คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มธ. ตอกย้ำความสำคัญการดูแลสุขภาพในชุมชน ลดการพึ่งพิงสถานพยาบาล ชู “ศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์” พื้นที่บูรณาการศาสตร์เทคนิคการแพทย์-กายภาพบำบัด-วิทยาศาสตร์การกีฬา-รังสีเทคนิค ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรคแก่คนในชุมชน พร้อมเป็นพื้นที่ฝึกฝนนักศึกษาเรียนรู้การทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ ควบคู่การทำงานเพื่อประชาชน
24 พ.ย.2565 - รศ.ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ปัญหาการกระจายบุคลากรและจำนวนบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณความต้องการทางสุขภาพ ทำให้เป็นเรื่องยากหากจะพึ่งพาสถานพยาบาลเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นการดูแลรักษาที่บ้านหรือในชุมชนจึงเป็นสิ่งที่ดีและเป็นทางออกของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าการ “สร้างนำซ่อม” หรือการดูแลประชาชนเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการตามไปรักษาเมื่อเกิดความเจ็บป่วยแล้ว และถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศ
รศ.ดร.ไพลวรรณ กล่าวว่า ประเทศไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งถือเป็นโมเดลที่ดีในการทำงานด้านสุขภาพด้วยความใกล้ชิดกับประชาชน มีความเข้าใจบริบทชุมชน บนพื้นฐานของการทำงานแบบจิตสาธารณะ ซึ่งหลักการนี้เองสอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะสหเวชเวชศาสตร์ที่มุ่งหวังที่จะผลิตบัณฑิตออกไปดูแลประชาชน ผ่านการเรียนการสอนหลากหลายสาขาวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น เทคนิคการแพทย์ กายภาพบําบัด วิทยาศาสตร์การกีฬา และรังสีเทคนิค
“สหวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ” จะมีส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชนในระดับชุมชนทุกช่วงวัยให้มีสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สนับสนุนให้บุคลากรและนักศึกษาได้มีส่วนลงไปปฏิบัติงานในสายวิชาชีพของตนเพื่อร่วมดูแลคนในชุมชน ในแต่ละหลักสูตรของคณะฯ ของเรา มีข้อกำหนดให้นักศึกษามีการฝึกปฏิบัติทางวิชาชีพ มีการส่งนักศึกษาฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ทุกระดับทั้งขนาดขนาดใหญ่ และเล็กระดับชุมชน ” รศ.ดร.ไพลวรรณ กล่าว
นอกจากนี้แล้ว ทางคณะฯ ยังได้มี “ศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์ มธ.” ซึ่งเปิดให้บริการประชาชนทั่วไปมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยดำเนินการใน 3 หน่วยย่อย คือ 1. หน่วยวิจัยและบริการทางเทคนิคการแพทย์ 2. หน่วยกายภาพบำบัดและธาราบำบัด 3. หน่วยวิทยาศาสตร์การกีฬาและการฟื้นฟูทางการกีฬา ทั้งหมดนี้ครอบคลุมและสนับสนุนการเรียนการสอนทุกหลักสูตร ซึ่งศูนย์บริการสุขภาพฯ แห่งนี้นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของการพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรได้เข้ามาร่วมดูแลสุขภาพให้กับคนในชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
ด้าน ผศ.ผุสดี โตบันลือภพ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์ กล่าวว่า โดยพื้นฐานการให้บริการของศูนย์บริการสุขภาพฯ จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็น “Business Unit” ซึ่งจัดหารายได้จากค่าบริการเข้ามาเป็นงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของทางคณะฯ เพื่อให้คณะฯ สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีทั้งการเปิดให้บริการประชาชนทั่วไปในลักษณะวอล์คอินที่ศูนย์บริการสุขภาพฯ รวมไปถึงการให้บริการออกหน่วยตรวจในลักษณะ Mobile Unit ให้กับทางสถานประกอบการทั้งเอกชนและภาครัฐ
