อว.ประชาพิจารณ์ ตั้ง'มหาศิลปาลัย' ดึง 'วิทยาลัยเพาะช่าง' เป็นแกน รับนศ.ไม่ต้องผ่าน TCAS แต่ใช้วิธีเสนอผลงาน

10 พ.ค.2566- ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมการประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นหลักการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (มหาศิลปาลัย) และร่าง พ.ร.บ.มหาศิลปาลัย พ.ศ. ….มี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. ศ.กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานคณะกรรมการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมคณะกรรมการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมกว่า 200 คน

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวปาฐกถาบทบาทศิลปะ สุนทรียะ อารยะ กับการพัฒนาประเทศ ว่า มหาศิลปาลัย จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ สุนทรียะ อารยะ ผู้ที่ร่าง พ.ร.บ.นี้คือ ศ.กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เพราะวิธีการหนึ่งที่เราจะส่งเสริมศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ก็คือการตั้งมหาวิทยาลัยประเภทใหม่ขึ้นมา แล้วต้องมีลักษณะที่โดดเด่น เฉพาะทางและเหมาะสำหรับศิลปะ โดยต้องใช้เกณฑ์ ใช้มาตรฐาน ที่จะทำให้คนที่เก่งที่สุดด้านศิลปะได้เข้ามาสอน และเอาคนที่มีศักยภาพสูงที่สุดด้านศิลปะเข้ามาเรียน โดยเกณฑ์ในการพิจารณาในการรับคน ในการแต่งตั้ง ต้องใช้เกณฑ์ใหม่ อาจจะไม่เอาพื้นฐานการศึกษามาวัด เช่น ศิลปินแห่งชาติบางคนไม่จบปริญญาตรีแต่ผลงานล้ำค่ามาก อาจจะเข้ามาสอนและให้เงินเดือนสูงเทียบเท่ากับศาสตราจารย์ หรือ ดร.ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ เพราะวันนี้ อว. ปฏิรูปแล้ว สามารถเอาคนเก่งที่อยู่นอกระบบหรือคนที่ไม่มีปริญญามาสอนในมหาวิทยาลัยได้ ศิลปินหลายคนอาจไม่ได้เรียนสูง แต่ผลงานของพวกเขา มันยิ่งใหญ่มาก ต้องเลิกเอายศ เอาศักดิ์หรือตำแหน่งทางวิชาการมาแบ่งคนได้แล้ว

ศุภชัย ปทุมนากุุล

ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า การจัดตั้งมหาศิลปาลัย เป็นไปตามมติของ สภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการจัดตั้งสถาบันผลิตกำลังคนด้านศิลปะ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ทั้งนี้ สำนักปลัดกระทรวง อว. ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ร่วมกันจัดทำร่าง พ.ร.บ. มหาศิลปาลัย โดยใช้วิทยาลัยเพาะช่าง เป็นแกนหลัก ผนวกเข้ากับหลักสูตรและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นไปต่อยอดและสร้างคุณค่าให้กับศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงนำเอกลักษณ์ความเป็นไทยไปส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศให้เป็นที่รู้จักในนานาประเทศ ซึ่งการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนเฉพาะทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม ที่มีการจัดการเรียนการสอนและการบริหารงานในรูปแบบเฉพาะนี้ จะช่วยให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์งานศิลปะใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์และสร้างมูลค่าได้

ด้าน ศ.กิตติคุณบวรศักดิ์ กล่าวว่า มหาศิลปาลัย เกิดจากการนำคำ 3 คำ มาสมาสสนธิกัน ได้แก่ มหา ที่แปลว่า ยิ่งใหญ่ ศิลปะ ที่แปลว่า ฝีมือ, ฝีมือการช่าง, การทำวิจิตรพิสดาร และอาลัย ที่แปลว่า ที่อยู่หรือที่ตั้ง รวมกันเป็น “ที่ตั้งของศิลปะ” บ่งบอกลักษณะของมหาศิลปาลัยที่ต่างไปจากมหาวิทยาลัยในรูปแบบเดิม ซึ่งแปลว่า ที่อยู่ของวิทยาการ โดยมหาศิลปาลัยจะมุ่งสร้างมูลค่าและคุณค่าให้ศิลปะและวัฒนธรรมไทย นำเอาความเฉพาะทางของศิลปะ สุนทรียะทั้งหลายให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยมุ่งเน้นสร้างคนที่จะสามารถนำศิลปะและสุนทรียะไปต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีกระบวนการรับนักศึกษา โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการอย่างการสอบ TCAS แต่สามารถเอาผลงานมาเสนอขอรับการคัดเลือก ส่วนหลักสูตรก็จะเน้นปฏิบัติ การลงมือทำจริง การขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ก็จะพิจารณาจากผลงานด้านศิลปะและสุนทรียะเป็นหลัก ที่สำคัญ มหาศิลปาลัยจะไม่ใช่แค่สอนอย่างเดียว แต่ต้องสร้างคุณค่าอื่นให้กับสังคมและประเทศอีกด้วย

เพิ่มเพื่อน