กต. เปิดถ้อยแถลง ไทยร่วมลงมติสหประชาชาติ เรียกร้องรัสเซียถอนกำลังออกจากยูเครน

3 มี.ค.2565 - กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ข้อความบนทวิตเตอร์ @MFAThai เปิดเผยคำอธิบายการลงคะแนนเสียงของประเทศไทย ที่กล่าวหลังการลงคะแนนเสียง โดย นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยเร่งด่วนเป็นพิเศษ ครั้งที่ 11 (11th Emergency Special Session of the United Nations General Assembly) วันที่ 2 มีนาคม 2565 มีดังนี้

1.ประเทศไทยได้พิจารณาร่างข้อมติฯ อย่างรอบคอบ และได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนข้อมติฯ เนื่องจากประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อหลักการที่กำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหลักการเคารพอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และการไม่ใช้กำลังต่อรัฐต่าง ๆ

2.การที่ประเทศไทยสนับสนุนข้อมติฯ ยังเป็นการย้ำถึงความห่วงกังวลอย่างลึกซึ้งต่อความยากลำบากของ พลเมืองที่เดือดร้อน และผลกระทบด้านมนุษยธรรมต่อบริเวณที่มีการสู้รบและความรุนแรง ในการนี้ เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามพันธกรณีของตนตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างครบถ้วน

3.เรายังมีความห่วงกังวลต่อผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นต่อความเป็นระเบียบระหว่างประเทศที่อิงพื้นฐานของกฎเกณฑ์ และขอย้ำถึงข้อเรียกร้องให้เกิดสันติภาพและขอให้ทุกฝ่ายเพิ่มการหารือผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำไปสู่การหาทางออกอย่างสันติให้แก่สถานการณ์นี้

กระทรวงการต่างประเทศ ยังได้เปิดเผย ถ้อยแถลงนายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติต่อการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 11 (11th Emergency Special Session of the United Nations General Assembly) เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565

1.ประเทศไทยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการสถานการณ์ความรุนแรงและการปะทะระหว่างกันที่แย่ลง ซึ่งเป็นผลจากการใช้กำลังทหารในยูเครน ที่ส่งผลให้มีการสูญเสียชีวิต รวมถึงชีวิตพลเรือนผู้บริสุทธิ์และความเสียหายของทรัพย์สินและสาธารณูปโภคของพลเรือน

2. รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ในยูเครน เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2565 ตั้งแต่นั้น การปะทะด้วยอาวุธยังคงดำเนินต่อไป โดยมีผู้เสียชีวิตซึ่งรวมถึงพลเรือนยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

3. สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมของผู้ลี้ภัย และผู้หนีการสู้รบมีความน่ากังวลเป็นพิเศษ ประเทศไทยชื่นชมประเทศเพื่อนบ้านของยูเครนและรัฐอื่น ๆ สำหรับการระดมความช่วยเหลือไปสู่ผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน ในส่วนของประเทศไทย จะให้ความร่วมมืออย่างสุดความสามารถเพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พลเรือนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการให้ความช่วยเหลือโดยตรง และผ่านความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

4.ประเทศไทยเคารพหลักการตามกฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเคารพอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และความเป็นเอกราชของรัฐ รวมทั้งการละเว้นการใช้กำลังหรือการขู่ว่าจะใช้กำลังต่อรัฐอื่น เราจึงเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการปะทะทางอาวุธโดยทันที สถานการณ์ที่รุนแรงยิ่งขึ้นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อโลกในวงกว้าง ซ้ำเติมความเปราะบางด้านมนุษยธรรม และเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้

5. ประเทศไทยขอย้ำคำเรียกร้องให้มีการเจรจาหารือเพื่อหาข้อยุติโดยสันติวิธี และมีทางออกที่ยั่งยืน ผ่านองค์การสหประชาชาติ กลไกระดับภูมิภาค หรือกลไกอื่น ๆ ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ในการนี้ ประเทศไทยยินดีต่อการหารือทวิภาคีล่าสุดระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และคาดหวังว่าจะมีผลสำเร็จ

6. ในฐานะประเทศที่รักความสงบ มีความศรัทธาในเจตนาดีของชาติต่าง ๆ และความเข้าอกเข้าใจกันของมวลมนุษยชาติ เราจึงจะยังสานต่อความหวังว่า ในที่สุดทุกฝ่ายจะกลับเข้าสู่เส้นทางของสันติภาพ ความปรองดอง และความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี

สำหรับการลงมติในการประชุมวาระพิเศษเร่งด่วนครั้งที่ 11 สมาชิกสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) มีประเทศสมาชิก ลงคะแนนเสียงเห็นด้วย 141 เสียง รวมถึงไทย เรียกร้องให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครน และถอนกองทัพทั้งหมดออกไปโดยทันที

และ ไม่เห็นด้วย 5 เสียง ได้แก่ เบลารุส เกาหลีเหนือ ซีเรีย เอริเทเรีย และรัสเซีย และงดออกเสียง 35 เสียง (อาเซียนมี สปป.ลาว เวียดนาม และจีน อินเดีย ปากีสถาน) จากทั้งหมด 193 ประเทศ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอาแน่! กต. แถลงยัน MOU44 ไม่ใช่ปีศาจร้าย 'ภูมิธรรม' จ่อประธานถกผลประโยชน์กับกัมพูชา

กต.ตั้งโต๊ะแถลงป้อง MOU44 บอกไม่ใช่ปีศาจร้าย ไม่ขัดพระบรมราชโองการประกาศไหล่ทวีป งัดสนธิสัญญากรุงสยาม-ฝรั่งเศส ระบุชัดเกาะกูดของไทย ส่วนเส้นกัมพูชาเคลม ไร้ผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ รอคณะรัฐมนตรีตั้ง คกก.เทคนิค JTC “ภูมิธรรม” นั่งประธาน

'มาริษ' ร่อนหนังสือ​ประท้วงทางการอิสราเอล หลังแรงงานไทยเสียชีวิต 4 ราย

นายมาริษ​ เสงี่ยมพงษ์​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ​ กล่าวถึงเหตุยิงจรวดเข้าไปในเขตประเทศอิสราเอล และทำให้คนไทยเสียชีวิต 4 ราย แล

นายกฯ ต้อนรับเลขาธิการโออีซีดีย้ำไทยพร้อมเป็นสมาชิก!

รัฐบาล ต้อนรับเลขาธิการ OECD ย้ำไทยพร้อมเข้าเป็นสมาชิก เร่งปรับปรุงกฎระเบียบสู่มาตรฐานสากล ด้าน OECD ชื่นชมบทบาทไทยในอาเซียน พร้อมช่วยผลักดันนโยบายภาครัฐ

ทั่วโลกจับตา! 'คดีตากใบ' สะท้อนไทยล้มเหลว ปล่อยละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำ

แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย หวั่นคดีตากใบหมดอายุความ กลายเป็นใบเบิกทางละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก ชี้ชัด ทั่วโลกจับตาดูอยู่ เชื่อจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงบนเวทีสาธารณะระหว่างประเทศต่อเนื่อง

มาครง และเนทันยาฮู ปะทะกันหลังเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพถูกโจมตีในเลบานอน

กองทัพอิสราเอลโจมตีฐานที่ตั้งของกองกำลัง ‘หมวกสีฟ้า’ ในเลบานอนหลายครั้ง ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่ง

ด่วน! แรงงานไทยตาย 1 ราย สถานทูตไทยในอิสราเอล เผย 11 พื้นที่ห้ามทำงาน-พักอาศัย

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (11 ต.ค. 67) ได้เกิดเหตุยิงจรวดต่อสู้รถถัง (anti-tank missile) เข้าไปยังนิคมเกษตร Yir'o