากการบริหารจัดการมีปัญหา ใช้ยาที่ไม่มีประสิทธิภาพจริง ใช้ยาผีบอก พืชผักสมุนไพรตามความเชื่อที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ตามขั้นตอนมาตรฐานวิชาการสากลอย่างเพียงพอ ก็ย่อมทำให้นำไปรักษาผู้ป่วยไม่ได้ผล เกิดความสูญเสียตามมา ไม่ใช่แค่ความสูญเสียต่อชีวิตของผู้ป่วย แต่ยังหมายถึงความสูญเสียของสมาชิกในครอบครัว และความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจของระดับบุคคล ครัวเรือน และประเทศด้วย

วัคซีนก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ต่างกันเพียงเรื่องการมุ่งหวังผลด้านการป้องกัน

นอกจากประสิทธิภาพแล้ว “เงื่อนเวลา” ที่ได้มาใช้จริงนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

หากได้อาวุธมา แต่ไม่ทันต่อสถานการณ์ ก็ย่อมทำให้การศึกสงครามโรคนั้นประสบกับความยากลำบากได้ ดังที่สามารถเห็นบทเรียนต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมา

…สำหรับโควิด-19 นั้น

สายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันมีสมรรถนะในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มาก ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรปจึงได้มีการตัดสินใจใช้วัคซีนรุ่นใหม่ชนิด bivalent ซึ่งสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิม เพราะมีความจำเพาะต่อสายพันธุ์ Omicron มากขึ้น

Topol E ได้ทำการติดตามรวบรวมผลการศึกษาจนถึงปัจจุบัน มีแล้ว 7 ชิ้น ที่ทำการพิสูจน์ให้เห็นว่า Bivalent vaccines นั้นสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งต่อ BA.5 และ BQ.1.1 ได้สูงกว่าเดิม

ด้วยข้อมูลวิชาการปัจจุบัน การตัดสินใจนำ Bivalent vaccines มาให้แก่ประชาชน จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรดำเนินการทันที

อย่างไรก็ตาม สำหรับไทยเรานั้น ยังไม่มีวัคซีนประเภทนี้เข้ามาใช้ สถานการณ์ระบาดปัจจุบันมีการแพร่เชื้อติดเชื้อจำนวนมาก ประกอบกับมีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายไปนานกว่า 6 เดือนแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันมากขึ้น ลดโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

ไม่ควรรอวัคซีนรุ่นใหม่ เพราะจะไม่ทันต่อสถานการณ์ระบาด

เหนืออื่นใด ควรป้องกันตัวระหว่างดำเนินชีวิตประจำวัน เลี่ยงการกินดื่มใกล้ชิดกับคนอื่นนอกบ้าน เลี่ยงสถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

ขอให้คุณพ่อทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง ปลอดจากโรคภัย และมีความสุขครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผวา! ไข้หวัดใหญ่พุ่ง ดับแล้ว 1 ราย เร่งฉีดวัคซีน 7 กลุ่มเสี่ยง

ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงาน ควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเปิดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง

‘หมอมนูญ’ เผยข้อมูลระบาดวิทยา พบ ‘โควิด-ไข้หวัดใหญ่’ ยังแพร่เชื้อต่อเนื่อง

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ยังมีต่อเนื่อง ไวรัสไข้หวัดใหญ่กำลังพุ่งสูงขึ้นตามฤดูกาล เข้าฤดูฝนแล้ว เชื้อไวรัสทางเดินหายใจทุกชนิดจะกลับมาระบาดหนักอีก

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19