รัฐบาลห่วงใยประชาชนเสี่ยงป่วยจากยุงลายในช่วงฤดูฝน แนะปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค “ไข้เลือดออก-ไข้ซิกา-ไข้ปวดข้อยุงลาย”
4 ก.ย. 2565 – นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ประเทศไทยหลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และเกิดน้ำท่วมขังซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกและโรคอื่นๆ เช่น โรคไข้ซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยรัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนอาจเจ็บป่วยจากยุงลาย เนื่องจากปีนี้มีการผ่อนคลายมาตรการของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางและไปทำกิจกรรมในสถานที่สาธารณะได้มากขึ้น เช่น โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ทำงาน โรงเรียน วัด โรงแรม รีสอร์ท โรงงาน และสถานที่ราชการ ซึ่งสถานที่สาธารณะดังกล่าว อาจมีภาชนะที่มีน้ำขังและมีลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก และโรคอื่นๆ
นายอนุชากล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรคได้แนะให้ดำเนินการมาตรการเร่งรัดการควบคุมการระบาดโรคไข้เลือดออก โดยขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งดำเนินการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ผ่านกลไกของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ และขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยการ
1.ป้องกันการเกิดของยุงลาย โดยปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุงลาย เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด เพื่อป้องกันยุงลายมาวางไข่ 2.ป้องกันยุงกัด เช่น การทายากันยุง นอนในมุ้ง ใช้ยาจุดกันยุง ใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว เป็นต้น 3.ป้องกันการเสียชีวิต โดยหากมีบุตรหลานหรือคนในครอบครัว มีไข้สูงเกิน 2 วัน เช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดหรือไข้ลดแต่กลับมาสูงอีก ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ไม่ควรรับประทานยาลดไข้กลุ่ม NSAIDs เช่น แอสไพรินและ ไอบูโพรเฟน เพราะยาเหล่านี้จะทำให้มีอาการเลือดออกมากขึ้นและเสียชีวิตได้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ ซึ่งการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคไข้ซิกาได้
“ช่วงนี้เป็นช่วงเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาต่าง ๆ ทำให้มีการรวมตัวของเด็กนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยเรียนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้ จึงขอให้ประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและโรงเรียนทุกแห่ง ตามมาตรการ 3 เก็บเพื่อป้องกัน 3 โรค ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคโควิด-19 จึงขอให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย เลือกรับประทานยาแก้ไข้พาราเซตามอล 1-2 วัน อย่างไรก็ตาม หากรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ขอให้รีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน และรับการรักษาต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กมธ.คมนาคมบุกพังงา เร่งสร้างสนามบินอันดามัน 2 รันเวย์
นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร โพสต์
ศูนย์ไวรัส จุฬาฯ จับตาโรค 'โอโรพุช' ระบาดในลาตินอเมริกา อาการคล้ายไข้เลือดออก
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
สธ. ห่วง ปชช. ช่วงฤดูฝน พร้อมดูแลผู้ป่วยงูพิษกัด ไข้เลือดออกระบาด
น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข
‘หมอยง’ ชี้ไข้เลือดออกปีนี้ การระบาดจะน้อยกว่าปีที่แล้วมาก
ขณะนี้จะเข้าสู่เดือนกรกฎาคมแล้ว การระบาดของไข้เลือดออกยังน้อยกว่าปีก่อนๆมาก และมีแนวโน้มว่าการระบาดจะน้อยลงกว่าปีที่แล้วมาก
‘หมอ’ ห่วงไข้เลือดออกระบาด แค่ 2 เดือน ป่วย 1.77 หมื่น เสียชีวิต 18 ราย
ผู้ป่วย 80% จะอยู่ในช่วงอายุ 5-44 ปี นั่นคือมักเป็นวัยเรียนและวัยทำงาน แต่ที่ป่วยกันมากสุดคือวัยเด็ก 5-14 ปี