บิด สะบัดคอ ระวังอัมพฤกษ์!

19 ส.ค. 2565 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า บิด สะบัดคอ ระวังอัมพฤกษ์

เรื่องใกล้ตัวที่เป็นท่าบริหารประจำ หรือที่ทำเวลาเมื่อย หรือเป็นกระบวนการในการนวดคลายเมื่อย ดัดเส้น รวมทั้ง เป็นกรรมวิธีในการบำบัดทางกายภาพและจัดกระดูก ซึ่งถ้าไม่ระวังจะ เพิ่มความเสี่ยงอันตรายต่อการที่ผนังเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง โดยเฉพาะคู่หลังเกิดการฉีกขาดและทำให้เกิดเนื้อสมองตายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

ความจริงเรื่องเกี่ยวกับ “คอ” เป็นที่สังเกตระวังกันมานานกว่า 20 ปีแล้ว จากการสำรวจข้อมูลจากหมอทางสมองในสหรัฐฯว่าในช่วงเวลา 2 ปี ว่ามีใคร เคยประสบพบคนไข้ที่มีอาการอัมพฤกษ์จากเส้นเลือดสมองตีบภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากที่คนไข้ผ่านกรรมวิธีจับ ดัด ปรับกระดูกคอหรือไม่

หมอสมอง 177 คน รายงานว่าเคยเจอผู้ป่วย 55 รายเข้าข่ายกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ โดยที่คนไข้มีอายุระหว่าง 21 ถึง 60 ปี หลังจากมีการบิดดัดคอ และเป็นผลต่อเส้นเลือดสมองโดยเฉพาะคู่หลัง เกิดตันตีบ

ซึ่งตัวหมอเองก็มีคนไข้ที่หมุนคอเป็นประจำวันละ 3 เวลา ครั้งละ 30 รอบเป็นปี นัยว่าทำให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง ฝึกการทรงตัว วันหนึ่งเกิดเรื่องขณะยืนข้างถนน หันหน้าจะไปเรียกรถแท็กซี่ปรากฏเป็นอัมพาตซีกซ้าย อีกสักพักค่อยๆดีขึ้น พอมีแรงลุกขึ้น หันหน้าไปอีกด้าน มีอ่อนแรงซีกขวา ต้องนอนอยู่โรงพยาบาลเป็นเดือน และการตรวจเส้นเลือดด้วยการฉีดสี ยืนยันมีผนังเส้นเลือดฉีกขาดจริงและเลือดไหลเซาะเข้าในผนังเส้นเลือด ทำให้รูเส้นเลือดตัน อีกทั้งยังทำให้ผนังเส้นเลือดขรุขระ เกิดการเกาะของตะกอนเลือด ซึ่งหลุดลอยไปอุดเส้นเลือดได้อีกต่อ

สมองของเรามีเส้นเลือดไปเลี้ยง 2 คู่ คู่หน้าสามารถคลำได้ตุบๆ ที่คอด้านหน้าซึ่งไปเลี้ยงสมองหน้าผากขมับ 2 ข้าง รวมทั้งสมองส่วนลึกลงไปทางด้านใน เส้นเลือดคู่หลังร้อยผ่านกระดูกก้านคอ และเลื้อยผ่านเข้าไปหล่อเลี้ยงสมองท้ายทอยซึ่งเป็นจอรับภาพ สมองน้อยด้านหลัง คุมการทรงตัว ก้านสมองซึ่งควบคุมประสาทสมองรวมการเคลื่อนไหวลูกตา คุมการรับรู้สึกตัว การเคลื่อนไหวแขนขา การสะบัดคอแรงๆ การหมุนคอบิด บริหารประจำอาจทำให้เกิดผลร้าย

อันตรายที่เกิดขึ้นจะแปรตามความรวดเร็ว รุนแรงของการบิดสะบัดเคลื่อนไหวคอและแม้หมุน สะบัดไม่รวดเร็ว แต่การทำซ้ำกันบ่อยๆเป็นระยะเวลานานก็เกิดเรื่องได้ ไม่เฉพาะแต่เส้นประสาทที่คอ ยังเกิดกับเส้นเลือด โดยเฉพาะผู้ที่เกิดมาขาดทุนคือมีเส้นเลือดคู่หลังเพียงเส้นเดียว และในคนที่มีเส้นเลือดตีบอยู่แล้วจากมีโรคประจำตัว คือ อ้วน ความดันสูง ไขมันเพียบ หรือมีกระดูกงอกที่คอที่พร้อมที่จะกดเบียดเส้นเลือดอยู่แล้วหรือคนที่มีโรคของผนังเส้นเลือดผิดปกติแต่กำเนิด (ซึ่งพบได้น้อยมาก)

