"เสาร์สร้างสรรค์"พัฒนาความรู้พึ่งพาตนเอง กิจกรรมออนไลน์ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตสู้วิกฤต

สสส.ผุดกิจกรรมออนไลน์ Live ผ่านเฟซบุ๊กและดูย้อนหลังได้ “เสาร์สร้างสรรค์” ตลอดเดือนตุลาคม สอนทักษะพัฒนาความรู้ 3 ด้าน ความมั่นคงทางอาหาร-จัดการสุขภาพ-สร้างอาชีพและรายได้ พร้อมแชร์ประสบการณ์รอดวิกฤต รู้จักการพึ่งพาตนเอง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “เสาร์สร้างสรรค์” ภายใต้โครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564 โดย นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ รองประธานกรรมการบริหารแผน สำนัก 6 สสส. และ ผอ.มูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบโดยตรงกับคนไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวัยแรงงาน เพราะเศรษฐกิจหยุดชะงัก ขาดศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชน

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2564 พบประชากรกลุ่มวัยทำงานเป็นผู้ว่างงานกว่า 7.6 แสนคน และเป็นผู้เสมือนว่างงาน หรือทำงานในภาคเกษตรกว่า 4.3 ล้านคน และมีผู้ที่มีงานทำแต่ไม่ได้รับค่าจ้างกว่า 7.8 แสนคน ที่สำคัญยังพบว่า กลุ่มวัยทำงานส่วนมากไม่มีเงินใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน มีทักษะเชิงเดี่ยว ไม่สามารถปรับตัวเพื่อประกอบอาชีพอื่นได้ในทันทีจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนาน ประกอบกับวิกฤตน้ำท่วมล่าสุด จึงมีแนวโน้มที่จะมีคนว่างงานและคนที่มีรายได้น้อยลงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีลดลง เพราะขาดรายได้ ขาดโอกาส ขาดความรู้ในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง

นายวีรพงษ์กล่าวว่า สสส.ริเริ่มโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ สนับสนุนทุนเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างเสริมสุขภาพกว่า 100 โครงการ ผ่านหน่วยจัดการ (Node) 5 หน่วยจัดการครอบคลุมทุกภูมิภาค การจัดกิจกรรม “เสาร์สร้างสรรค์” ครั้งนี้ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้หน่วยจัดการเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิธีการทำงาน กลไกการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ประเด็นการทำงาน 3 ด้าน คือ

1.ความมั่นคงทางอาหาร ทางรอดท่ามกลางวิกฤต 2.การสร้างความรอบรู้ ทักษะ การจัดการสุขภาพ เพื่อเผชิญวิกฤต และ 3.การส่งเสริมอาชีพและรายได้กับการลดผลกระทบจากวิกฤต มุ่งเสริมความรู้ สร้างทักษะเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะวัยแรงงาน นำความรู้ไปพัฒนาศักยภาพตัวเองสู่การมีทักษะในการปรับตัวให้อยู่รอดในทุกวิกฤต โดยมีเป้าหมายผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1,000 คน

นางสาววรางคนางค์ นิ้มหัตถา ประธานสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และหัวหน้าหน่วยจัดการส่งเสริมเกษตรในเมือง สสส. กล่าวว่า การส่งเสริมเกษตรในเมือง เพื่อความมั่นคงทางอาหารในชุมชน ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่เปิดโอกาสให้คนเมืองได้เริ่มต้นสู่การพึ่งพาตนเอง ที่เริ่มจากการผลิตอาหาร สู่การฟื้นฟูคุณภาพชีวิต โดยส่งเสริมการทำงานของชุมชน 4 ข้อ ดังนี้ 1.พัฒนาเพิ่มขีดความสามารถด้านความรู้ ทักษะการทำเกษตรในเมือง การพึ่งตนเองด้านอาหารในเมือง จากการเพาะปลูกพืชผัก เลี้ยงไก่ไข่ โดยมีทีมพี่เลี้ยงที่มีความเชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้ความรู้ 2.สร้างแหล่งผลิตอาหารเพื่อสุขภาวะในชุมชน ยกระดับการพึ่งพาตนเอง ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน มีทักษะการทำการเกษตรกับการพัฒนาสุขภาวะองค์รวมทั้งร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 3.แบ่งปันอาหารสู่กลุ่มเปราะบางในพื้นที่อย่างเท่าเทียม และจำหน่ายอาหารในราคาถูกแก่คนในชุมชน และ 4.พัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน โดยเสริมศักยภาพชุมชนให้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปส่งออกสู่พื้นที่อื่นๆ ได้

