ระทึก! ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด 'คดีโฮปเวลล์'

2 มี.ค.2565 - ศาลปกครองเผยแพร่ "หนดนัดพิจารณาคดีที่น่าสนใจของศาลปกครอง" ว่า วันที่ 4 นาคม 2565 เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 107/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366/2557 ระหว่างกระทรวงคมนาคม ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ร้อง) กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้คัดค้าน) (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา)

กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ร้อง) ฟ้องว่า คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดตามข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ได้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้อง โดยอ้างว่า ผู้ร้องบอกเลิกสัญญากับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยไม่ชอบ ผู้ร้องทั้งสองเห็นว่า คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดไปโดยไม่มีอำนาจ และคำชี้ขาดดังกล่าวเป็นการชี้ขาดเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการฯ ซึ่งสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดให้ผู้ร้องทราบตามหนังสือลงวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ผู้ร้องทั้งสองจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว)

คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

ผู้ร้องทั้งสองจึงมีหนังสือลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

ต่อมา ผู้ร้องทั้งสองมีหนังสือลงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 และลงวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่และของดการบังคับคดี ศาลปกครองชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ที่ 5/2564 กรณีมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่า เป็นการออกระเบียบโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญซึ่งกรณีดังกล่าว เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขั้นตอนการออกระเบียบของศาลปกครองดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏอีกว่า ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดในคราวประชุมดังกล่าว มีมติในประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยตรงในคดี อันเป็นเงื่อนไขในการฟ้องคดี การวินิจฉัยว่าคณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้น ขัดต่อ บทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ อันเป็นการวินิจฉัยในส่วนของเนื้อหาคดี ดังนั้น วัตถุแห่งคดีและข้อกฎหมายอันเป็นการก่อตั้งข้อพิพาทแห่งคดีนี้ จึงแตกต่างไปจากคดีตามมติที่ประชุมใหญ่พิพาท อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า การพิจารณาพิพากษาของตุลาการในศาลปกครองสูงสุดตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าวอ้างในคดีระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับบริษัท โฮปเวลล์ฯ เป็นการกระทำทางตุลาการ

อันแสดงให้เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่มีผลผูกพันศาลในคดีนี้ อีกทั้งถือได้ว่าคดีนี้ศาลได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้ว ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ดังนั้น จึงไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว ตามมาตรา 212 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเพียงการชี้ขาดสถานะทางกฎหมายของมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เท่านั้น จึงไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ในการวินิจฉัยตีความในคดีดังกล่าว จึงไม่มีผลผูกพันคดีที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่คดีนี้

สำหรับประเด็นที่ผู้ร้องทั้งสองมีคำขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่โดยอ้างว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2564 เป็นพยานหลักฐานใหม่ อันมีผลทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ และยังเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ทำให้เห็นว่าศาลปกครองสูงสุดรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด อันเป็นเหตุที่ศาลปกครองต้องพิจารณาคดีนี้ใหม่นั้น ศาลฯ เห็นว่า เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
มีขึ้นภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานใหม่แต่อย่างใด การที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเป็นการใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคดีของศาล และเป็นการตีความกฎหมายของศาล มิใช่เป็นการนำข้อเท็จจริงที่ได้จากคำอุทธรณ์ของผู้คัดค้านมาปรับกับข้อกฎหมายแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าศาลปกครองฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริง ที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

ส่วนกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดหยิบยกเอามติที่ประชุมใหญ่ซึ่งไม่มีสถานะเป็นกฎหมายมาวินิจฉัยอ้างอิงพิจารณาทำคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า มิได้มีข้อบกพร่องในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ข้ออ้างของผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคดีของศาล และการตีความกฎหมายของศาล ไม่ถือเป็นข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดี ไม่มีความยุติธรรมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ยังปรากฏอีกว่า ทั้งคณะอนุญาโตตุลาการและ ศาลปกครองชั้นต้นต่างก็มิได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องวันรู้เหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ โดยนำแนวทางตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ที่พิพาทมาใช้จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งอีกประการหนึ่งว่า คณะอนุญาโตตุลาการและศาลไม่ผูกพันและไม่จำต้องนำมติที่ประชุมใหญ่ที่พิพาทดังกล่าวมาใช้โดยเคร่งครัดในฐานะระเบียบหรือข้อกฎหมายดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเพียงการใช้ดุลพินิจในการตีความกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คำขอพิจารณาคดีใหม่ของผู้ร้องทั้งสองจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้ตามมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง (1) (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา

ผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด สรุปความได้ว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้องสำหรับการนับระยะเวลาหรืออายุความการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสำหรับประเด็นการยื่นข้อเรียกร้องของผู้คัดค้านต่ออนุญาโตตุลาการในคดีนี้ ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือ ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี คือ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่หนังสือบอกเลิกสัญญาของผู้ร้องทั้งสองไปถึงผู้คัดค้าน มิใช่นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 อันเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ ซึ่งผู้ร้องทั้งสองเห็นว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่กล่าวอ้างเข้าหลักเกณฑ์และองค์ประกอบการพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

ณ ห้องพิจารณาคดี 2 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอาแล้ว! 'ลูกผู้ป่วยมะเร็ง' ขู่ฟ้องศาลปกครอง หากดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติด

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหว หลังคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีมติให้กัญชาเป็นยาเสพติด ล่าสุด นายสุวิทย์ เปรื่องธรรมกุ

ผู้สมัคร สว. ร้องศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราว ระงับ กกต.รับรองผล รู้มีฮั้วแต่ไม่แก้ไข

นายจักรพงษ์ คงปัญญา ผู้สมัคร สว.กลุ่ม 12 อุตสาหกรรม ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองไต่สวนคุ้มครองชั่วคราว เพื่อไม่ให้ กกต.พิจารณารับรอง สว. เนื่องจากในการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอศาลมีคำสั่งยกเลิก

'เนติบริกร' หย่าศึก! แนะ 'บิ๊กโจ๊ก' ไม่ควรฟ้องนายกฯ ให้รอ ก.พ.ค.ตร. ถ้าไม่พอใจค่อยไปศาลปกครอง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. จ

กิ้งกือยังตกท่อ! 'แกนนำคณะก้าวหน้า' ชี้ช่องฟ้องศาลปกครอง ห้ามแจกเงินดิจิทัล

นายชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำคณะก้าวหน้า และนักวิชาการด้านกฎหมายและการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การที่จะนำคดีเกี่ยวกับเงินดิจิตัล 10,000 บาท ไปศาลปกครอง

'พิชัย' นั่ง 'ปธ.กมธ.งบ68' จ่อขยับไทม์ไลน์ ส.ค. ถกวาระ 2-3

ถก กมธ.งบ68 นัดแรก เลือก 'พิชัย' นั่งประธาน แย้มขยับไทม์ไลน์เข้าสภาวาระ2-3 ภายในเดือน ส.ค. บอกไม่รู้ฝ่ายค้านจ่อยื่นศาลปกครองยับยั้งดิจิทัลวอลเล็ต