ข้อควรระวัง และกลไกในการเกิดอัมพฤกษ์จากการเคลื่อนของคอ อันเป็นผลจากการจับ ดัด เอียง สะบัด มีรายงานเป็นทางการจากสมาคมโรคหัวใจและโรคอัมพฤกษ์จากเส้นเลือดผิดปกติของสหรัฐฯ ซึ่งรายงานข้อสรุปได้รับการสนับสนุนและรองรับโดยสมาคมศัลยแพทย์และคองเกรสทางระบบประสาทของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ในวารสาร Stroke ฉบับเดือนตุลาคม 2014

ทั้งนี้ การนวดกดจุดก็น่าจะต้องระวังเช่นกัน เนื่องจากเส้นเลือดคู่หลังจะวิ่งเข้าสมองโดยผ่านรู 2 ข้างที่ฐานกะโหลกศีรษะ ซึ่งจากการนวด อาจจะมีวิธี “ปิด–เปิดประตู”

ทั้งนี้ การเปิดปิดประตูคือการกดจุดที่รู 2 ข้างซึ่งจะตัดการไหลเวียนของเลือดเข้าสมองท้ายทอยซึ่งเป็นจอรับภาพในสมอง ทำให้ตามืดไปชั่วขณะ และเมื่อปล่อยการกดจุด เลือดจะไหลมาดังเดิมทำให้ตาสว่าง ซึ่งในคนที่เส้นเลือดผิดปกติอยู่แล้ว ตาอาจมืดไปเลยได้ กลายเป็นบอดทั้ง 2 ข้าง

สำหรับคนเมื่อยคอ วิธีแก้เมื่อย รวมทั้งยังสามารถทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเองได้คือคอตรง หน้าตรง ดันศีรษะสู้กับฝ่ามือตนเอง 4 ทิศ ซ้ายขวา หน้าหลังเท่ากับ 1 รอบ ดันแรง ดันนานๆ ทำวันละ 10-20 รอบ ตอนไหนก็ได้ ยังช่วยเรื่องกระดูกกดทับเส้นประสาท ปรับโครงสร้างกระดูก เส้นเอ็นให้เข้าที่ ทำให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง ไม่ต้องไปดึงคอที่โรงพยาบาลเสียเวลารถติด ข้อสำคัญไม่ต้องกินยาแก้ปวด ซึ่งเป็นการแก้ปลายเหตุ กระเพาะทะลุ ไตพัง และยาแก้ปวดยังทำให้เส้นเลือดหัวใจตันได้

ถ้าเราทราบข้อห้าม ทราบโครงสร้างของเส้นเลือดและกระดูกเส้นเอ็นเราก็จะปฎิบัติได้ถูกวิธีไม่เกิดอันตราย นะครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไขข้อข้องใจ! ความดันสูงกับ 'ความดันกลางคืน' สำคัญอย่างไร

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ความดันสูงและความดันตอนกลางคืนสำคัญอย่างไร

เปิดผลวิจัยอเมริกา 'ออกกำลังกาย' เวลาไหนดีกว่ากัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเด็นร้อน.. ออกกำลังเช้า หรือบ่าย-เย็น ดีกว่ากัน

'หมอยง' ชวนฟังบรรยาย 20 มิ.ย. รับมือ RSV ฤดูกาลนี้

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า RSV กำลังจะระบาด

'หมอธีระวัฒน์' เทียบผลกระทบวัคซีน 'แอสตร้า' กับ วัคซีนตัดต่อพันธุกรรม เท่ากับเด็กประถม

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์พิเศษสาขาประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

‘หมอธีระวัฒน์’ แจง 5 เหตุผลสำคัญ ลาออกจาก หน.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่

วันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นวันสุดท้ายในฐานะหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย