จุฬาฯ พัฒนาเชิงรุกหาวิธียับยั้ง 'โรคสมองเสื่อม'

22 ส.ค. 2565 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ปัญหาใหญ่ สมองเสื่อม

ค่อนข้างแน่ใจว่า คนไทยเป็นจำนวนมากเริ่มตระหนักแล้วว่าสมองเสื่อมมีมากมายมหาศาล ทั้งนี้เพราะเมื่อพบปะผู้คน เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง คนในครอบครัวที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะมากกว่า 60 ปี จะสังเกตว่าพูดอะไร ทำอะไร จำไม่ค่อยได้ ถามซ้ำถามซาก ไปจนกระทั่ง การตัดสินใจผิดพลาด การใช้ภาษาผันผวน และมากขึ้น จนกระทั่งช่วยตนเองไม่ได้ ต้องมีคนช่วยในชีวิตประจำวัน และมีบางส่วนอาการของโรคไปอย่างรวดเร็วมากจนกระทั่งการเคลื่อนไหวยังทำได้ลำบาก มีอาการแข็งเกร็ง ในที่สุดต้องนอนติดเตียง

ดังนั้น แม้มีคนเดียวในครอบครัวเป็นสมองเสื่อม แต่ก็จะกระทบญาติพี่น้องทั้งครอบครัว ที่ต้องคอยดูแล แถมยังจิตตก เพราะต้องเพียรอธิบาย ตอบคำถามเดิมซ้ำซาก ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า เพราะคนเป็นโรคจำไม่ได้ และอารมณ์ของคนสมองเสื่อมนั้นขึ้นๆลงๆ คนดูแล ก็อารมณ์เสียตามไปด้วย

Agency for heath care research and quality ชองสหรัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นเอกเทศไม่ขึ้นอยู่กับสมาคมวิชาชีพ สมาคมผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการแทรกแซงหรืออิทธิพลจากผลประโยชน์ต่างๆ ได้ระบุว่ายาสมองเสื่อม ยาdementia ที่ใช้กันขณะนี้ไม่ช่วยชะลอ ไม่ป้องกันโรค ไม่มีประโยชน์ และตอกย้ำอีกในวารสารAnn Intern Med ของสมาคมแพทย์สหรัฐ ตั้งแต่ 2014 เป็นต้นมา

เรามีสมาคมชมรม วิชาชีพ องค์กรของรัฐในการประเมินประสิทธิภาพความคุ้มค่าของการใช้ยาทำไม ในเมื่อยังไม่ตระหนักว่ายาที่ใช้เป็นเพียงเพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่นัก ที่เราต้องการเป็นยาที่ออกฤทธ์โดยตรงที่กลไกชองโรคซึ่งรักษาหรือชะลอโรคได้

และนอกจากนั้นกลไกของยาที่ใช้ขณะนี้ เป็นเพียงการกระตุ้นสมองให้กระฉับกระเฉง และในระดับหนึ่งกลับทำให้มีความแปรปรวนทางอารมณ์ กระวนกระวายวุ่นวายจนกระทั่งถึงมีหวาดระแวง ภาพหลอนเข้าไปอีก ซึ่งโรคสมองเสื่อมตามปกติก็จะมีลักษณะแปรปรวนทางจิตอารมณ์ลักษณะดังกล่าวร่วมด้วยอยู่แล้ว ไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและชนิดของสมองเสื่อม

ที่ว่า ว่าเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้น ทั้งนี้ เพราะว่านอกจากยาที่ใช้ในปัจจุบันไม่ช่วยชะลอโรคแล้ว เรามีประชากรสูงวัย มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมักจะมีโรคประจำตัวอื่น ๆ อยู่ด้วย ได้แก่ความดันสูง เบาหวาน โรคไต และส่งผลให้สถานะของระบบหลอดเลือดทั่วร่างกายไม่ปกติ รวมทั้งสมอง เปรียบเสมือนการ ส่งน้ำส่งอาหารไม่เพียงพอและยังกระทบไปถึงกระบวนการขจัดขยะออกจากสมองไปทิ้ง

ทั้งนี้ตัวสำคัญยังมีอีกที่แก้ไม่ได้มานานเป็นสิบปี เป็นเรื่องของการอักเสบที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมมลพิษทางอากาศ ฝุ่นจิ๋ว พีเอ็ม 2.5 อาหารปนเปื้อนสารเคมีฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง ส่งผลให้ระดับการอักเสบในร่างกายพุ่งสูงขึ้น และกระทบ ทำให้การผลิตโปรตีนผิดรูป บิดเกรียว เพิ่มปริมาณมากขึ้นจนกระทั่งสมองสู้ไม่ไหวและเกิดอาการขึ้น ทั้งนี้ เมื่ออาการปรากฏขึ้น ตั้งแต่วันแรก หมายความว่าเป็นผลพวงจากการสะสมโปรตีนพิษเหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 10 ถึง 15 ปี

การที่จะชะลอไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อมดังกล่าวต้องเริ่มตั้งแต่เด็กวัยหนุ่มสาววัยกลางคน และยิ่งในครอบครัวแม้มีเพียงคนเดียวที่เป็นสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ คนอื่น ๆ มีสิทธิ์ได้รับมรดกไปด้วยไม่มากก็น้อย และถ้ามีมากกว่าหนึ่งคนโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย

เรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ทำให้สถานการณ์สมองเสื่อมจะเลวร้ายมากขึ้นก็คือ การติดเชื้อโควิด ซึ่งประมาณการกันเรียบร้อยแล้วว่า ไม่ต่ำกว่า 30 ถึง 50% จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องระยะยาว แม้ว่ารักษาหายไปแล้วได้ทุกระบบ ทุกอวัยวะของร่างกาย ตั้งแต่หัวจดเท้า เหนื่อยล้า เฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้นและประมาณแปดถึง 20% จะมีความผิดปกติของสมองจิต ประสาท อารมณ์ การนอนไม่หลับ หดหู่ การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติในรูปของอ่อนเพลีย เกร็งกระตุก ตะคริว

ประเทศไทยเองมีคนติดโควิดไปเป็นล้านคน การเกิดผลกระทบต่อเนื่องลองโควิด (long COVID) เป็นไปได้จากทุกสายพันธุ์ และกำลังหวั่นเกรงกันว่า โอไมครอน ซึ่งแพร่ง่ายติดง่าย แม้อาการจะไม่รุนแรงในส่วนใหญ่แต่จะทำให้เกิด ลองโควิด ไปได้มากน้อยเพียงใด สำหรับสายพันธุ์อื่นนั้นแม้ว่าผลกระทบระยะยาวจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงขณะติดเชื้อก็ตาม แต่ในระยะต่อมา พบว่าแม้ความรุนแรงขณะมีการติดเชื้อจะไม่มากนัก แต่ผลตามกลับชัดเจน จนกระทั่งต้องการการรักษา รวมไปจนกระทั่งถึงเด็กในทุกอายุอีกด้วย และต้องจับตามองว่าการพัฒนาทางสมองร่างกายและจิตใจจะเสียหายมากน้อยเพียงใด

เพราะฉะนั้นต้องมีการเตรียมการรับมือตั้งแต่การประเมินสุขภาพสมอง ใครพร้อมที่จะเป็น แม้ยังไม่มีอาการ ใครที่น่าสงสัยว่าจะเป็น แท้จริงแล้วเป็นหรือไม่ และใครที่เป็นไปแล้ว การดำเนินของโรคจะรวดเร็วรุนแรงหรือไม่ รวมกระทั่งถึง ต้องมีการพัฒนารูปแบบการชะลอโรคตั้งแต่การไม่ใช้ยาและการใช้ยาที่สกัดกั้นที่กลไกของโรคได้

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพของเราได้ตระเตรียมความพร้อม ในการพัฒนาเชิงรุก เพื่อประเมินความเสี่ยง เก็งและสกัดกั้น รวมกระทั่งถึงการหาสมุนไพรส่วนประกอบต่าง ๆ ในการยับยั้งและชะลอโรคด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!

อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม