'วัฒนา' ยืนกรานไม่ผิด-ไม่หนี '4มีนา' ขึ้นศาลฎีกาฯ ฟังคำพิพากษาคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร

คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทรแฟ้มภาพ

3 มี.ค.2565 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม เวลา 14.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ได้นัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ในชั้นอุทธรณ์ในคดีทุจริตการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติ ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี

โดยคดีดังกล่าว ศาลฎีกาฯได้เคยอ่านคำพิพากษาคดนี้ไปเมื่อ 24 ก.ย.2563 ที่ตัดสินจำคุกจำเลยในคดีดังกล่าว อาทิ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพราะกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 รวมความผิด 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี ซึ่งศาลฎีกา ได้ตัดสิน และต่อมาศาลฎีกาให้ประกันตัววัฒนา โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10 ล้านบาท

นอกจากนี้ ศาลฎีกาฯยังได้ตัดสินลงโทษจำคุกคนอื่น เช่น นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร ที่ปัจจุบันอยู่ในเรือนจำในฐานะนักโทษคดีทุจริตจำนำข้าว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเสี่ยเปี๋ยง ถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุกในคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร 50 ปี เพราะมีหลักฐานเส้นทางการเงินว่ามีการโอนเงินจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ได้งานโครงการบ้านเอื้ออาทร เข้าบัญชีเครือข่ายเสี่ยเปี๋ยง และคนใกล้ชิด รวมถึง มีการเบิกความของพยานในคดีนี้ โดยเฉพาะผู้บริหารบริษัทรับเหมาว่า เสี่ยเปี๋ยง และพวกเรียกรับสินบนจากบริษัทเอกชนหลายแห่งเป็นเงินจำนวนมาก เพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้ได้สัญญาการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร

นอกจากนี้ศาลฎีกาฯยังตัดสินจำคุก นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีตแกนนำนปช.และอดีตส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคไทยรักไทยที่โดนศาลฎีกาตัดสินจำคุกคดีนี้ 4 ปีโดยในคำพิพากษาของศาลฎีการะบุตอนหนึ่งว่า นายอริสมันต์ได้เดินทางไปพบกับผู้บริหารบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง โดยมีการบอกว่าจะช่วยให้บริษัทได้รับสัญญาก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร โดยขอค่าตอบแทนเป็นเงินหลายสิบล้านบาท แต่ตกลงกันไม่ได้ และมีการปรับลดเงินลงมา และต่อมาพบเส้นทางการเงินว่ามีการจ่ายเช็คจากบริษัทดังกล่าวให้กับคนใกล้ชิดของอริสมันต์ หลังบริษัทได้รับสัญญาการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร อย่างไรก็ตามนายอริสมันต์ได้หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ อยู่ต่างประเทศจนถึงทุกวันนี้

และต่อมา นายวัฒนาในฐานะผู้ต้องคำพิพากษาได้ใช้สิทธิ์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาฯ ที่ทำได้ง่ายขึ้นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 195 เปิดช่องให้ผู้ต้องตำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯสามารถอุทธรณ์คดีได้โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

ความเคลื่อนไหวล่าสุด นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ปัจจุบันเป็นแกนนำพรรคไทยสร้างไทยที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เป็นแกนนำ ยืนยันว่า จะเดินทางไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ตั้งแต่ก่อนเที่ยง เพื่อเตรียมตัวรับฟังการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ในชั้นอุทธรณ์ ที่ศาลจะเริ่มอ่่านตั้งแต่เวลา14.00 น. ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังมั่นใจกับกระบวนการสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ เพราะที่ผ่านมาการสอบสวนดำเนินคดีกับตนเองตั้งแต่เริ่มต้นมันไม่มีอะไรถูกต้องเลยสักเรื่องหนึ่ง เพราะหลักสำคัญของการดำเนินคดีอาญามันมีหลักสำคัญสามอย่าง

"อย่างแรกคือต้องครบองค์ประกอบของกฎหมาย ซึ่งข้อกล่าวหาที่กล่าวหาผม ในความเป็นจริงผมไม่ได้มีอำนาจอะไรตามที่เขากล่าวหา(การอนุมัติโครงการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร) ก็ถือว่าไม่ครบองค์ประกอบการกระทำความผิดแล้ว อันที่สอง พยานหลักฐานที่ได้มาจะต้องได้มาโดยชอบ แต่คดีของผม เกิดจากการจูงใจทั้งสิ้น ที่มีหลักฐานอยู่ในสำนวนคดีที่เห็นชัดเจนว่ามีการพยายามจูงใจพยานในคดีนี้ ทั้งหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ และหนังสือที่นายแก้วสรร อติโพธิ(อดีตประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทรของคตส.)ที่เขาบอกเองว่าได้มีการต่อรองกับพยานว่าหากพยานให้ความร่วมมือก็จะไม่ฟ้องคดี แบบนี้เรียกว่าการต่อรองหรือไม่ เพราะเป็นพยานที่เขาเรียกตามกฎหมายว่าพยานที่ให้คำมั่นสัญญา หรือจูงใจ ที่ศาลเขาห้ามอ้าง

และสาม ข้อเท็จจริงที่เอาผิดผม มันถูกแต่งขึ้นมา ผมถามคุณว่า คุณเชื่อหรือว่า ผมไปเรียกประชุมผู้ประกอบการ(บริษัทเอกชนที่ยื่นเรื่องประมูลการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร) แล้วเรียกเงินเขากลางที่ประชุม มีมนุษย์คนไหนไหม ที่ไปเรียกรับเงินต่อหน้าที่ประชุมที่มีคนเยอะแยะ ถามว่ามนุษย์ที่ไหนจะทำ ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่รับฟังไม่ได้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงมันไม่มีอยู่จริง การเอาพยานมามัดเพื่อต้องการให้เป็นตามที่ฟ้องผม มันก็คือพยานเท็จ เพราะข้อเท็จจริงมันไม่มีอยู่จริง ก็เลยไปต่อรองและจูงใจ มีการให้คำมั่นสัญญาเพื่อแลกกับการไม่ฟ้องคดี ใครให้ความร่วมมือก็จะกันไว้เป็นพยาน มันก็คือพยานที่เกิดจากการจูงใจ

และที่สำคัญ คดีอาญามันต้องครบองค์ประกอบความผิด ซึ่งความผิดตามมาตรา 148 คือต้องเป็นเจ้าพนักงานและใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งคนที่จะอนุมัติให้บริษัทใดได้โครงการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรแต่ละโครงการได้คือบอร์ดการเคหะแห่งชาติ ไม่ใช่ผม เพราะการเคหะฯคือรัฐวิสาหกิจ รัฐมนตรีไม่ได้มีอำนาจตรงนั้น ดังนั้นจะมาฟ้องเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ไม่ได้ เมื่อผมไม่มีอำนาจแล้วจะฟ้องเอาผิดผมได้ยังไง ผมจึงไม่ได้ทำอะไรผิด" นายวัฒนา กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ตัดสินว่านายวัฒนามีความผิดเพราะนายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จำเลยในคดีเดียวกันนี้ไปอ้างกับบริษัทรับเหมาว่าตนเองเป็นที่ปรึกษาแบบไม่เป็นทางการของนายวัฒนา แล้วไปเจรจากับบริษัทเอกชนเรียกค่านายหน้าโครงการนั้น เรื่องดังกล่าว นายวัฒนากล่าวตอบว่า คนอื่นไปอ้างชื่อผม สิ่งสำคัญต้องดูว่า ผมรู้เรื่องด้วยหรือไม่ ไม่อย่างนั้นก็ไปอ้างกันได้ทั้งโลก และมีหนังสือหลักฐานสอบถามไปที่สำนักงาน กันเลยหลังมีการสอบถามกันว่า ผมเกี่ยวข้องอะไรหรือไม่ ก็มีการตอบว่า ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีหนังสือยืนยันกันแบบนี้ แล้วจะเอาตรงไหนมาบอกว่าผมรู้เห็นกับการที่เขา(นายอภิชาติ) เอาชื่อผมไปอ้าง เป็นการจินตนาการกันทั้งสิ้น