“คนใน กทม.และปริมณฑลติดเชื้อโควิดสูงเท่ากับคนใน 71 จังหวัดของประเทศไทย เนื่องจากเมืองหนาแน่นสูง มีชุมชนแออัด ความหลากหลายของกลุ่มคน คนทำงานมีรายได้มาซื้ออาหาร แต่ในช่วงโควิดหลายคนตกงานไม่มีเงินซื้ออาหาร ตลาดซึ่งเป็นแหล่งกระจายอาหารหลายแห่งถูกปิด แม่ค้า เกษตรกรเข้าไม่ถึง คนมีเงินหรือไม่มีเงินก็หาซื้ออาหารไม่ได้ ความเปราะบางเรื่องอาหาร คนในชุมชนมีบทบาทดูแลกันเอง มีการคาดหมายกันว่าประเทศไทยเป็นประเทศสุดท้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะฟื้นตัวได้ เมื่อเกิดวิกฤตคนไทยฆ่าตัวตายสูงขึ้น 22% ความขาดแคลนอาหาร คนบางกลุ่มขาดโอกาส ไม่มีเงินซื้ออาหาร คนไม่มีเงินรอรับบริจาค ในขณะที่คนมีเงินกักตุนอาหาร และเกษตรกรบางส่วนต้องทิ้งอาหารเพราะไม่สามารถนำออกมาขายผู้บริโภคได้” วรางคนางค์กล่าว

สัดส่วนเมืองที่ไม่ใช่ กทม.ในปี 2050 จะเติบโต 72% พื้นที่ชนบท 28% ผลิตอาหาร ถ้าเราไม่รับมือในการผลิตอาหาร เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมย่อมได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นชุมชนจะต้องเตรียมการรับมือสร้างแหล่งอาหารในเมืองรองรับ สร้างโอกาส สร้างความยั่งยืนในชุมชน การเพิ่มทักษะความรู้ การผลิตอาหารเชื่อมโยงกับการบริโภค เป็นการกระจายเศรษฐกิจในชุมชนให้รองรับกับคนจนเมือง บ้านมั่นคง องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มเด็กพิเศษ การเติมความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผลิตอาหารให้ได้

"แนวคิดในการสร้างความมั่นคงทางอาหารคือ เก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อการแบ่งปัน โดย 10 ครอบครัวทำงานด้วยกัน 1 ปีเพื่อสร้างแหล่งอาหารในชุมชนเป็นจริงได้ มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ทิ้งรกร้างว่างเปล่า สร้างเป็นพื้นที่อาหารที่อุดมสมบูรณ์รองรับคนเปราะบางในชุมชน ทั้งนี้ในเดือนตุลาคมจนถึงมกราคมปีหน้าจะอบรมเชิงลึกทำการเกษตรเป็นอาชีพเพื่อการพึ่งพาตนเอง จัด 30 พื้นที่ พาทัวร์ 11 พื้นที่ ทัวร์ทิพย์ออนไลน์ ขณะนี้มีกลุ่มซาลาเปาสมุนไพรบางไผ่ กลุ่มสวนผักริมคลองบางมด ผลิตอาหารดูแลชุมชนกลุ่มเปราะบาง ผู้บริโภคปลอดภัยร่วมกันเป็นเครือข่าย" ประธานสวนผักคนเมืองกล่าว และเปิดเผยอีกว่า

การส่งเสริมการทำเกษตรในเมืองได้นำร่องใน 6 จังหวัด 30 ชุมชน ได้แก่ กรุงเทพฯ 19 ชุมชน ปทุมธานี 3 ชุมชน สมุทรปราการ 3 ชุมชน สมุทรสาคร 2 ชุมชน ชลบุรี 2 ชุมชน และนนทบุรี 1 ชุมชน คนในชุมชนสร้างแหล่งผลิตอาหารได้ด้วยตัวเอง สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ถึง 300-500 บาทต่อวัน มีคนในชุมชนเข้าร่วมเป็นแกนนำกว่า 1,000 คน มุ่งเป้ากระจายความมั่นคงด้านอาหารไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนเมืองทั่วประเทศ ลดความเปราะบางด้านอาหารแม้ต้องเผชิญภาวะวิกฤต

นายสุวิทย์ หมาดอะดำ หัวหน้าหน่วยจัดการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤต เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ สสส. กล่าวว่า 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี มีประชากรไม่มาก แต่ติดเชื้อโควิด-19 เป็น 10 อันดับต้นๆ ของไทย ถึงวันนี้การระบาดของโรคยังน่าเป็นห่วง ที่ยะลาติดเชื้อ 700 คน ประชาชนแทบหมดหวัง เราปิดเมืองไม่ได้เนื่องจากแรงงานของเรากลับจากมาเลเซีย ภูเก็ต กรุงเทพฯ เมื่อกลับมาอยู่บ้านที่นี่ยังมีโครงสร้างการเกษตรที่รองรับได้ แกนนำสร้างการมีส่วนร่วม มีวิทยากรจากส่วนกลางเข้ามาอบรมความรู้ กลไกการทำงานที่มีพี่เลี้ยงดูแล การสร้างทักษะการจัดการสุขภาพชุมชนเชื่อมโยงการผลิตอาหาร การจัดกลุ่มไลน์ทำเว็บไซต์ผ่านฐานข้อมูล จ.สงขลาสร้างความมั่นคงทางอาหารที่บางกล่ำ วัยรุ่นกลับมาอยู่บ้านกับผู้สูงอายุ ช่วยกันสร้างชุมชนทางอาหารพึ่งพาตัวเอง ปลูกเพื่อการแบ่งปัน ปลูกผักเพาะเห็ดแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดความยั่งยืน การทำให้ทุกครัวเรือน ชุมชน คือแหล่งพักพิงที่ให้ความปลอดภัยและมั่นคง มีการสร้างกฎกติกาการออมเงินเดือนละ 10 บาท ทุกครัวเรือน ร่วมมือกับวัดสร้างชุมชนน่าอยู่ เมื่อมีปัญหาก็ช่วยเหลือคลายทุกข์ให้ลดลงได้

สำหรับการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ มีขั้นตอนทำงาน 3 ข้อดังนี้ 1.ชักชวนผู้นำชุมชนและผู้ที่สนใจในพื้นที่มาร่วมเป็นแกนนำสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้แก่คนในชุมชน 2.พัฒนาทักษะแกนนำ เสริมความเข้าใจเรื่องการสร้างแหล่งผลิตอาหารในชุมชน รวมถึงการจัดการการเงินในชุมชน โดยให้ฝึกวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาด้านการเงินรายบุคคล 3.กระจายอาหารสู่คนในชุมชนอย่างทั่วถึง สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน 20-40 บาทต่อวัน ขณะนี้มีพื้นที่นำร่องใน 5 จังหวัด 15 พื้นที่ ได้แก่ สงขลา 3 พื้นที่ สตูล 3 พื้นที่ ปัตตานี 3 พื้นที่ ยะลา 3 พื้นที่ และนราธิวาส 3 พื้นที่ มีคนในชุมชนเข้าร่วมเป็นแกนนำกว่า 300 คน มีเป้าหมายจะขยายพื้นที่เพื่อกระจายความมั่นคงด้านอาหารไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ภายในปี 2565

ทั้งนี้กิจกรรม “เสาร์สร้างสรรค์” ถ่ายทอดสดในวันเสาร์ที่ 2, 16 และ 30 ตุลาคม เวลา 14.00-16.00 น. ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ สร้างสรรค์โอกาส และ สสส. ผู้สนใจสามารถเปิดดูกันได้ตลอดเดือนตุลาคม.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"สิทธิในอาหาร..เพื่อชีวิตที่ดี" ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดัน

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร

สสส. ทำถึง กวาด 14 รางวัลสื่อสาร จากแอด พีเพิล อวอร์ส 2567 ผ่าน 5 ผลงาน สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม “Walk Stadium” “หมวกกันน็อกคืนชีพ” “แอร์ล้างได้ปอดล้างไม่ได้” “พวงเครื่องปรุงจิ๋ว” “การเดินทางของบุหรี่”

น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลงานโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ได้รับรางวัลแอด พีเพิล อวอร์ส 2567

ต่อยอด! ติดอาวุธสมองป้องกัน ความเสี่ยงภัยบนโลกไซเบอร์

ผลสำรวจปี 2567 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 88% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่ใช้งานนานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ท่องโลกอินเทอร์เน็ต

โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ

"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค

การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง