'ธรรมศาสตร์' คว้ารางวัลใหญ่ Super AI Engineer นศ.ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อสังคม สร้างระบบแปลภาษา-สเก็ตช์หน้าผู้ต้องสงสัย

2 นักศึกษา SIIT ธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลเหรียญ “ทอง-เงิน” จากโครงการ Super AI Engineer หลังต่อยอดทักษะปัญญาประดิษฐ์ ช่วยวางระบบแปลภาษาที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น กับช่วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำภาพใบหน้าของผู้ต้องสงสัยคนไทยด้วย AI

สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Association of Thailand: AIAT) ร่วมกับ ศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เครือข่ายสถาบันวิชาการปัญญาประดิษฐ์ เครือข่ายมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนกว่า 60 องค์กร มอบ “รางวัลเหรียญทอง” ผู้ที่มีความสามารถดีเด่น ในโครงการพัฒนาบุคลากรความสามารถพิเศษด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือสุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer) ให้แก่ นายอิษฎา สุขประภา นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาปัญญาประดิษฐ์และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ( AI&IoT-TAIST Tokyo Tech)  สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ “รางวัลเหรียญเงิน” ให้แก่ น.ส.รมย์รวินท์ ชุมภู นักศึกษาปริญญาโท สาขา Engineering and Technology SIIT มธ. เช่นเดียวกัน

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัล จะต้องผ่านการประเมินจากโครงการ และเข้าร่วมทำงานกับบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศไทย โดยคะแนนหลักๆ มาจากการประเมินของบริษัทเอกชน ภายหลังผู้เข้าร่วมโครงการได้นำองค์ความรู้ด้าน AI ไปช่วยพัฒนาหรือแก้ไขอุปสรรคของธุรกิจของบริษัทเองชนได้

นายอิษฎา เปิดเผยว่า โครงการ Super AI Engineer ได้เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจพัฒนาทักษะด้าน AI โดยจะมีการสอนและการสอบ และมีการแบ่งระดับชั้นออกเป็น 3 ระดับ นั่นหมายความว่า หากผู้เข้าร่วมมีคะแนนผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะได้รับการประเมินเพื่อเลื่อนระดับชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเมื่อขึ้นไปในระดับที่ 2 แล้ว ก็จะมีบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยเข้ามาร่วมให้โจทย์ ซึ่งเป็นโจทย์ที่กำลังเป็นปัญหาที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่จริง โดยจะให้ผู้เข้าร่วมโครงการจะแบ่งออกเป็นกลุ่ม เพื่อใช้ AI เข้าช่วยแก้ไขปัญหาในแต่ละสัปดาห์ และเมื่อผ่านเข้าสู่ระดับที่ 3 ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถลงชื่อเพื่อเข้าร่วมทำงานจริงกับบริษัทที่ตนเองสนใจ ตามทักษะที่แต่ละคนถนัด เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การประมวลผลภาพ ฯลฯ ได้

“ส่วนตัวมีความถนัดทางด้านการประมวลผลภาษา จึงได้มีโอกาสทำงานกับ MED TECH ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการทำระบบแปลภาษา ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับ Google Translate แต่จะแตกต่างกันตรงภาษาที่แปลออกมาจะมีความเป็นมนุษย์ และธรรมชาติมากกว่า” นายอิษฎา กล่าว

นายอิษฎา กล่าวอีกว่า สิ่งที่ตนเองได้เข้าไปร่วมทำคือการจับคำเฉพาะ เพราะประเทศไทยมีคำใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะชื่อหน่วยงานต่างๆ จึงจำเป็นต้องสังเกตและคัดแยกคำเฉพาะเหล่านี้ออกมาให้ AI ได้เรียนรู้ เนื่องจาก AI จะไม่สามารถแปลออกมาได้ หากไม่เคยเห็นคำนั้นมาก่อน

“ก่อนเข้าร่วมโครงการเรารู้เรื่อง AI เพียงพื้นฐาน แต่เมื่อเข้าร่วมไปแล้วก็ช่วยเพิ่มทักษะมากยิ่งขึ้น และสามารถกลับมาต่อยอดทักษะเดิมให้กลายเป็นทักษะใหม่ได้อีกด้วย ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยยังขาดแรงงานทางด้าน AI เยอะมาก การเข้าร่วมโครงการยิ่งทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมในด้านนี้ยังขาดอะไร มีทักษะใดที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหา และความต้องการของอุตสาหกรรมได้บ้าง” นายอิษฎา กล่าว

ด้าน น.ส.รมย์รวินท์ กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการในช่วงแรกนั้นจำเป็นต้องกลับไปศึกษา ทบทวนความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ใหม่ เนื่องจากไม่เคยเรียนมาก่อน แต่ก็แก้ปัญหาด้วยการสอบถามทั้งเพื่อนร่วมโครงการไปจนถึงอาจารย์ที่คอยดูแล ตรงนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาและเรียนรู้อย่างรวดเร็ว

“เพิ่งค้นพบตัวเองตอนเรียนวิศวกรเคมีว่าชอบการเขียนโค้ด เพราะตอนเรียนจะมีอยู่หนึ่งวิชาที่จะต้องเขียนโค้ด เลยพบว่าสนุก และชอบ จึงทำให้มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการนี้ และยังได้เรียนทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ ถ้าไปเรียนข้างนอกจะได้เรียนเพียงแค่สาขาเดียวเท่านั้น” น.ส.รมย์รวินท์ กล่าว

น.ส.รมย์รวินท์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวมีความถนัดด้านการประมวลผลภาพ จึงได้เข้าร่วมงานกับ MED TECH ของ สวทช. ที่ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสร้างภาพใบหน้าของผู้ต้องสงสัยที่เป็นใบหน้าของคนไทย ซึ่งในปัจจุบันทั่วโลกก็จะทำในลักษณะนี้ทั้งหมด เพียงแต่ยังไม่มีภาพหน้าที่เป็นคนไทย ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังพัฒนาระบบ คาดว่าน่าจะส่งให้กับทางสำนักงานตำรวจฯ ได้ใช้ภายในสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า

สำหรับโครงการ Super AI Engineer ในซีซันแรกในปี 2563  มีผู้สมัครจำนวนมากกว่า 2,059 คน  และมีผู้ที่ผ่านการประเมินความสามารถหลังอบรม เป็นกลุ่มเหรียญทอง จำนวน 8 คน เหรียญเงิน 19 คน และเหรียญทองแดง 45 คน

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชนติดต่อ MEDIA HOTLINE : พรศรินทร์ ศรีสวัสดิ์ / 087-171-8944 / [email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

90 ปี สถาปนาธรรมศาสตร์ ก้าวสู่ 'มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคต'

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบปีที่ 90 พร้อมมอบรางวัลเข็มเกียรติยศ ให้แก่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” อดีต รมว.คลัง และ อดีต รมว.คมนาคม ในฐานะผู้ประกอบคุณงามความดีต่อสังคมและประเทศชาติ ขณะที่

เหล่าทัพขานรับนโยบาย 'บิ๊กทิน' ซื้ออาวุธแบบแพ็กเกจ

พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพว่า มีการหารือกันเรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัย

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ระบุ สว. ชุดใหม่ คือผู้กำหนดภูมิทัศน์การเมืองไทยไปอีก 5 ปี

อาจารรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ระบุ สว. ชุดใหม่ ยังมีอำนาจมากเกินไป และจะเป็นผู้กำหนดภูมิทัศน์การเมืองประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า

“ศุภมาส” ประกาศนโยบาย “อว. for AI” ติดอาวุธคนไทยใช้ AI พัฒนาประเทศ  ชู flagship การพลิกโฉมมหาวิทยาลัยด้วย AI

วันที่ 29 พ.ค. 2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวเปิดตัวนโยบาย“ อว. for AI” โดยมี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

Surviving the Great Disruption

ช่วงต่อไปของเศรษฐกิจ คงต้องเรียกว่า The Great Disruption ที่ต้องเรียกเช่นนี้ก็เพราะ ความเปลี่ยนแปลงที่รออยู่ข้างหน้า