ในขณะที่อีกส่วนคือ “Corporate Social Responsibility” หรือ CSR ที่เป็นส่วนบริการแบบไม่หวังรายได้ จุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคม โดยที่ผ่านมาได้มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น เทศบาลต่าง ๆ บริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัย เพื่อเข้าไปให้บริการออกหน่วยตรวจแก่คนในชุมชน รวมถึงการเข้าไปให้ความรู้ คำปรึกษา และข้อแนะนำต่าง ๆ ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ที่ช่วยตอบโจทย์ความต้องการและแก้ไขปัญหาให้กับคนในชุมชน
ผศ.ผุสดี กล่าวว่า สำหรับศักยภาพในแต่ละหน่วยของศูนย์บริการสุขภาพฯ ประกอบด้วย หน่วยวิจัยและบริการทางเทคนิคการแพทย์ สามารถให้บริการทั้งโปรแกรมการตรวจสุขภาพทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ตรวจสุขภาพประจำปี ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คัดกรองมะเร็ง และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทางหน่วยฯ ยังได้ทำการเปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์ระดับโมเลกุลที่ใช้หลักการ Real time RT-PCR ที่จะช่วยในการวินิจฉัยได้ทั้งโรคโควิด-19 รวมทั้งสามารถรองรับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ในส่วนของ หน่วยกายภาพบำบัดและธาราบำบัด สามารถให้บริการกับผู้ที่ต้องการรักษา ฟื้นฟู และดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ผู้ป่วยสมองพิการ รวมทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพของนักกีฬา ควบคู่กับการมีสระธาราบำบัด ที่ช่วยฟื้นฟูและรักษาทางกายภาพโดยใช้น้ำเป็นตัวช่วย นอกจากนี้ยังได้มีการโครงการพัฒนาทักษะวิชาชีพ ซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมระยะสั้น (Short Course) เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์กายภาพบำบัดผ่านช่องทางออนไลน์ ให้แก่ประชาชนทั่วไป
ขณะที่ หน่วยวิทยาศาสตร์การกีฬาและการฟื้นฟูทางการกีฬา จะให้บริการทั้งฟิตเนส การทดสอบสมรรถภาพทางกาย การออกกำลังกายแบบกลุ่มเช่น โยคะ และการเต้นในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมทั้งเครื่องมือวิเคราะห์การเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติ ที่ช่วยวิเคราะห์การเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาทักษาทางกีฬาให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ล่าสุดยังได้มีการเพิ่มการให้บริการใหม่ของภาควิชารังสีเทคนิค ที่จะเข้ามาเสริมการให้บริการ เช่น การเอกซเรย์ปอด เพื่อตรวจสอบรอยโรคเกี่ยวกับปอด ช่วยตอบโจทย์ในโรคโควิด-19 ที่เท่าทันกับยุคปัจจุบัน
“ศูนย์บริการสุขภาพฯ ของคณะฯ มีนโยบายที่ชัดเจนที่ตอบโจทย์นโยบายของประเทศ ของมหาวิทยาลัย และของคณะฯ ในเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หรือ P&P ให้กับประชาชนอย่างมีคุณภาพและครบวงจร ภายใต้การทำงานที่เป็นทีม และบูรณาการ่วมกันของสหสาขาวิชาในคณะฯ ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการแพทย์ กายภาพบําบัด วิทยาศาสตร์การกีฬา รังสีเทคนิค นิติวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งศูนย์บริการสุขภาพฯ รวมถึงการให้บริการชุมชนในส่วนนี้ จะเป็นเวทีให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของประชาชน เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน” ผศ.ผุสดี กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'แต๊งค์ พงศกร' หุ่นพัง-งานหาย! ตัดสินใจแปลงร่างเพื่อครอบครัว
แต๊งค์-พงศกร มหาเปารยะ รับเคยปาร์ตี้หนักจนลงพุง หนักถึง 80 กิโลกรัม แม้แต่เพื่อนในวงการยังจำหน้าไม่ได้ ทำให้งานจ้างหาย สุขภาพย่ำแย่ สู่การตัดสินใจแปลงร่างพลิกชีวิต มุ่งมั่นลดน้ำหนักได้ถึงเดือนละ 10 กิโล จนทวงคืนร่างทองภายใน 4 เดือนได้สำเร็จ โดยเจ้าตัวเปิดใจผ่านรายการ "คนแปลงร่าง"
‘NCDs’ ไม่ใช่ปัญหาระดับบุคคล แต่เกี่ยวโยง ‘สภาพแวดล้อมทุกมิติ’ ปรับ Ecosystem สร้างสุขภาพดีคือทางออก
การขับเคลื่อนเพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ของประเทศไทยก่อนหน้านี้ โดยมีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นแม่งานหลัก ดูเหมือนว่
‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