การพิจารณาคดีความผิดทางอาญาของผมในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯที่ตัดสินผมในชั้นต้น โดยปกติ การอ้างว่ามีตัวการ หลักคือต้องวินิจฉัยการกระทำของตัวการก่อน แต่คดีนี้ ไปวินิจฉัยคนอื่นทั้งหมดก่อนว่าแต่ละคนทำอะไรบ้าง แล้วบอกว่าพวกนี้ทำไม่ได้ หากผมไม่รู้เรื่อง แต่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผมไปเรียกเงินเรียกทองจริงหรือไม่ก่อน แล้วหากผมทำ ก็ต้องไปดูต่อว่าแล้วใครช่วยผมทำบ้าง เป็นเครื่องไม้เครื่องมือเป็นผู้สนับสนุน ทั้งหมดจึงมีความไม่ชอบมาพากลในทุกเรื่อง ตั้งแต่การตั้งข้อกล่าวหา การไต่สวนพยานที่ผิดกฎหมาย ข้อเท็จจริงมันไม่เข้าองค์ประกอบของกฎหมายด้วยซ้ำ แล้วมาลงโทษผมแบบนี้ มันก็คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นการเมือง

"ผมก็สู้ให้เห็นแล้ว และการเมืองก็ไม่ควรเข้าไปในศาล เพราะหากประชาชนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมแล้วต่อไป ก็ไม่มีทางตัดสิน นอกจากเอาปืนยัดใส่มือกัน ปืนใครใหญ่กว่ากัน ถ้าพึ่งพาศาลไม่ได้แล้ว แต่ก็โอเค ผมได้อุทธรณ์ในประเด็นเหล่านี้ไปแล้ว ผมก็สู้ไปทุกประเด็น เพราะการดำเนินคดีผมไม่มีอะไรที่ถูกต้อง ผมถึงยืนสู้ มีคนถามว่าต้องการอะไร ผมไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าความกล้าและความยุติธรรมที่ต้องตัดสินอย่างตรงไปตรงมา ก็เดินหน้าสู้กัน"นายวัฒนา อดีตรมว.พัฒนาสังคมฯ ผู้ต้องคำพิพากษาคดีบ้านเอื้ออาทร ระบุ

อนึ่ง การลงโทษจำคุก วัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พัฒนาสังคมฯ เป็นเวลา 50 ปี พบว่าคำพิพากษาของศาลฎีกา ฯ ตัดสินว่านายวัฒนามีความผิด เพราะเครือข่ายการเรียกรับสินบนทุจริตบ้านเอื้ออาทร ดังกล่าวที่ศาลฎีกาเห็นว่ามีการกระทำในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ โดยที่อภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง มีการอ้างเรื่องการเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ของนายวัฒนา ขณะเป็น รมว.การพัฒนาสังคมฯ ไปเจรจาเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทเอกชน ศาลจึงเห็นว่า นายวัฒนา ที่เป็นอดีตรมว.พัฒนาสังคมฯ น่าจะรู้ข้อเท็จจริง ที่มีการเรียกรับเงินได้ เพราะเป็นเงินจำนวนสูงมาก และเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันแพร่หลายในเวลานั้น แม้จำเลยที่หนึ่ง นายวัฒนา จะอ้างว่าเสี่ยเปี๋ยงไปพบผู้รับเหมากันเอง ศาลจึงเห็นว่า เป็นการอ้างที่จะทำให้พ้นการกระทำความผิดที่หาฟังได้ไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลฎีกานักการเมือง ยกฟ้อง 'กิตติรัตน์' ไม่ผิดระบายข้าวเอื้อบริษัทเอกชน

ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ศาลอ่านคำพิพากษา ในคดี อม.17/2565 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง จำเลย ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (กรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ยืนคุก 6 ปี 'อนุรักษ์' อดีต สส.เพื่อไทย เรียกเงินกรมน้ำบาดาล

ศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.5/2567ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย จำเลย ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (คดีเรียกร้บสินบน 5 ล้านบาทจากอดีต อธ.กรมทรัพยากรน้ำบาดาล)

'สมชาย' ไล่บี้ กกต. นับคะแนนใหม่ชุดบล็อกโหวต จับแก๊งฮั้วเลือก สว.

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า